หลวงปู่ "ติช นัท ฮันห์" นักต่อสู้เพื่อสันติภาพ ละสังขารด้วยวัย 95 ปี
หลังจากถูกเนรเทศออกจากประเทศถึง 39 ปี "พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์" ได้กลับมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่ประเทศเวียดนามและมรณภาพอย่างสงบที่วัดตื่อฮิ้ว วัดเดียวกับที่ท่านเข้ารับการบวชเณรเมื่อ 80 ปีที่แล้ว
เฟสบุ๊กเพจ Thai Plum Village (หมู่บ้านพลัมประเทศไทย) ได้ออกประกาศการมรณภาพอย่างสงบของ "พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์" ผู้นำจิตวิญญาณระดับโลกชาวเวียดนามด้วยวัย 95 ปี
"ประกาศ
พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ละสังขาร
สังฆะหมู่บ้านพลัมนานาชาติขอประกาศว่า หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ พระอาจารย์ที่รักยิ่งของเราได้ละสังขารอย่างสงบ ณ วัดตื่อเฮี้ยว เมืองเว้ ประเทศเวียดนาม เมื่อเวลา 0.00 นาฬิกา ของวันที่ 22 มกราคม 2565 สิริอายุ 95 ปี
เราขอเชื้อเชิญครอบครัวทางจิตวิญญาณทั่วโลกได้หยุดใช้ชั่วเวลาสักครู่ในความสงบ และกลับคืนสู่ลมหายใจแห่งสติ เพื่อที่เราจะได้โอบรับหลวงปู่ไว้ในหัวใจ ในสันติและความสำนึกคุณด้วยความรักต่อทุกสิ่งที่ท่านได้มอบให้ไว้ในโลก"
ประวัติหลวงปู่ ติช นัท ฮันห์ (Thich Nhat Hanh)
"หลวงปู่ ติช นัท ฮันห์" เป็นพระภิกษุชาวเวียดนาม ผู้นำเสนอความคิดพุทธศาสนาต้องเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน และพุทธธรรมเป็นสิ่งที่สามารถประยุกต์ใช้ให้เข้ากับวิธีชีวิตยุคปัจจุบันได้ ท่านเป็นที่รู้จักในฐานะพระเถระชั้นผู้ใหญ่ พระอาจารย์เซน พระมหาเถระในพุทธศาสนามหายานผู้สอนการฝึกสมาธิภาวนา เป็นกวี นักเขียน นักต่อสู้เพื่อสันติภาพ
ปี พ.ศ.2485 เมื่ออายุ 16 ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนาปี ณ วัดตื่อเฮี้ยว เมืองเว้ ท่านได้เรียนรู้การฝึกปฏิบัติสติภาวนา โดยมีหลักคำสอนของพระอาจารย์และวิถีชีวิตประจำวันของผู้บวชใหม่ อันเป็นรากฐานสำคัญของชีวิตนักบวช
ปี พ.ศ.2492 เมื่ออายุ 23 อุปสมบทเป็นพระภิกษุปี เดินทางไปไซ่ง่อนเพื่อฟื้นฟูพุทธศาสนาและเขียนบทความ ทำให้ถูกต่อต้านจากผู้นำองค์กรชาวพุทธและรัฐบาลในระยะนั้น
ปี พ.ศ. 2505 ได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันเพื่อศึกษาศาสนาเปรียบเทียบ จึงเดินทางไปศึกษายังประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้น 1 ปี ก็ได้รับทุนอีกจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย แต่ท่านตัดสินใจกลับเวียดนามเพื่อสานต่อแนวคิดพุทธศาสนาที่รับใช้สังคม โดยก่อตั้งโรงเรียนยุวชนรับใช้สังคมเยียวยาความเสียหายจากสงคราม และพัฒนาวงการสงฆ์ด้วยการสอน และนำเสนอข้อเขียนต่อสถาบันพุทธศาสนาชั้นสูงด้วยคติว่า "การกระทำและปัญญา ต้องไปด้วยกัน" หรือ "คณะดั่งกันและกัน" โดยปฏิบัติตามสิกขาบท 14 ประการ ซึ่งเลือกเฟ้นมาจากแก่นคำสอนในพระพุทธศาสนา
ผู้ได้รับการเสนอชื่อรางวัลโนเบลสาขา สันติภาพ
ช่วงที่ "พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์" กลับมาเวียดนามหลังการศึกษาในต่างประเทศเป็นช่วงที่คุกรุ่นด้วยไฟสงคราม และท่านตระหนักถึงการต่อสู้เพื่อสันติภาพ โดยรณรงค์ให้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือ รณรงค์ให้หยุดการสนับสนุนสงความโดยเฉพาะการแทรกแซงของสหรัฐฯ มุ่งเน้นสันติภาพ โดยปลูกจิตสำนึกผู้คนทั่วโลก จนมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King , Jr) เสนอพระอาจารย์ชื่อ ติช นัท ฮันห์ เข้ารับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ด้วยเหตุนี้รัฐบาลเวียดนามจึงปฏิเสธการกลับประเทศของท่าน แม้ว่าภายหลังจะมีการรวมประเทศก็ตาม
หมู่บ้านพลัม
เมื่อเวียดนามปฏิเสธการกลับเข้าประเทศ ท่านจึงต้องลี้ภัยอย่างเป็นทางการไปพำนักที่ประเทศฝรั่งเศส โดยเป็นอาจารย์สอนประวัติศาสตร์ในมหาวิทยาลัย และสร้างอาศรมนอกเมืองปารีสเพื่อเขียนหนังสือและปลูกพืชสมุนไพร ระหว่างนั้นท่านยังคงทำงานเพื่อสันติภาพ และเพื่อผู้ลี้ภัยอย่างสม่ำเสมอ การได้ร่วมทุกข์กับเพื่อนผู้ลี้ภัย ทำให้ท่านพบเห็นชะตากรรมของผู้ตกทุกข์ได้ยากมากมาย และมีวิธีการช่วยเหลือได้หลายช่องทางหลายวิธีการ หลังจากถูกเนรเทศจากเวียดนามนาน 39 ปี อันเป็นผลจากงานสร้างสันติภาพ และเพิ่งได้กลับเวียดนามเมื่อปีค.ศ. 2018 เพื่อใช้ชีวิตบั้นปลายในวัดของตน งานของติช นัท ฮันห์ ได้รับการสานต่อโดนชุมชน "หมู่บ้านพลัมนานาชาติ" ซึ่งเป็นเครือข่ายรากหญ้าระดับโลกที่นักบวชผู้นี้ก่อตั้งขึ้น ปัจจุบันมีชุมชนการปฏิบัติธรรมแห่งหมู่บ้านพลัมกระจายอยู่ในหลายประเทศ อาทิประเทศฝรั่งเศส อเมริกา เยอรมัน ฮ่องกง และล่าสุดที่ประเทศไทยโดยมีนักบวชกว่า 500 รูป จาก 20 ประเทศทั่วโลก และมีกลุ่มปฏิบัติธรรมตามแนวทางหมู่บ้านพลัม หรือ “สังฆะ” เกือบหนึ่งพันกลุ่ม กระจายอยู่ใน 31 ประเทศทั่วโลก
ที่มาข้อมูล : http://www.thaiplumvillage.org/