เจ็บแน่นหน้าอก สูบบุหรี่บ่อย อาจเสี่ยง "โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ"
รายงานสถิติขององค์การอนามัยโลก พบว่า โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนทั่วโลก ทุกปีมีประชากรประมาณ 17 ล้านคนเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดและคาดว่าตัวเลขจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 23 ล้านคนในปี 2573
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเกิดขึ้นจากอะไร
เกิดจากการที่หลอดเลือดตีบแคบลงหรือมีการอุดตันจากไขมันที่เกาะอยู่ที่ผนังของหลอดเลือดชั้นใน บางคนอาจมีหินปูนหรือมีแคลเซียมมาเกาะด้วย ทำให้เลือดไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ไม่เพียงพอ จนเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
สัญญาณอันตราย เตือนว่าอาจเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบแล้วนะ
ผู้ป่วยอาจไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ-ตันเพราะมักไม่มีอาการในระยะแรก แต่เมื่อหลอดเลือดเริ่มตีบ อาจมีอาการดังนี้ได้
- เจ็บแน่นหน้าอก
- เหนื่อยง่ายผิดปกติ
- หน้ามืด เวียนศีรษะ เป็นลม
- หัวใจเต้นผิดปกติ เช่น ใจสั่น ใจเต้น
จะรู้ได้อย่างไรว่ามีความเสี่ยงแค่ไหน
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมีหลายอย่างด้วยกัน เช่น
- โรคนี้มักเกิดกับคนที่มีอายุ 40-50 ปีขึ้นไป
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจตั้งแต่อายุน้อยหรือเสียชีวิตปัจจุบันทันด่วน
- มีน้ำหนักเกิน
- สูบบุหรี่
- เป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง
- ความเครียดเรื้อรัง
การวินิจฉัยโรคของแพทย์
สิ่งสำคัญที่สุดคือการซักประวัติ เพราะอาการบางอย่างของโรคนี้มีความคล้ายกับโรคอื่น จึงต้องซักประวัติอย่างละเอียดเพื่อวินิจฉัยแยกโรค หลังจากนั้นแพทย์จะตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เช่น ตรวจคลื่นหัวใจ ตรวจเลือดดูปัจจัยเสี่ยงต่างๆ และอาจตรวจแนวรุก เช่น วิ่งสายพานหรือวิ่งสายพานบวกกับการทำอัลตร้าซาวด์หัวใจ ถ้าผลออกมาผิดปกติ แพทย์อาจตรวจเพิ่มเติม เช่น ทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจและตรวจอัลตร้าซาวด์
เมื่อเป็นโรคหลอดเลือดตีบแน่แล้ว จะรักษาด้วยวิธีใดได้บ้าง
แพทย์จะเลือกวิธีการรักษาโดยพิจารณาตามลักษณะการตีบ กายภาพของการตีบของเส้นเลือดหัวใจว่าตีบทั้งหมดกี่เส้นและปัจจัยที่สำคัญอื่นๆ โดยทั่วไปการรักษาทำได้ 3 วิธีด้วยกันคือ
- การรักษาด้วยยา สำหรับคนที่หลอดเลือดตีบไม่เกิน 70% และมีอาการไม่มาก
- การรักษาผ่านทางสายสวนหลอดเลือด เป็นการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนร่วมกับการใส่ขดลวดตาข่าย
- การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ เป็นการผ่าตัดต่อเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจ เพื่อทำทางเบี่ยงเสริมหลอดเลือดบริเวณที่ตีบหรือตันทำให้เลือดผ่านส่วนที่ตีบหรือตันได้ดีขึ้น ส่งผลทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้มากขึ้น
แนวทางป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบป้องกันได้ด้วยการควบคุมปัจจัยเสี่ยง ยิ่งเริ่มเร็วเท่าไรยิ่งดีและควรทำให้เป็นนิสัยไปจนตลอดชีวิต
- ไม่สูบบุหรี่หรือเลิกสูบบุหรี่ บุหรี่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหัวใจวาย
- รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพหัวใจ เช่น ลดอาหารที่มีไขมันชนิดที่ไม่ดี เช่น เนยเทียม ไขมันสัตว์ น้ำมันปาล์ม เลือกอาหารที่มีไขมันชนิดดีสูง เช่น น้ำมันมะกอก ปลา รวมถึงอาหารที่มีกากใยสูง มีเกลือและน้ำตาลต่ำ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ออกกำลังกายระดับปานกลางอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์หรือออกกำลังกายอย่างหนัก 75 นาทีต่อสัปดาห์ นอกจากนี้การออกกำลังกายที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นอย่างต่อเนื่อง 10 – 15 นาที รวมวันละอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง ก็ทำให้หัวใจแข็งแรงได้เช่นเดียวกัน
- ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยวัดได้จากค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ที่มีมากกว่า 23 กิโลกรัมต่อตารางเมตรในคนไทย โดยค่า BMI คำนวณได้จากน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) หารด้วยความสูง (เมตรยกกำลังสอง) และภาวะอ้วนลงพุงในเพศชายมีเส้นรอบเอวตั้งแต่ 90 เซนติเมตร ขึ้นไปและเพศหญิงมีเส้นรอบเอวตั้งแต่ 80 เซนติเมตรขึ้นไป
- จัดการกับความเครียด เลือกกิจกรรมที่ชื่นชอบ ทำแล้วรู้สึกเพลิดเพลิน ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย นั่งสมาธิ ฝึกโยคะ หรือทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายร่วมกับครอบครัวหรือเพื่อน
ที่มาข้อมูล:
https://www.bumrungrad.com/th/