องค์กรตรวจสอบนโยบายสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ ชี้ ไทยขาด "ความทะเยอทะยาน"
นักวิจัยของ Climate Action Tracker (CAT) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ตรวจสอบการลงมือแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศโลกเปิดเผยการทำงานของรัฐบาลใน 40 ประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนใหญ่ทั่วโลก
จากการสำรวจพบว่า ประเทศไทยจัดอยู่อยู่ในกลุ่ม “แย่มาก” และการวางนโยบายด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีนโยบายไม่เพียงพอ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าไทยมีการตั้งเป้าหมายที่ไม่สอดรับกับข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อมปารีส อย่างไรก็ดีนักวิจัย CAT มองว่าแม้ผลการดำเนินงานด้านสภาพอากาศโดยรวมของประเทศไทยจะยังอ่อนแอแต่แฝงไปด้วยเจตนาที่ดี
พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ผู้นำการเดินทางไปประชุม COP26 ได้ให้คำแถลงต่อที่ประชุมว่าจะเปลี่ยนจากการพึ่งพาพลังงานถ่านหินเป็นหลักเป็นพลังงานจากก๊าซธรรมชาติในอีก 20 ปีข้างหน้า
แต่นักวิจัยจาก CAT วิจารณ์ว่า "ประเทศไทยไม่ได้เพิ่มความทะเยอทะยานในการตั้งเป้าหมายระดับชาติเพื่อร่วมแก้ปัญหาโลกร้อนจากเป้าหมายเดิม และเป้าหมายใหม่ไม่ได้สะท้อนถึงการมีส่วนร่วมที่ยุติธรรมเมื่อเทียบกับประเทศอื่น"
พวกเขาคาดว่าประเทศไทยจะไม่บรรลุเป้าหมายภายใต้ข้อตกลงปารีส แต่จะทำได้ตามนโยบายที่วางแผนไว้เท่านั้น ทำให้ CAT กำชับว่า "ประเทศไทยต้องดำเนินการเพิ่มเติมนโยบายบรรเทาผลกระทบเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านสภาพอากาศ"
นอกจากนี้การที่ไทยมีความพยายามที่จะเปลี่ยนจากการพึ่งพาถ่านหินเป็นก๊าซธรรมชาตินั้น จะช่วยลดการปล่อยมลพิษแต่ ยังคงผูกมัดกับเชื้อเพลิงฟอสซิล (ก๊าซ) จึงบั่นทอนความพยายามในการกำจัดคาร์บอนอย่างมีนัยสำคัญ
CAT ชี้ว่า ภายใต้เป้าหมายและนโยบายปัจจุบันของประเทศไทย การปล่อยมลพิษจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและไทยจะมีส่วนทำให้ภาวะโลกร้อนมีอุณหภูมิมากกว่า 4 องศาเซลเซียส
CAT จึงให้คะแนนเป้าหมายของประเทศไทยในปี 2030 (พ.ศ. 2573) ว่า "ไม่เพียงพออย่างยิ่งยวด"
โดยคำว่า "ไม่เพียงพออย่างยิ่งยวด" บ่งชี้ว่าเป้าหมายการแบ่งปันที่ยุติธรรมในระดับสากลของประเทศไทยในปี 2030 สะท้อนถึงการบรรเทาผลกระทบเพียงเล็กน้อย และไม่สอดคล้องกับขีดจำกัดอุณหภูมิ 1.5 องศาเซลเซียสของข้อตกลงปารีส
อย่างไรก็ดี ก่อนเดินทางไปประชุม COP26 ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม – 13 พฤศจิกายน 2564 ที่กลาสโกว์ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้แถลงท่าทีของไทยว่า นายกรัฐมนตรีจะประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทยในปี 2065
นายวราวุธ กล่าวว่า ไทยประสบความสำเร็จในลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในเฟสแรกได้ถึง 17.49% จากกรณีปกติ หรือคิดเป็น 64.20 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งบรรลุตามเจตจำนงในการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศที่ได้แสดงไว้ต่อกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติที่จะลดลงให้ได้ 7% จากกรณีปกติซึ่งกำหนดให้ดำเนินการภายในปี 2563
ที่มา :
newsner.com