สถาปัตยกรรม "สุสานโมเดิร์น" เพราะการตายยุคใหม่ต้องตายแบบ มีสไตล์
ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปได้ทำให้งานสถาปัตยกรรมสุสานปรับไปตามสมัยนิยมเช่นกัน "สุสานโมเดิร์น" หลังนี้เป็นตัวอย่างของสุสานยุคใหม่ ที่ยังคงเชื่อในการเคารพผู้เสียชีวิต แต่ขอปรับแบบบ้านหลังความตายให้ออกมาในลักษณะที่ผู้ตายชอบ
"ความเชื่อ" ในการสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับบรรพบุรุษผู้ล่วงลับยังคงเป็นข้อขบคิดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การสร้างสุสานมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นที่อยู่สำหรับผู้ที่จากไป ทั้งยังเพื่อสร้างความสิริมงคลแก่ลูกหลาน ค่านิยมในการสร้างสุสานแม้ผ่านยุคผ่านสมัยยังคงเปี่ยมไปด้วยความเชื่อ หากแต่ถูกปรับเปลี่ยนรูปแบบทาง "สถาปัตยกรรม" ที่ให้ต่างออกไปตามสมัยนิยม
สุสานของครอบครัวโกยสมบูรณ์ ตั้งอยู่ที่ชุมชนบ้านกู้กู ตำบลรัษฎา อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต สถานที่แห่งนี้เป็นที่ตั้งของสุสานประจำตระกูลตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ บริบทโดยรอบจึงประกอบไปด้วยสุสานรูปแบบต่าง ๆ ทั้งฮวงซุ้ยแบบจีน และสุสานรูปทรงเจดีย์แบบไทย ซึ่งสื่อถึงความเชื่อ และการผสมผสานทางวัฒนธรรมทั้งไทยและจีนที่มีมาแต่อดีต
"สุสานโมเดิร์น" หลังนี้ ถูกออกแบบและสร้างขึ้นในปี 2021 โดยสะท้อนความต้องการของสามี และลูกชายที่ตั้งใจสร้างสุสานให้กับผู้เป็นภรรยา และแม่อันเป็นที่รัก โดยสอดคล้องกับความชอบส่วนตัวของตัวเองและคุณแม่ รวมถึงรูปแบบสถาปัตยกรรมที่นิยมในปัจจุบัน
สุสานหลังนี้ประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลัก ตามรูปแบบการใช้งาน ซึ่งประกอบด้วย หนึ่ง พื้นที่สำหรับบรรจุกระดูก สอง โต๊ะหรือแท่นสำหรับวางอาหาร เพื่อใช้เวลาประกอบพิธี และสามแผ่นหินสำหรับนั่งคุกเข่าเคารพศพ สุสานหลังนี้มีขนาด 3*3 เมตร สูง 2.4 เมตร ซึ่งขนาดของงานสถาปัตยกรรมชิ้นนี้เกิดจากหลักความเชื่อทางฮวงจุ้ยที่ขนาดของสุสานที่สร้างใหม่ ต้องมีขนาดเล็กกว่าสุสานของบรรพบุรุษที่ตั้งอยู่แล้วในบริเวณนั้น
สุสานหินสีขาว อันเป็น "สถาปัตยกรรมชิ้นหลัก" ใช้เป็นที่สำหรับบรรจุกระดูกของผู้เสียชีวิต รูปทรงของสุสานถูกออกแบบในรูปแบบโมเดิร์นที่เรียบง่าย บริเวณที่ใช้บรรจุกระดูกถูกเน้นด้วยเส้นเอียงเพื่อกำหนดรูปแบบการใช้งานให้กับกล่องสี่เหลี่ยมชิ้นนี้ ซึ่งประกอบด้วยช่องสำหรับบรรจุกระดูกจำนวน 4 ช่อง สำหรับสมาชิกในครอบครัว โดยเลือกใช้หินอ่อนสีขาว (White Carrara) เป็นวัสดุเพียงอย่างเดียวทั้งชิ้นเพื่อสร้างความโดดเด่น ในขณะเดียวกันก็ให้ความรู้สึกสงบแก่ลูกหลานที่มาสักการะ แท่นที่ตั้งอยู่ด้านหน้าใช้เป็นโต๊ะ สำหรับวางอาหารในการประกอบพิธีทางศาสนา เช่นการไหว้เชงเม้ง รูปทรงของแท่นนี้ถูกออกแบบให้สอดคล้องกับสถาปัตยกรรมชิ้นหลัก โดยใช้ลดทอนสัดส่วนให้เหมาะกับรูปแบบการใช้งาน ส่วนแผ่นหินสีขาวที่วางไว้บริเวณด้านหน้าใช้สำหรับเป็นที่นั่งของลูกหลานเมื่อมาประกอบพิธีไหวับรรพบุรุษ
งานสถาปัตยกรรม/ภาพ : PHTAA