ไลฟ์สไตล์

รู้จักการ "ฉีดยาข้อเข่า" หากรักษา "ข้อเข่าเสื่อม" ด้วยวิธีอื่นไม่หาย

รู้จักการ "ฉีดยาข้อเข่า" หากรักษา "ข้อเข่าเสื่อม" ด้วยวิธีอื่นไม่หาย

17 ม.ค. 2565

การ "ฉีดยาข้อเข่า" อาจเป็นการรักษาข้อเข่าเสื่อมทางเลือกที่ช่วยบรรเทาโรคข้อเข่าเสื่อม โดยไม่ต้องผ่าตัดและนอนพักฟื้นนาน

ทำไมต้องรักษาข้อเข่าเสื่อมด้วยการฉีดยา?

"โรคข้อเข่าเสื่อม" เป็นโรคที่ทรมานเพราะทำให้ผู้ป่วยเจ็บปวดเข่าจนเคลื่อนไหวทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้น้อยลง วันนี้มีทางเลือกในการบรรเทาอาการเจ็บปวดเข่าเสื่อมหลายวิธี เช่น การลดน้ำหนัก หรือการรับประทานยาและทำกายภาพบำบัด หากได้ทำวิธีที่กล่าวมาแล้วไม่หายการฉีดยาข้อเข่าอาจเป็นการรักษาข้อเข่าเสื่อมทางเลือกที่ช่วยบรรเทาโรคข้อเข่าเสื่อม โดยไม่ต้องผ่าตัดและนอนพักฟื้นนาน

 

รู้จักการ \"ฉีดยาข้อเข่า\" หากรักษา \"ข้อเข่าเสื่อม\" ด้วยวิธีอื่นไม่หาย
 

การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยการฉีดยาข้อเข่าเป็นอย่างไร?
เป็นการรักษาเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดและอาการอักเสบจากข้อเข่าเสื่อม โดยมีแนวทางการรักษาอยู่ 2 อย่างด้วยกัน

1.การฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่าเทียม

การฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่าเทียมด้วยสารไฮยาลูรอนิค หรือ เรียกกันทั่วไปว่าสารหล่อลื่น เป็น "คอลลาเจน" กลุ่มหนึ่งที่มีอยู่ในข้อเข่าตามธรรมชาติ ทำหน้าที่เป็นตัวหล่อลื่นและดูดซับแรงกระแทกให้กับกระดูกอ่อนข้อเข่า 

 

ผู้ที่มีข้อเข่าเสื่อมมีสารไฮยาลูรอนิคในข้อเข่าลดลง  การฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่าเทียมจึงช่วยชดเชยสารไฮยาลูรอนิคตามธรรมชาติที่เสื่อมสภาพไป สามารถช่วยลดอาการข้อเข่าปวดจากภาวะข้อเข่าเสื่อม ทำให้ข้อเข่ากลับมาใช้งานได้ดีขึ้น การฉีดน้ำข้อเข่านี้เหมาะกับผู้เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมระยะแรกไปจนถึงปานกลาง


 

2. การฉีดพลาสมาเกล็ดเลือดเข้มข้น (PRP)
เป็นการใช้เลือดของผู้ป่วยเองมารักษาอาการบาดเจ็บของกระดูกอ่อนเพื่อซ่อมแซมและเพิ่มระดับโกรทแฟคเตอร์บริเวณที่บาดเจ็บ เหมาะกับผู้ป่วยในระยะเริ่มแรกที่กระดูกอ่อนยังเสียหายไม่มาก เคยรับประทานยาทำกายภาพ บำบัดและฉีดยาสเตียรอยด์แล้วแต่ไม่หาย เหมาะกับผู้เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมระยะแรกไปจนถึงปานกลาง

 

การดูแลตัวเองหลัง "ฉีดยาข้อเข่า"

หลังการฉีดยาข้อเข่า แพทย์จะให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วย เช่น งดการออกกำลังกายหรือการทำกิจกรรมที่หนัก ต้องใช้แรง 1-2 วันหรือจนกว่าอาการปวดและบวมจากการฉีดยาข้อเข่าจะหายไป ผู้ป่วยสามารถใช้การประคบเย็นเพื่อลดอาการระบบได้

 

การฉีดยาข้อเข่าควรทำโดยแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางและมีประสบการณ์ในการฉีดยาข้อเข่าเท่านั้น เพราะการฉีดยามีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและการแพ้ยาได้เช่นกัน ในบางรายที่รักษาแล้วไม่ได้ผลดี แพทย์อาจแนะนำให้รักษาด้วยวิธีการอื่นๆ ที่เหมาะสมกับผู้ป่วยต่อไป

 

 

ที่มาข้อมูล : โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์