กว่าจะเป็น "รัฐธรรมนูญ" สมุดไทย 279 มาตรา
เมื่อต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กองงานอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดสร้าง "รัฐธรรมนูญ"ลงใน "สมุดไทย" ซึ่งการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับสมุดไทย 1 ฉบับ จะต้องจัดทำ 3 เล่ม คือ รัฐธรรมนูญสมุดไทยฉบับต้น และรัฐธรรมนูญคู่ฉบับอีก 2 ฉบับ
“วันรัฐธรรมนูญ” อีกหนึ่งวันสำคัญของประเทศไทยที่รัฐบาลกำหนดขึ้น เพื่อระลึกถึงการมี รัฐธรรมนูญ ฉบับถาวร ฉบับแรกของไทย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) พระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนชาวไทย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 วันนี้จึงถือเป็นวันที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และการเมือง
ประวัติวันรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย
หลังคณะราษฎรได้ทำการอภิวัฒน์สยาม เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) มีการประกาศใช้ “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475” เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2475 ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ฉบับแรกของไทย
ต่อมา ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทาน “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475” เป็น รัฐธรรมนูญ ฉบับถาวร ฉบับแรกของไทย ทำให้วันรัฐธรรมนูญตรงกับวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง ประเทศไทยได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญมาแล้วทั้งหมด 20 ฉบับ โดยฉบับปัจจุบันคือ "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560"
สืบเนื่องจากคำกล่าวของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประธานคณะกรรมการราษฎร และประธานคณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ปรากฏอยู่ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 16 พฤศจิกายน 2475 ระหว่างการพิจารณาร่าง รัฐธรรมนูญ ถาวรฉบับแรกของประเทศว่า
“...ได้นำร่างรัฐธรรมนูญนี้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายทอดพระเนตร ทรงมีรับสั่งว่าเป็นที่พอพระทัย และได้ทรงแนะนำว่าการประกาศรัฐธรรมนูญนั้นเป็นของสำคัญที่ยิ่งใหญ่ ควรจะมีพิธีรีตอง จึงโปรดเกล้าฯ ให้โหรหลวงหาฤกษ์ยาม...และโดยทรงเห็นว่ารัฐธรรมนูญนั้นเป็นของศักดิ์สิทธิ์ และเป็นของที่ควรจะขลัง เพราะฉะนั้น ต้องการจะเขียนในสมุดไทย...”
ดังนั้นทุกครั้งเมื่อต้องมี รัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ กองงานอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดสร้างรัฐธรรมนูญลงใน “สมุดไทย” ซึ่งการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับสมุดไทย 1 ฉบับ จะต้องจัดทำ 3 เล่ม คือ รัฐธรรมนูญสมุดไทยฉบับต้น และรัฐธรรมนูญคู่ฉบับอีก 2 ฉบับ เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการจะมีการแยกเก็บรักษาที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักราชเลขาธิการ และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเนื้อหาของทั้ง 3 เล่ม จะต้องเหมือนกันทุกประการ เพราะสมัยนั้นยังไม่มีการพิมพ์ หรือการเก็บข้อมูลในคอมพิวเตอร์ ดังนั้น ในการเก็บรักษาต้องมี รัฐธรรมนูญสมุดไทย 3 ฉบับ เพื่อสอบทานกันและหากฉบับใดฉบับหนึ่งเกิดสูญหายไปก็ยังคงเหลือหลักฐาน หรือการสงสัยความคลาดเคลื่อนก็มีฉบับอื่นให้สอบทาน ซึ่งปัจจุบันเรายังคงรักษารูปแบบนี้ รวมไปถึงการตกแต่งรูปเล่มตามที่เคยปฏิบัติสืบต่อมา
สำหรับรัฐ “รัฐธรรมนูญสมุดไทย” จะมีขนาดเท่ากันทุกฉบับ คือกว้าง 13.4 เซนติเมตร ยาว 45.5 เซนติเมตร โดยจะมอบหมายให้กรมแผนที่ทหารจัดทำกระดาษไฮเวท หนา 120 แกรม ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษ คือ ทนความชื้น ไม่ฉีกขาด และสามารถเก็บได้ยาวนาน จากนั้นองค์การค้าคุรุสภา (ปัจจุบัน คือ องค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาหรือองค์การค้าของ สกสค.) จะรับช่วงต่อในการจัดทำรูปเล่ม โดยพับกระดาษให้เท่ากันตามรูปแบบสมุดไทย
ส่วนขั้นตอนการเขียนเป็นหน้าที่ของ “เจ้าพนักงานลิขิต” จากกองอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ผู้มีหน้าที่เขียนสมุดไทยทั้ง 9 คน โดยใช้ตัวอักษรที่รูปแบบรัตนโกสินทร์ ซึ่งแต่ละคนนั้นต้องฝึกฝนไม่ต่ำกว่า 5 ปีเพื่อบรรจงลิขิตตัวอักษรราวกับเป็นคนคนเดียวกัน และจะต้องเขียนรัฐธรรมนูญลงสมุดไทยให้ทันต่อกรอบเวลาที่ได้กำหนดไว้ ในระหว่างนี้จะมีการตรวจทานความถูกต้องของตัวอักษรทุกระยะ และเมื่อเขียนเสร็จทั้งหมดจะต้องตรวจทานอย่างน้อยอีก 3 ครั้ง ก่อนที่จะส่งมอบให้กับเจ้าหน้าที่สำนักสถาปัตยกรรมและหัตถศิลป์ กรมศิลปากร ลงรักปิดทองทั้งปกหน้า ปกหลัง และด้านข้างของรูปเล่มทั้ง 4 ด้านให้สวยงาม พร้อมติดตรา “พระครุฑพ่าห์” ซึ่งจัดทำโดยสำนักกษาปณ์ กรมธนารักษ์ บนปก รัฐธรรมนูญสมุดไทย เล่มละ 1 องค์ โดยในจำนวนตราพระครุฑพ่าห์ ที่สำนักกษาปณ์ จัดทำทั้งสิ้น 3 องค์นั้น ประกอบไปด้วย ตราพระครุฑพ่าห์ทองคำ 1 องค์ เพื่อติดปกฉบับต้น และตราพระครุฑพ่าห์เงินกะไหล่ทอง 2 องค์ติดปกคู่ฉบับที่เหลืออีก 2 ฉบับ
เมื่อดำเนินการเสร็จสิ้น รัฐธรรมนูญ ฉบับสมุดไทยทั้ง 3 ฉบับ จะถูกห่อด้วย “ผ้าเยียรบับ” หรือ ผ้าทอด้วยไหมสีควบกับไหมเงินไหมทองยกเป็นลายดอกจนดูเหมือนเป็นทองทั้งผืน ขนาดสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขลิบด้วยผ้าสีน้ำเงินและมีสายสำหรับผูกเย็บด้วยดิ้นทอง จากนั้นจึงเป็นขั้นตอนดำเนินการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้ต่อไป
โดยปกตินายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้นำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับสมุดไทย ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ แต่บางคราวรัฐธรรมนูญฯ หรือธรรมนูญฯ ขณะนั้นจะบัญญัติให้ประธานรัฐสภาหรือเรียกชื่ออื่น อาทิ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ แล้วแต่กรณี จะเป็นผู้นำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับสมุดไทย ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยและเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
แต่ใช่ว่ารัฐธรรมนูญที่บังคับใช้ทุกฉบับจะถูกจารึกไว้ในสมุดไทย หากแต่การจารึกลงในสมุดไทยนั้น จะดำเนินการเฉพาะ รัฐธรรมนูญ ที่ผ่านกระบวนการทางนิติบัญญัติเท่านั้น ปัจจุบันจำนวน 11 ฉบับ จากทั้งสิ้น 20 ฉบับ คือ
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
- ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
ส่วนที่เหลืออีก 9 ฉบับ เป็นรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้หลังจากยึดอำนาจการปกครอง ซึ่งจะไม่ถูกนำไปจารึกลงในสมุดไทย ดังนี้
- พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490
- ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502
- ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519
- ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520
- ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557
ข้อมูล-ภาพ : รายการ ร้อยเรื่อง...เมืองไทย