ย้อนวันวาน ทำความรู้จัก ประวัติ "วันตรุษจีน" ในไทย
เทศกาล “วันตรุษจีน” เป็นการฉลองวันขึ้นปีใหม่ตามธรรมเนียมจีน ซึ่งถือเป็นเทศกาลที่มีความสำคัญมากในวัฒนธรรมจีน
ด้วยความเป็นเมืองพี่เมืองน้องกันมานาน ประเทศไทยจึงรับประเพณีและวัฒนธรรมจีนเข้ามาในสังคมอย่างช้านาน ผสมกลมกลืนจนคนไทยไม่รู้สึกว่าประเพณีจีนเป็นสิ่งแปลกในวิถีชีวิต แม้ไม่สามารถจะระบุได้ว่าวัฒนธรรมจีนมามีอิทธิพลในสังคมไทยตั้งแต่เมื่อใด แต่ในทางประวัติศาสตร์พอจะอนุมานได้ว่าธรรมเนียมประเพณีแบบจีนเป็นที่ยอมรับมาตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นอย่างช้า
การอพยพของคนจีนโพ้นทะเลที่มาตั้งหลักแหล่งทำมาค้าขายอยู่ในประเทศไทยในสมัยนั้น จนถึงปัจจุบัน เราสามารถรวมตัวกันเป็นชุมชนจีนที่เรียกว่า China Town ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย เช่น ย่านเยาวราชและสำเพ็งในกรุงเทพฯ รวมถึงในตัวเมืองจังหวัดใหญ่ เช่น นครสวรรค์ ขอนแก่น เชียงใหม่ หาดใหญ่ ภูเก็ต ก็มีย่านการค้าและที่อยู่อาศัยของชาวไทยเชื้อสายจีน
คนไทยเชื้อสายจีนยังคงดำรงรักษาวิถีการดำเนินชีวิตและการประกอบพิธีกรรมตามธรรมเนียมประเพณี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเทศกาลตรุษจีนที่เป็นเทศกาลหลักของคนจีน ร่วมกับเทศกาลไหว้พระจันทร์ เทศกาลสารทจีน เทศกาลเช็งเม้ง หรือกระทั่งเทศกาลถือศีลกินเจ ซึ่งคนไทยในปัจจุบันคุ้นเคยกับเทศกาลเหล่านี้เป็นอย่างดี
เทศกาลตรุษจีนเป็นการฉลองวันขึ้นปีใหม่ตามธรรมเนียมจีน ซึ่งถือเป็นเทศกาลที่มีความสำคัญมากในวัฒนธรรมจีน โดยเฉลิมฉลองด้วยหลักการพื้นฐานในเรื่องความกตัญญูกตเวที ความยึดถือในวงศ์สกุลและบรรพบุรุษของตระกูล ชาวจีนมีความเชื่อว่าถ้าปฏิบัติธรรมเนียมได้อย่างถูกต้องตามประเพณีจะเกิดความเจริญมั่งคั่ง ความสันติสุข และความไพบูลย์วงศ์ตระกูล ตลอดจนความรุ่งเรีองของกิจการการค้าต่างๆ และความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของสมาชิกในครอบครัว
คติความเชื่อในเทศกาลตรุษจีนมีความคล้ายกับเทศกาลสงกรานต์ของคนไทย ที่ถือเป็นการฉลองวันขึ้นปีใหม่และการแสดงออกในความเคารพนับถือต่อบรรพบุรุษ ด้วยความเชื่อของประเพณีที่มีพื้นฐานอย่างเดียวกัน คนไทยจึงรับธรรมเนียมตรุษจีนมาปฏิบัติด้วย ซึ่งราชสำนักไทยก็รับเอาธรรมเนียมในวันตรุษจีนมาปฏิบัติตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ได้แก่ พิธีสังเวยพระป้าย ซึ่งก็คือพิธีเซ่นไหว้ป้ายบรรพบุรุษตามธรรมเนียมจีน โดยโปรดให้ทำพระป้ายจากไม้จันทน์และสลักอักษรจีนเป็นพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อน ๆ เพื่อทำพิธีสักการะในช่วงวันตรุษจีน
ปัจจุบันมีพระป้ายพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี พระป้ายพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานอยู่ในพระราชวังบวรสถานมงคลตั้งแต่นั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ประกอบพระราชพิธีสังเวยพระป้ายในวันตรุษจีนทุกปี
ในระดับสามัญชน นอกจากคนไทยเชื้อสายจีนที่ประกอบพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษในวันตรุษจีนแล้ว แม้แต่คนไทยที่ไม่มีเชื้อสายจีนก็รับเอาธรรมเนียมการเซ่นไหว้แบบจีนไปประยุกต์ใช้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ
อย่างเช่น เครื่องเซ่นไหว้ศาลพระภูมิ ซึ่งศาลพระภูมิเป็นคติความเชื่อที่รับมาจากศาสนาฮินดู หรือในเทวสถานของเทพเจ้าศาสนาพราหมณ์อย่างศาลพระพราหมณ์ที่เอราวัณ ซึ่งคนไทยนับถือบูชาคู่กับพระพุทธศาสนา ก็พบว่ามีการนำเครื่องเซ่นไหว้แบบจีนไปตั้งบูชาสักการะในเทศกาลตรุษจีน
ที่มาข้อมูล : สถาบันไทยศึกษา จุฬาฯ Institute Of Thai Studies, Chulalongkorn university
นอกจากนี้ คนไทยยังนับเอาเทศกาลตรุษจีนเป็นโอกาสนัดรวมญาติมิตรลูกหลาน และถือโอกาสเป็นวันเฉลิมฉลองของครอบครัวอีกเทศกาลหนึ่ง