ไลฟ์สไตล์

“ร่างทรง” มีที่มาอย่างไร “ผี พราหมณ์ พุทธ” ปะปนจนแยกไม่ออก

“ร่างทรง” มีที่มาอย่างไร “ผี พราหมณ์ พุทธ” ปะปนจนแยกไม่ออก

11 พ.ย. 2564

“ร่างทรง” มีรากเหง้ามาจากการนับถือผีมนุษย์จึงต้องบูชาผ่านพิธีกรรมที่สืบทอดกันมาจากเหล่าผู้นำทางจิตวิญญาณของชุมชน แต่เพียงแค่การบูชาและอ้อนวอนไม่เพียงพอที่จะทำให้มนุษย์คลายความวิตกกังวลได้ จึงเกิดการติดต่อสื่อสารระหว่างมนุษย์กับผีผ่าน “ร่างทรง”

เพิ่งเข้าฉายในเมืองไทยเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา “ร่างทรง” ก็กลายเป็นภาพยนตร์ไทยสุดฮอตที่เปิดตัวด้วยรายได้สูงสุดอันดับ 1 ของปี ทั้งยังก้าวขึ้นอันดับ 1 บ็อกซ์ออฟฟิศเกาหลีตั้งแต่วันแรกที่เข้าฉาย และกวาดรายได้ในประเทศสิงคโปร์ ไต้หวัน ทั้งยังได้รับเลือกไปฉายในเทศกาลดังๆ ในหลายประเทศ และล่าสุดได้รับเลือกจากสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติให้เป็นตัวแทนภาพยนตร์ไทยเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ครั้งที่ 94 สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม เรียกว่าประสบความสำเร็จเหนือความคาดหมาย ทั้งๆ ที่ผู้กำกับ “โต้ง” บรรจง ปิสัญธนะกูล ย้ำชัดว่าไม่เชื่อเรื่อง “ร่างทรง” แต่เลือกทำหนังด้วยความต้องการเข้าใจในมิติของผู้ที่เชื่อในเรื่อง "ร่างทรง"

“ร่างทรง” มีที่มาอย่างไร “ผี พราหมณ์ พุทธ” ปะปนจนแยกไม่ออก

“ร่างทรง” คืออะไร มีที่มาอย่างไร

“ร่างทรง” ในความหมายของคนทั่วไปคือ บุคคลที่สามารถจะรับจิต วิญญาณของผู้อื่นที่จากไปแล้ว หรือ จากจิตวิญญาณของผู้อื่นที่เป็นเทพ เทวดา มาสิงสถิตอยู่ในร่างกายของตัวเองได้ “ร่างทรง” มีรากเหง้ามาจากการนับถือผี ในอดีตเกิดเหตุการณ์เหนือธรรมชาติมากมายที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ และเพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เหล่านี้ขึ้น มนุษย์จึงต้องบูชาผ่านพิธีกรรมที่สืบทอดกันมาจากเหล่าผู้นำทางจิตวิญญาณของชุมชน แต่เพียงแค่การบูชาและอ้อนวอนไม่เพียงพอที่จะทำให้มนุษย์คลายความวิตกกังวลได้ จึงเกิดการติดต่อสื่อสารระหว่างมนุษย์กับผีผ่าน “ร่างทรง” เพื่อให้วิญญาณชี้แนะ แก้ไขปัญหา รักษาอาการเจ็บป่วยที่มนุษย์กำลังเผชิญให้ผ่านพ้นไปได้

“ร่างทรง” มีที่มาอย่างไร “ผี พราหมณ์ พุทธ” ปะปนจนแยกไม่ออก

จากผีสู่พราหมณ์

ตั้งแต่อดีตคนไทยมีความเชื่อว่าสถานที่ต่างๆ จะมีผีเจ้าที่เจ้าทางปกปักรักษาอยู่ บวกกับความเชื่อทางศาสนาพุทธ และพราหมณ์ฮินดู ทำให้เกิดการพัฒนาพิธีการอัญเชิญผีเจ้าที่เจ้าทาง และสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาประทับในศาลพระภูมิ หรือศาลเจ้าที่ เพื่อปกป้องคุ้มครองดูแล รักษาสถานที่บ้านเรือนที่อยู่อาศัย ให้มีความเป็นสิริมงคล เจริญก้าวหน้าในทุกสถานจึงนิยมตั้งศาลพระภูมิเจ้าที่ โดยนำแนวคิดมาจากศาสนาพราหมณ์ฮินดู หากในความเชื่อของทางพระพุทธศาสนาก็จะเชื่อว่า พระภูมิเป็นเทวดาที่เรียกว่า “ภุมมะเทวดา” ที่อาศัยอยู่ตามเนินดิน หรือซุ้มประตู หรือ “รุกขเทวดา”ที่อาศัยอยู่ตามต้นไม้ ดังนั้นการตั้งศาลพระภูมิตามคติบ้านเรือนของคนไทยจึงมี “เสาเดียว” ส่วนศาลเจ้าที่นั้นเปรียบเสมือนบ้านเรือนชาวบ้านธรรมดาจึงมี 4 เสา

ผี พราหมณ์ พุทธ ปะปนจนแยกไม่ออก

จากหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีชี้ชัดว่าดินแดนแถบไทยและเพื่อนบ้านอุษาคเนย์นับถือผีนานมาก ก่อนที่อินเดียจะนับถือผี ครั้นหลังอินเดียรับพราหมณ์กับพุทธเข้ามาปรับเป็นท้องถิ่นปนกับผี

เมื่อเวลาผ่านไปก็แยกไม่ออกบอกไม่ได้ว่าตรงไหนผี ตรงไหนพราหมณ์ ตรงไหนพุทธ เพราะนับถือปะปนกันไปหมดตั้งแต่แรกมาจนถึงทุกวันนี้