"กาแฟ" ดื่มแค่ไหนถึงจะเรียกว่าพอดี และมีประโยชน์สูงสุด
"กาแฟ" ทำให้ประสาทมีการตื่นตัว และมีการรับรู้ที่ดีขึ้น มีการปรับอารมณ์ที่ดีขึ้น คาเฟอีนและสารอื่นๆ ในกาแฟยังมีฤทธิ์ช่วยต้านภาวะซึมเศร้า ฤทธิ์ในการป้องกันภาวะความจำเสื่อม หากได้รับในปริมาณที่เหมาะสม
“กาแฟ” เป็นพืชพื้นเมืองของทวีปอแฟริกา ปัจจุบันนำมาปลูกกันอย่างแพร่หลายในพื้นที่เขตร้อนชื้นและกึ่งเย็น ในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ เอเชีย และแอฟริกา ในอดีตคนพื้นเมืองนิยมรับประทานเมล็ดกาแฟโดยใช้เป็นของว่างในระหว่างการเดินทางระยะไกล รวมไปถึงการผลิตไวน์จากกาแฟซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของร่างกาย
ปัจจุบันกาแฟเป็นเครื่องดื่มที่แพร่หลายและได้รับความนิยมอย่างมากจากผู้คนทั่วโลก เนื่องจากมีกลิ่นหอมเฉพาะและรสชาติที่คนติดใจ จนกลายเป็นเครื่องดื่มในวิถีชีวิตสมัยใหม่ของทั้งคนเมืองและคนชนบท ที่สำคัญกาแฟมีสารสำคัญคือ "คาเฟอีน" ซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของร่างกายและระบบประสาท รวมไปถึงทำให้รู้สึกตื่นตัวจากการกระตุ้นการทำงานของหัวใจ และเพิ่มสมรรถภาพในการทำงาน
คาเฟอีน กระตุ้น ต้านซึมเศร้า ป้องกันความจำเสื่อม
คาเฟอีนเป็นสารที่มีรสขม มีโครงสร้างที่สามารถดูดซึมเข้าสู่สมอง ได้ดี กระตุ้นการทำงานของระบบประสาท รวมถึงการมีผลต่อการหลั่งสารสื่อประสาทต่างๆ เช่น Dopamine, Norepinephrine และ Serotonin ฯลฯ ทำให้หลังดื่มกาแฟจะทำให้ประสาทมีการตื่นตัว และมีการรับรู้ที่ดีขึ้น มีการปรับอารมณ์ที่ดีขึ้น คาเฟอีนและสารอื่นๆ ในกาแฟยังมีฤทธิ์ช่วยต้านภาวะซึมเศร้า ฤทธิ์ในการป้องกันภาวะความจำเสื่อม หากได้รับในปริมาณที่เหมาะสม
การได้รับคาเฟอีนเข้าสู่ร่างกายสำหรับผู้มีสุขภาพดีในส่วนใหญ่ค่อนข้างปลอดภัย แต่การได้รับสารที่มากจนเกินพอดี อาจทำให้เกิดผลต่อการนอนหลับ และมีผลทำให้เกิดอาการเสพติดคาเฟอีน และมีผลทำให้เกิดอาการเสพติดคาเฟอีนได้นอกจากนี้ "กาแฟ" ยังลดการดูดซึมธาตุเหล็ก ดังนั้นผู้สูงอายุ ผู้ป่วย เด็ก หรือคนท้อง จึงต้องระมัดระวังในการที่จะได้รับสารคาเฟอีนหรือดื่มกาแฟ เนื่องจากอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบไหลเวียนโลหิต การนอนหลับ และยาที่รับประทานอยู่เป็นประจำ
ผู้ที่มีอาการเสพติดคาเฟอีน เมื่อไม่ได้รับคาเฟอีนอย่างต่อเนื่องอาจจะพบอาการต่างๆ เช่น ปวดหัว เหนื่อยล้า กังวล เป็นต้น ซึ่งมีการศึกษาพบว่าการออกกำลังกายแบบแอโรบิคสามารถลดอาการข้างเคียงที่เกิดจากการขาดสารคาเฟอีนได้
กาแฟ ในวิถีไทย
ความเป็นมาของกาแฟในประเทศไทยนั้นพระยาสารศาสตร์พลขันธ์ได้บันทึกไว้ว่า กาแฟได้ถูกนำเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกประมาณปี พ.ศ.2447 โดยชาวมุสลิมชื่อ นาดีหมุน ซึ่งได้เมล็ดกาแฟจากการไปแสวงบุญที่เมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย จึงนำมาปลูกที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา เป็นกาแฟโรบัสต้า
ส่วนกาแฟอราบิก้าถูกนำมาปลูกครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2516 ทดลองปลูกที่บ้านมูเซอร์ห้วยตาด อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ จากนั้นหน่วยงานต่างๆ ได้นำพันธุ์กาแฟต่างๆ เข้ามาจากต่างประเทศ เพื่อให้ชาวเขาปลูกทดแทนฝิ่น
การที่ "กาแฟ" เข้ามาทางภาคใต้ก่อนในระยะเริ่มต้นนั้นทำให้พี่น้องมุสลิมสามจังหวัดภาคใต้มีความเชี่ยวชาญในการปลูกกาแฟและนำมาใช้ประโยชน์ แต่เดิมนั้นปลูกกันเป็นไม้ประดับ ยอดและใบอ่อน สามารถนำมารับประทานสดเป็นผักกับข้าว ข้าวยำ ขนมจีน ยอดอ่อนของกาแฟสามารถนำมาทำชาชงแก้ง่วงเช่นเดียวใบชาจีน
โกปี โบราณ
ทำให้รู้สึกตื่นตัวสดชื่น กระปรี้กระเปร่า และไม่ง่วงซึม ช่วยลดอาการปวดศีรษะ ช่วยคลายความตึงเครียด
วิธีทำ
- นำผลสุกมาตากแดดจนแห้ง แล้วนำมาใส่ถุงหรือกระสอบทุบ หรือตีจนเปลือกออกจนหมด แล้วนำเมล็ดกาแฟที่ได้มาตากแดดอีกครั้งจนแห้งสนิท
- เติมน้ำตาลโตนดแบบเหลวขณะคั่ว คั่วต่อไปจนสุกทั่วกัน (ใช้น้ำตาลโตนด 1ช้อนโต๊ะ ต่อเมล็ดกาแฟ 1 กิโลกรัม)
- นำข้าวเหนียวที่คั่วแล้วมาตำหรือบดให้เป็นผงละเอียดพักไว้ แล้วนำเมล็ดกาแฟที่คั่วเสร็จแล้ว มาตำหรือบดให้เป็นผงละเอียดเช่นกัน
- นำมาผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วเก็บใส่ภาชนะที่แห้งสนิทและมิดชิดสามารถนำมาชงดื่มเติมน้ำตาลหรือนมตามต้องการ
(การที่ใส่ข้าวเหนียวคั่วลงไปด้วยนั้นน่าจะได้ประโยชน์จากข้าวคั่วซึ่งสมัยก่อนเป็นข้าวซ้อมมือมีวิตามินบีสูง และอาจเป็นที่มาของการเรียกกาแฟว่า ข้าวแฟ ในสมัยรัชกาลที่ 4)
ข้อมูล : หนังสือบันทึกของแผ่นดิน 12 กัญชา และผองเพื่อน สมุนไพร...เพื่อระบบประสาทและจิตใจ