ชื่อนี้มีที่มา : “ศาลายา” มีความหมายว่าอย่างไร
การจะเข้าใจที่มาของชื่อ “ศาลายา” เขตพื้นที่ที่มหาวิทยาลัยชื่อดังตั้งอยู่ได้นั้น เราจะต้องเข้าใจที่มาของชื่อ ศาลาธรรมสพน์ ด้วยเช่นกัน
วันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาทีมงานคมชัดลึกไลฟ์สไตล์ได้มีโอกาสไปไหว้พระทำบุญ จิบกาแฟท่ามกลางลมเย็น ๆ ที่จังหวัดนครปฐม ในขณะเดินทางก็ได้ขับรถผ่านตำบล "ศาลายา" จึงมีคำถามผุดขึ้นมาในหัวว่า ทำไมที่แห่งนี้ถึงถูกตั้งชื่อว่า...ศาลายา...
ส่วนตัวผู้เขียนเองเป็นคนบางนา กรุงเทพฯ ซึ่งจากที่ได้พูดคุยกับคนพื้นที่จึงได้รู้ว่าสมัยก่อนที่แห่งนี้เต็มไปด้วยผืนนา ผู้เขียนเลยอดสงสัยไม่ได้ว่าแล้วถ้าชื่อศาลายาจะมีที่มาจากไหนกัน
ความสงสัยนี้ก่อให้เกิดประกายไฟ ประกายไฟผลักให้ผู้เขียนไปค้นข้อมูลความหมายคำว่า ศาลายา บทความนี้เลยนำข้อมูลที่หาได้มาแบ่งให้ทุกคนได้รับทราบไปพร้อมกัน
แต่การจะเข้าใจที่มาของชื่อ ศาลายา เราจะต้องเข้าใจที่มา ของชื่อ ศาลาธรรมสพน์ ด้วย
ในพระนิพนธ์เรื่อง "ตำนานสถานที่และวัดถุต่าง ๆ ซึ่งพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้า เจ้าอยู่หัวทรงสร้าง" โดยสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อธิบายที่มาของคำว่า ศาลายา และ ศาลาธรรมสพน์ ว่ามีจุดเริ่มจากในสมัยรัชการที่ 4 ทรงโปรดเกล้าให้ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ มหาโกษาธิบดี (ขำ บุญนาค) ขุดคลองมหาสวัสดิ์ ขึ้นในปี พ.ศ. 2398 เพื่อใช้เป็นเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินจากพระบรมหาราชวังไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ โดยคลองนี้เริ่มต้นที่คลองบางกอกน้อยตรงวัดชัยพฤกษ์มาลา เขตตลิ่งชัน กรุงเทพ ฯ ออกไปที่แม่น้ำท่าจีน ตรงบริเวณศาลเจาสุบิน ต.งิ้วราย อ.นครชัยศรี นครปฐม ซึ่งตามเส้นทางคลองน้ันยังได้มีการไล่สร้าง ศาลา 7 แห่งตามคลองที่ขุดมาถึง แต่ศาลาที่ยังอยู่มาถึงปัจจุบันมีเพียง 2 ศาลาเท่านั้น ได้แก่ ศาลายา และ ศาลาธรรมสพน์
"ศาลายา" ได้ชื่อมาจากที่สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้นำสูตรยาต่าง ๆ มาแปะไปเป็นวิทยาทานที่ศาลา จึงทำให้ผู้คนติดปากเรียนที่แห่งนั้นว่า ศาลายาเรื่อยมาจนกลายมาเป็นชื่อพื้นที่นั่นเอง
ส่วน "ศาลาธรรมสพน์" เป็นศาลาคู่สำหรับตั้งทำศพเพื่อพิธีฌาปนกิจ เนื่องด้วยมีคนงานเสียชีวิตจำนวนมากในการขุดคลอง สมัยก่อนศาลาแห่งนี้จะสะกดว่า ศาลาทำศพ อย่างตรงความหมาย แต่ต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คนไทยเห็นว่าเป็นชื่อที่ไม่เป็นมงคล จึงเปลี่ยนวิธีการเขียนใหม่เป็น ธรรมสพน์ นั้นเอง