ชวนเที่ยววัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
วันหยุดยาวหลายคนพากันออกเดินทางท่องเที่ยวต่างจังหวัด แต่ก็ยังมีอีกหลายคนอยู่บ้านไม่ได้เดินทางไปไหน วันนี้คมชัดลึกออนไลน์จะชวนคุณผู้อ่านเข้าวัด ทำบุญวันออกพรรษาที่วัดอรุณราชวรารามวรมหาวิหาร
วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เตรียมพร้อมเปิดประเทศ ต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและชาวไทย อยากรู้ว่าวัดอรุณ ฯ มีอะไรน่าสนใจต้องอ่านบทความนี้
วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เดิมทีชื่อวัดมะกอกนอก ซึ่งสัญนิษฐานว่า สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา วัดมะกอกมีอยู่สองวัด อีกวัดหนึ่งเรียกว่าวัดมะกอกใน หรือ วัดนวลนรดิศ ภายหลังสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเปลี่ยนชื่อเป็นวัดแจ้ง
ตามที่ตั้งจิตอธิษฐาณ เมื่อครั้งย้ายเมืองหลวงจากกรุงศรีอยุธยาด้วยเห็นว่าฟื้นฟูคงลำบากเลยตัดสินใจย้ายเมืองโดยลงเรือจากอยุธยาตอนพระอาทิตย์ตกแล้วสว่างที่ใดก็จะสร้างเมืองหลวงตรงนั้น
วัดนี้มีความสำคัญคือ เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 2 และเป็นสัญญลักษณ์ของการท่องเที่ยวที่ชาวต่างชาติรู้จักเป็นอย่างดี ถึงขนานนามให้ว่า “The Temple of Dawn” ได้ชื่อว่าเป็นวัดที่มีพระปรางค์สวยที่สุดในประเทศไทย
ความสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือเคยประดิษฐานองค์พระแก้วมรกตอยู่ถึง 5 ปี ประดิษฐานอยู่ในวิหารน้อย ที่วัดอรุณฯแห่งนี้ และยังเป็นวัดเดียวที่ทอดกฐินทางน้ำโดยพระเจ้าแผ่นดินเป็นประจำทุกปี
ที่จะขาดเลยไม่ได้คือยักษ์คู่แรกของกรุงรัตนโกสินทร์ ที่เรียกกันว่ายักษ์วัดแจ้ง สร้างก่อนวัดพระแก้วและมีการซ่อมแซมในรัชกาลที่ 6 สวยงามมาก ตั้งอยู่ทางเข้าพระอุโบสถ หากเดินมาริมน้ำท่านจะได้พบกับอนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 หันหน้าไปทางทิศตะวันออกที่ด้านล่างจะมีช้างเผือกอยู่สามช้าง ช้างป่าเราเรียกเป็นตัว ช้างที่นำมาฝึกเรียกเป็นเชือก ช้างเผือกเรียกเป็นช้าง เพราะเหตุใดถึงมีช้างเผือกเพราะว่าในสมัยพระองค์ท่าน ได้พบช้างเผือกคู่บารมีถึง 8 ช้างด้วยกัน จึงได้ขนานนามว่าเป็น “พระเจ้าช้างเผือก”
บริเวณวัดยังมีอีกหลายจุดให้เข้าไปเยี่ยมชมนอกเหนือจากพระปรางค์แล้วยังมีโบสถ์น้อยภายในโบสถ์น้อยนั้นจะมีพระรูปขององค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โบสถ์น้อยแห่งนี้เคยเป็นที่ประทับและนั่งวิปัสสนาของพระเจ้าตากฯ ในครั้งที่พระองค์ทรงผนวช และยังมีพระแท่นบรรทมของจริงที่มีอายุกว่าสองร้อยปี เก็บรักษาไว้ภายในโบสถ์น้อย ใกล้ๆกับโบสถ์น้อยจะเป็นวิหารน้อย มีเจดีย์จุฬามณีประดิษฐานอยู่ภายใน เจดีย์จุฬามณีนี้เชื่อกันว่าบรรจุสิ่งสำคัญสามสิ่งคือ พระจุฬา พระโมลีและพระเขี้ยวแก้วของพระพุทธเจ้า และยังเคยเป็นที่ประดิษฐานองค์พระแก้วมรกตอีกด้วย ออกจากวิหารน้อยแล้วเราเดินไปต่อที่อุโบสถ
ก่อนทางเข้าท่านจะได้พบกับยักษ์ที่เป็นทวารบาลป้องกันสิ่งชั่วร้ายไม่ให้กร่ำกรายเข้าไปในโบสถ์ ที่เรียกกันติดปากว่า “ยักษ์วัดแจ้ง” พอเข้าไปในบริเวณพระอุโบสถก็จะพบกับช้างเผือกแปดช้างซึ่งตรงกับช้างเผือกที่พบในสมัย
รัชกาลที่ 2 นั่นเองตั้งอยู่สี่ทิศๆละสองช้าง ตรงบริเวณวิหารคต และยังมีเจดีย์หินรูปแบบจีนเรียกว่าเจดีย์ “ถะ” มีลักษณะเหมือนลูกน้ำเต้าซ้อนกันสิบสองลูก ถัดมาก็จะเป็นซุ้มเสมาที่ขึ้นชื่อว่าสวยที่สุดในประเทศไทยสร้างด้วยหินอ่อนและมีการประดับด้วยลวดลายที่อ่อนช้อยงดงามจริงๆครับ ข้อสังเกตอย่างหนึ่งของวัดราษฎร์กับวัดหลวงชั้นเอกคือ ใบเสมาของวัดหลวงชั้นเอกจะมีสองใบต่อหนึ่งซุ้ม วัดหลวงคือวัดที่พระเจ้าแผ่นดินทรงสร้างและทรงบูรณะ ส่วนวัดราษฎร์ที่บุคคลธรรมดาทั่วไปสร้างจะมีใบเสมาใบเดียวต่อหนึ่งซุ้ม
และบริเวณทางเข้าพระอุโบสถด้านที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ท่านจะได้พบกับพระพทุธรูปปางห้ามสมุทรจำลองมาจากวัดพระแก้ว ชื่อว่า “พระพุทธนฤมิตร” มีความสวยงามมากเป็นอีกหนึ่งจุดที่ต้องชมครับ ภายในพระอุโบสถมีพระประธานชื่อว่า “พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก” สวยงามไม่แพ้ “พระพุทธนฤมิตร” เลยครับ และเชื่อกันว่ารัชกาลที่สองทรงปั้นพระพักตร์ด้วยพระองค์เอง ตรงด้านหน้าพระพุทธรูปเจาะช่องบรรจุโกฏที่ใส่พระอัฐฐิของรัชกาลที่ 2 ซึ่งบรรจุโดยรัชกาลที่ 4 ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เห็นอยู่รายรอบภายในพระอุโบสถนั้นเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3
ฉะนั้นแล้ววัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหารจึงเป็นวัดที่ทุกคนควรมากราบไหว้พระขอพรเพื่อความเป็นศิริมงคลแก่ชีวิตครับ ทั้งสวยงามและทรงคุณค่า เดินชมวัดกันจนเหนื่อยขอบอกว่าบริเวณทางเข้าวัดนั้นมีร้านข้าวมันไก่ชื่อดังอยู่ร้านหนึ่งชื่อว่า “มุ่ยหลี” ซึ่งเปิดขายมานานกว่า 80 ปี อร่อยครับแนะนำเลยว่าต้องลอง
หลังเที่ยววัดอรุณฯจนเป็นที่พอใจแล้ว บริเวณใกล้ ๆ กันนั้นถ้าเดินออกมาด้านถนนอรุณอมรินทร์หรือขับรถมาก็ได้ไปเที่ยวชุมชนกุฎีจีนอยู่ไม่ไกลจากวัดอรุณเป็นชุมชนหลายชาติพันธุ์อพยพมาตั้งถิ่นฐาน เป็นชุมชนเก่าแก่ตั้งแต่สมัยพระเจ้าตากฯปกครองกรุงธนบุรีและเป็นชุมชนสามศาสนาคือ พุทธ คริสต์ อิสลาม เดินเที่ยวชุมชนชิมขนมฝรั่งสูตรดั่งเดิมแต่โบราณโดยลูกหลานชาวโปรตุเกสที่ยังหลงเหลืออยู่ ในชุมชนนั้นยังมีสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ บ้านวินด์เซอร์ ของตระกูลวินเซอร์ที่เข้ามาทำงานในสมัยกรุงธนบุรี ด้วยลวดลายฉลุอันงดงามทำให้บ้านอายุเกินร้อยปีหลังนี้ดูมีเสน่ห์ แต่น่าเสียดายที่ตอนนี้ทรุดโทรมจนหวั่นใจว่าวันนึงอาจจะไม่มีให้เห็นแล้วก็ได้ ในละแวกใกล้กันนั้นยังมีบ้านเก่าอยู่อีกหลายหลังให้เดินชมมีคาเฟ่เล็กๆสำหรับพักเหนื่อย ผมเชื่อว่าบางครั้งการได้เดินเที่ยวชมวัดสัมผัสชุมชนแบบนี้มันจะทำให้เรารู้ว่าจริงๆแล้วบ้านเรายังมีที่ที่เรายังไม่เคยไปอีกมากมาย อย่ารอช้าเลยครับมาเที่ยวบ้านเรากันแล้วจะรู้ว่ามันดีจริงๆ