อธิบายการประชุม "COP26" การประชุมด้านภาวะโลกร้อน ฉบับ เข้าใจง่าย
ไทย ในฐานะหนึ่งในสมาชิกองค์การสหประชาติ และผู้เข้าร่วมข้อตกลงปารีสเมื่อปี 2015 เดินทางไปร่วมกล่าวถ้อยแถลงผลการดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจกที่งาน "COP26" ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร
การประชุม "COP26" หรือ "การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26" เป็นการประชุมของเหล่าผู้นำจาก 196 ประเทศทั่วโลกที่มีข้อตกลงว่าจะร่วมกันทำงานเพื่อไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเกินกว่า 1.5 - 2 องศาเซลเซียสเพื่อระงับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินเรามากขึ้นทุกปี
ในประเทศไทยปีนี้ที่เห็นได้ชัดคือน้ำที่ท่วมหนักมากขึ้น หรือปีที่แล้วที่กรุงเทพฯ ในช่วงหน้าหนาวอากาศกลับเย็นได้ไม่นาน ภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงของอากาศเช่นนี้เป็นผลกระทบของวิกฤตการณ์ "ภาวะโลกร้อน" ที่เกิดขึ้นมาจากมนุษย์อย่างเรา จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าคงต้องเป็นมนุษย์เราที่ร่วมมือเพื่อแก้ปัญหานี้เพื่อให้คนรุ่นต่อ ๆ ไปมีที่อยู่อาศัยในอนาคต
ประวัติ COP26
เกือบ 30 ปีแล้วที่องค์กรณ์สหประชาชาติได้จัดการประชุมประจำปีว่าด้วยการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดย COP1 จัดขึ้นในปี 1995 ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมันนีเป็นหมุดหมายสำคัญว่าเราไม่สามารถนิ่งเฉยต่อภาวะโลกร้อนได้อีกต่อไป จนกระทั่ง COP21 ที่จัดการประชุมขึ้นที่ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศษ เหล่าผู้นำได้มีฉันทามติร่วมกันว่าจะกลับไปปรับนโยบายภายในประเทศของตนเอง เพื่อไม่ให้อุณหภูมิโลกต้องสูงขึ้นเกิน 1.5 - 2 องศาเซลเซียส ข้อตกลงนี้ชื่อว่า "ข้อตกลงปารีส" (Paris Agreement) ซึ่งเป็นการบรรลุข้อตกลงทางด้านโลกร้อนครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยแต่ละประเทศจะต้องมารายงานผลการดำเนินงานทุก 5 ปี
บทบาทของไทยในเวที COP26
เพจไทยคู่ฟ้า เผยแพร่ข่าว "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมระดับผู้นำในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP 26) ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร สรุปได้ดังนี้
"นายกฯ" ยืนยันไทยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ พร้อมร่วมมือกับทุกประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมายสำคัญของโลก เพื่ออนาคตของลูกหลาน
.
โดยผลการดำเนินงานของไทยในปี 2019 ไทยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 17% หลังตั้งเป้าลดให้ได้อย่างน้อย 7% ภายในปี 2020 ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ถึง 2 เท่า หลังให้สัตยาบันเป็นภาคีของความตกลงปารีสเมื่อปี 2015
.
ไทยพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2065
.
เราทุกคนไม่มี "แผนสอง" ในเรื่องการรักษาเยียวยาสภาพภูมิอากาศ เพราะเราจะไม่มี “โลกที่สอง” ซึ่งเป็นบ้านของพวกเราเหมือนโลกนี้อีกแล้ว จึงขอให้ทุกประเทศร่วมกันดูแลรักษาโลกของเรา
.
นำเสนอเป้าหมายและการดำเนินงานที่แข็งขันต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำเสนอการจัดทำ "ยุทธศาสตร์ระยะยาวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย (LT-LEDS)"
ที่มาข้อมูลและรูปภาพ:
https://www.komchadluek.net/news/490784
https://www.facebook.com/ThaigovSpokesman
https://ukcop26.org/uk-presidency/what-is-a-cop/