"มะเร็งกระเพาะอาหาร" โรคร้ายคร่าชีวิต "แม่ชีศันสนีย์"
การตรวจคัดกรองมะเร็งกระเพาะอาหารระยะเริ่มแรกมีความสําคัญมาก หากพบว่ามีปัจจัยเสี่ยงควรมารับการ ตรวจคัดกรอง เพราะหากตรวจพบในระยะเริ่มแรก การรักษาก็จะได้ผลดีมีผลแทรกซ้อนต่ำและหวังผลหายขาดได้
ข่าวการจากไปของ “แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต” ผู้ก่อตั้ง "เสถียรธรรมสถาน" เสียชีวิตด้วย “โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร” ในวัย 68 ปี เมื่อคืนที่ผ่านมา (6 ธ.ค.2564) ถือเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ โดยก่อนหน้านี้ แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ป่วยเป็นโรคมะเร็งที่กระเพาะอาหาร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 ได้เข้ารับการรักษาและมีอาการดีขึ้นในช่วงปีแรก
ต่อมาเมื่อกลางปี พ.ศ. 2563 แพทย์ตรวจพบก้อนเนื้ออีกครั้ง ท่านจึงได้เข้ารับการรักษาเพิ่มเติมด้วยยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) ที่โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ แต่เนื่องจากท่านยังทำงานอย่างหนักเพื่อสร้างหุบเขาโพธิสัตว์ ทำให้ธาตุขันธ์อ่อนล้ามาก ในที่สุดแพทย์ตรวจพบว่ามะเร็งได้ลุกลามจนเข้าสู่ระยะสุดท้าย เสถียรธรรมสถานจึงเลือกเข้าสู่กระบวนการดูแลรักษาแบบประคับประคอง (Palliative Care) ตามเจตนารมณ์ที่ท่านเคยให้ไว้ กระทั่งกลับคืนสู่ธรรมชาติในคืนวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2564 ตามที่เป็นข่าวไปแล้ว วันนี้ คมชัดลึกออนไลน์ จึงขออาสาไปรู้จักโรคร้าย ที่คร่าชีวิต “แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต” กันค่ะ
อ.ดร.นพ.จิรวัฒน์ สว่างศรี ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า “มะเร็งกระเพาะอาหาร” ในประเทศไทยมีอุบัติการณ์ประมาณ 1,000 รายต่อปี หรือพบเป็นอันดับ 8 ของมะเร็งทั้งหมด โดยมีปัจจัยเสี่ยงได้แก่ การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา การติดเชื้อ เฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอริ โดยผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายโรคกระเพาะอาหาร เรื้อรังคลื่นไส้อาเจียนน้ำหนักลดถ้าอาการเป็นมากขึ้นอาจมีอาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายดํา จนกระทั่งมีอาการซีด อ่อนเพลีย หน้ามืดวิงเวียนได้
การวินิจฉัย
ทําโดยการกลืนแป้งเพื่อเอกซเรย์ดูผิวกระเพาะหรือการส่องกล้อง ทางเดินอาหารส่วนต้น ซึ่งทั้งสองวิธีจะตรวจพบผิวกระเพาะขรุขระเป็นแผลหรือมี การหนาตัวขึ้นผิดปกติ บางครั้งรอยโรคอาจแยกกับแผลโรคกระเพาะทั่วไปได้ยาก การส่องกล้องและส่งตัวอย่างชิ้นเนื้อเยื่อผิวกระเพาะเพื่อตรวจทางพยาธิวิทยาจึงจําเป็นเพื่อให้ได้การ วินิจฉัยที่ถูกต้องและรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
สําหรับประชาชนทั่วไปที่มีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวข้างต้นแม้จะยังไม่มีอาการก็ ควรได้รับการส่องกล้องเพื่อเป็นการตรวจคัดกรอง (Screening test) ซึ่งหากพบ มะเร็งกระเพาะอาหารระยะเริ่มแรกสามารถทําการรักษาโดยการส่องกล้องซึ่งได้ผลดี มีผลแทรกซ้อนต่ําและหวังผลหายขาดได้ดังจะกล่าวต่อไป
การประเมินก่อนการรักษา
- เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร การประเมินเพื่อจะทําการรักษาประกอบด้วยการประเมินสภาพร่างกายทั่วไปและ ประเมินสภาพของเนื้องอก
- การประเมินสภาพร่างกายทั่วไปประกอบด้วยการตรวจเช็คความแข็งแรง ของการทํางานของหัวใจและปอด การตรวจเช็คเลือดทั่วไปและระดับสารอาหารใน ร่างกายซึ่งจะมีผลต่อการรับการผ่าตัดและการให้ยาเคมีบําบัด
- การประเมินระยะของมะเร็งเพื่อดูระยะการลุกลามของเนื้องอกที่ผนังกระเพาะและต่อมน้ำเหลืองที่อยู่รอบๆกระเพาะจนกระทั่งการกระจายในช่องท้อง โดยใช้การตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
การรักษา
- การรักษาผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับ ระยะของเนื้องอกซึ่งประกอบด้วยความลึกของเนื้องอก การกระจายไปยังต่อมน้ํา เหลืองรอบๆกระเพาะ และการกระจายไปอวัยวะที่ห่างจากกระเพาะ
- มะเร็งกระเพาะอาหารระยะต้นหรือระยะที่ 1 คือมะเร็งที่กินลึกเพียงชั้นผิว ไม่ลึกถึงกล้ามเนื้อกระเพาะ ซึ่งเนื้องอกระยะนี้พบน้อยในประเทศไทยเนื่องจากผู้ป่วย มักไม่มีอาการและประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับการตรวจคัดกรอง ใน ประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้แก่ผู้ที่ดื่มสุราและสูบบุหรี่มาเป็นเวลานาน ผู้ป่วยที่เป็นโรคกระ เพาะเป็นๆหายๆ หรือรักษาโรคกระเพาะเต็มที่แล้วไม่ดีขึ้นโดยเฉพาะผู้ที่อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป เนื่องจากมะเร็งกระเพาะอาหารระยะเริ่มแรก มีโอกาสกระจายไปยังต่อมน้ํา เหลืองต่ํา ดังนั้นการรักษามะเร็งในระยะนี้สามารถทําได้โดยการตัดเพียง เนื้องอกที่ ผิวกระเพาะ โดยการส่องกล้องจึงเพียงพอและสามารถหวังผลหายขาดได้
- มะเร็งกระเพาะอาหารระยะที่ 2 และ 3 หรือมะเร็งระยะลุกลาม คือระยะที่ มะเร็งมีความลึกไปถึงชั้นกล้ามเนื้อหรือผิวด้านนอกของกระเพาะอาหาร มะเร็งที่มี ความลึกระดับนี้จะมีโอกาสกระจาย ไปยังต่อมน้ําเหลืองมากขึ้น การรักษาหลักคือ การผ่าตัดกระเพาะอาหารเอาส่วนที่เป็นมะเร็ง และเลาะต่อมน้ําเหลืองที่อยู่แวดล้อม กระเพาะอาหารออก ร่วมกับการให้ยาเคมีบําบัดหลังผ่าตัด
- มะเร็งกระเพาะอาหารระยะที่ 4 หรือมะเร็งระยะสุดท้าย คือมะเร็งที่มีการ กระจายออกไปยังอวัยวะที่ห่างจากกระเพาะหรือไม่ได้ติดต่อกับกระเพาะอาหารโดยตรง การรักษามะเร็งในระยะนี้ แม้จะตัดกระเพาะ เลาะต่อมน้ําเหลือง ให้ยาเคมีบําบัดต่อ ก็มักไม่ได้เพิ่มความยืนยาวของอายุผู้ป่วยแต่อย่างใด แนวโน้มจึง เป็นการรักษา เพื่อ การประคับประคองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในช่วงสุดท้ายของชีวิต
ความรู้ที่สําคัญ
การตรวจคัดกรองมะเร็งกระเพาะอาหารระยะเริ่มแรกมีความสําคัญมาก หากพบว่ามีปัจจัยเสี่ยงหรือ มีอาการโรคกระเพาะอาหารเรื้อรังเกิน 2 เดือน อาจจะมีน้ำหนักลดหรือมีลักษณะบ่งชี้ว่ามีเลือดออกในทางเดินอาหาร ควรมารับการ ตรวจคัดกรอง มะเร็งกระเพาะอาหาร เพราะหากตรวจพบในระยะเริ่มแรก การรักษาก็จะได้ผลดีมีผลแทรกซ้อนต่ำและ หวังผลหายขาดได้