ไลฟ์สไตล์

"ถนนพระราม" ชื่อถนนสายนี้มีที่มาอย่างไร

"ถนนพระราม" ชื่อถนนสายนี้มีที่มาอย่างไร

04 ม.ค. 2565

คนกรุงเทพฯ คงจะคุ้นเคยกับชื่อถนนสายต่างๆ ที่ขึ้นต้นว่า “พระราม” แล้วเคยสงสัยหรือออกตามหากันไหมว่าถนนพระรามมีกี่สาย และมีที่มาอย่างไร

คนกรุงเทพฯ คงจะคุ้นเคยกับชื่อถนนสายต่างๆ ที่ขึ้นต้นว่า “ถนนพระราม” แล้วเคยสงสัยหรือออกตามหากันไหมว่าถนนพระรามมีกี่สาย และมีที่มาอย่างไร

 

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า “ถนนพระราม” สายต่างๆ นั้น ส่วนมากจะเป็นถนนที่มีความเกี่ยวข้องกับพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์พระองค์นั้นๆ หรือตั้งชื่อเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์

 

สำหรับ “ถนนพระราม” จะต้องใช้ว่า “ถนนพระรามที่” ตามด้วยตัวเลข ยกเว้น “ถนนพระราม 9” เป็นถนนนสายเดียวที่ไม่มีคำว่า “ที่” เนื่องจากพระราชทานชื่อโดยในหลวงรัชกาลที่ 9 และทรงมีพระราชดำรัสไว้ว่าไม่มีพระราชประสงค์ให้มีคำว่า “ที่” ต่อท้าย 

 

ถนนพระรามที่ 1

 

เป็นถนนที่อยู่ใจกลางย่านธุรกิจ เริ่มจากเขตเมืองเก่าที่แยกกษัตริย์ศึก ข้ามคลองผดุงกรุงเกษมและทางรถไฟมาทางตะวันออก ผ่านสนามกีฬาแห่งชาติ แยกปทุมวัน ย่านสยามสแควร์ มาสิ้นสุดที่แยกราชประสงค์ ระยะทางประมาณ 2.8 กิโลเมตร

 

ถนนสายนี้เริ่มสร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 โดยเป็นเส้นทางสำหรับเสด็จไปวัดปทุมวนาราม ที่สร้างในช่วงปี 2400-2410 เดิมถนนสายนี้ชื่อ “ถนนปทุมวัน”

 

รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อถนนปทุมวันเป็น “ถนนพระรามที่ 1” เพื่อเทิดพระเกียรติรัชกาลที่ 1 ที่ใช้เส้นทางนี้ในการเสด็จกลับจากเขมรมาปราบจลาจลที่กรุงธนบุรี สมัยที่ยังทรงพระยศเป็น “สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก”

 

ถนนพระรามที่ 2

 

เป็นทางหลวงสายหลักที่จะออกจากกรุงเทพฯ ไปภาคใต้ เริ่มต้นจากจุดตัดถนนสุขสวัสดิ์แถวดาวคะนอง-บางปะกอก ฝั่งธนบุรี ไปทางตะวันตกผ่านบางขุนเทียน มหาชัย สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ไปสุดที่สามแยกวังมะนาว อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี ระยะทางประมาณ 84 กิโลเมตร เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2513 เดิมรู้จักในชื่อ “ถนนธนบุรี-ปากท่อ” แต่มีการเปลี่ยนชื่อเป็น “ถนนพระรามที่ 2” เพื่อเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 2 ซึ่งทรงพระราชสมภพที่อำเภออัมพวา จ.สมุทรสงคราม

ถนนพระรามที่ 3

 

อยู่เลียบแม่น้ำเจ้าพระยาทางตอนใต้ของ กทม. เริ่มตั้งแต่สะพานกรุงเทพ ผ่านแยกถนนตก เลียบแม่น้ำไปเรื่อยๆ ผ่านถนนเจริญราษฎร์ ลอดใต้สะพานพระราม 9 ผ่านถนนสาธุประดิษฐ์ ถนนยานนาวา ถนนวงแหวนอุตสาหกรรม ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ผ่านแยกนางลิ้นจี่ และขนาบข้างด้วยทางด่วนขั้นที่ 1 ไปจนสุดที่แยก ณ ระนอง แถวตลาดคลองเตย ระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร

 

ถนนสายนี้เริ่มสร้างมาตั้งแต่สมัยยุคจอมพลถนอม ประมาณปี 2514 มีชื่อเดิมที่คนทั่วไปมักเรียกกันว่า “ถนนเลียบแม่น้ำ” มาเปลี่ยนชื่อเป็น “ถนนพระรามที่ 3” เพื่อเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 3 ที่ทรงมีความสนใจเรื่องการค้าขาย เนื่องจากในช่วงเศรษฐกิจไทยเฟื่องฟูในยุคก่อนปี 2540 รัฐบาลต้องการจะขยายโซนธุรกิจการค้าจากย่านถนนสีลม ซึ่งถนนแคบและรถติดมาก มาอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาแทน ซึ่งจะเห็นว่าถนนสายนี้มีธนาคารหลายแห่งมาตั้งสำนักงานใหญ่ด้วย

 

ถนนพระรามที่ 4

 

ถนนที่หลายคนน่าจะรู้จักดีครับ โดยจะเริ่มจาก แยกหมอมี ผ่านสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ผ่านสามย่าน สีลม สวนลุมพินี บ่อนไก่ คลองเตย กล้วยน้ำไท และไปสุดที่แยกพระโขนง ตัดกับถนนสุขุมวิท ระยะทางประมาณ 9.4 กิโลเมตร

 

ถนนสายนี้เดิมชื่อ “ถนนตรง” สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อปี 2400 โดยจะวิ่งขนานไปกับคลอง และทางรถไฟเก่าสายปากน้ำครับ ในยุคของรัชกาลที่ 6 พระราชทานชื่อใหม่ว่า “ถนนพระรามที่ 4” เพื่อเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 4 ที่ทรงมีพระราชดำริให้ขุดคลองและสร้างถนนสายนี้

 

ถนนพระรามที่ 5

 

ถนนสายนี้ตั้งอยู่ในเขตดุสิต เลียบคลองเปรมประชากร โดยเริ่มตั้งแต่ด้านข้างทำเนียบรัฐบาล ขึ้นเหนือผ่านสนามม้านางเลิ้ง สวนจิตรลดา โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย เรื่อยไปจนถึงแยกสะพานแดงแถวเกียกกาย-ประดิพัทธ์ ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร

 

เดิมถนนนี้ชื่อ “ถนนลก” เป็นถนนที่รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างพระราชวังดุสิตเมื่อปี 2441 ซึ่งต่อมารัชกาลที่ 6 พระราชทานชื่อใหม่ว่า “ถนนพระรามที่ 5”

 

ถนนพระรามที่ 6

 

ถนนสายนี้มีจุดเริ่มต้นที่แยกจารุเมือง (อยู่แถวๆ ร้านเจ้โอว) วิ่งขนานกับทางด่วนขั้นที่ 2 ผ่านแยกพงษ์พระราม แยกอุรุพงษ์ โรงพยาบาลรามาธิบดี แล้วเลียบคลองประปาไปจนสุดที่ถนนเตชะวณิช แถวๆ บางซื่อ ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร

 

ถนนสายนี้เดิมชื่อ “ถนนประทัดทอง” สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งต่อมารัชกาลที่ 6 พระราชทานชื่อ “ถนนพระรามที่ 6” ซึ่งถนนสายนี้เป็นถนนที่วิ่งขนานคู่ไปกับถนนพระรามที่ 5

 

ถนนพระรามที่ 7 และ ถนนพระรามที่ 8

 

ยังไม่มี

 

ถนนพระราม 9

 

ถนนนี้เริ่มต้นจากแยกพระราม 9 วิ่งไปทางทิศตะวันออก ผ่านถนนประดิษฐ์มนูธรรม ถนนรามคำแหง แล้ววิ่งขนานกับทางรถไฟ ไปสุดที่แยกต่างระดับศรีนครินทร์ ตัดกับถนนศรีนครินทร์และมอเตอร์เวย์สาย 7

 

เดิมทีถนนพระราม 9 มีจุดสิ้นสุดอยู่ที่แยกรามคำแหงครับ โดยเปิดใช้งานมาตั้งแต่ราวๆ ปี 2521 ในชื่อ “ถนนเลียบคลองสามเสนฝั่งเหนือ” ภายหลังมีการสร้างต่อขยายไปจนถึงแยกศรีนครินทร์ เชื่อมกับทางหลวงพิเศษกรุงเทพ-ชลบุรี (สายใหม่) หรือถนนมอเตอร์เวย์ เพื่อเป็นเส้นทางเชื่อมต่อจากฝั่งตะวันออกสู่ตะวันตกของกรุงเทพฯ ตามโครงการถนนจตุรทิศ ของรัชกาลที่ 9 ระยะทางประมาณ 8.7 กิโลเมตร

 

ข้อมูล : https://www.livingpop.com/