รู้จัก...สถานภาพการอนุรักษ์ เค้าจำแนกจากอะไร
สถานภาพการอนุรักษ์ คือการจัดระดับความเสี่ยงของสิ่งมีชีวิตในปัจจุบันและในอนาคตอันใกล้ เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม และร่วมกันอนุกรักษ์อย่างยั่งยืน
เชื่อว่าหลายท่านอาจคุ้นเคยได้ยินได้ฟังมา เช่น เสือโคร่งเป็นชนิดพันธุ์ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered Species) วัวแดง เป็นชนิดพันธุ์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critical species -) ทำนองนี้เป็นต้น อะไรคือสิ่งที่นักอนุรักษ์ถือเป็นสถานภาพของสัตว์ป่าชนิดนั้น ๆ
การจัดสถานภาพสัตว์ป่า เป็นการเน้นให้เห็นความสำคัญของสัตว์ป่า เพื่อกระตุ้นเตือนให้ทุกภาคส่วนให้เร่งดำเนินการอนุรักษ์สัตว์ป่า การจัดสถานภาพสัตว์ป่าปัจจุบันมีสองระดับ คือในระดับสากลและระดับประเทศ
การจัดสถานภาพสัตว์ป่าในระดับสากล จะจัดลำดับสถานภาพจากการประเมินของสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (International Union for Conservation of Nature หรือ IUCN) ที่ มีการจัดแบ่งสถานภาพสัตว์ป่าเป็น 8ระดับ ดังนี้
EX - Extinct - สูญพันธุ์ สูญพันธุ์โดยสมบูรณ์ โดยมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับการตายของสัตว์ตัวสุดท้าย
EW - Extinct in the wild - สูญพันธ์ในธรรมชาติถูกคุกคามจนเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ
CR - Critically Endangered - ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งมีความเสี่ยงสูงมากที่จะสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติในขณะนี้
EN - Endangered - ใกล้สูญพันธุ์มีความเสี่ยงสูงที่จะสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ
VU - Vulnerable - มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์มีความเสี่ยงสูงที่จะสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติในภายหน้า
NT - Near Threatened - ใกล้ถูกคุกคามในภายภาคหน้า เป็นไปได้ว่าจะเข้าสู่สถานภาพ VU
LC - Least Concerned – มีความกังวลน้อย
DD - Data Deficient ข้อมูลไม่เพียงพอที่จะประเมิน
เกณฑ์ในการจำแนกสถานภาพพิจารณาโอกาสเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เช่น ชนิดที่อยู่ในขั้นวิกฤต (Critical species) เป็นชนิดที่มีโอกาสเสี่ยงร้อยละ 50 หรือมากกว่านั้นที่จะสูญพันธุ์ภายในอีก 5 ปี หรือ 2 รุ่น (generation) ชนิดที่กำลังใกล้จะสูญพันธุ์ (Endangered species) เป็นชนิดที่มีโอกาสเสี่ยงร้อยละ 20-50 ที่จะสูญพันธุ์ภายในอีก 20 ปี หรือ ๑๐ รุ่น และชนิดที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (Vulnerable species) เป็นชนิดที่มีโอกาสเสี่ยงร้อยละ 10-20 ที่จะสูญพันธุ์ภายในอีก 100 ปี
สำหรับในระดับประเทศนั้น มีการจัดสถานภาพสัตว์ป่า ที่เราคุ้นเคยกัน คือ สัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง ภายใต้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และสถานภาพจากการประเมินสถานภาพของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่จะแบ่งออกเป็น 8 ระดับคล้ายการจัดของ IUCN แต่พิจารณาเฉพาะสัตว์ป่าในประเทศไทย
อนุรักษ์ก่อนที่จะสูญสิ้น
ในภาพเป็นเพียงสัตว์ป่าตัวอย่าง ที่นำมาให้ชมกัน ซึ่งมีสถานภาพการอนุรักษ์ที่หลากหลายกันไป และยังมีอีกมากที่สถานภาพการอนุรักษ์น่าวิตกกังวลว่าจะสูญพันธุ์ ใครสนใจลองหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ อาทิเช่น IUCN Red list Data , สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่จะช่วยให้เราเห็นภาพและเข้าใจมากยิ่งขึ้น
อ้างอิง : ส่วนจัดการพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่า.๒๕๖๐ ข้อมูลเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในประเทศไทย. สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช https://www.iucnredlist.org
ขอบคุณภาพจากพี่ประภาส มั่นคง พนักงานพิทักษ์ป่า ส 3 ขสป.ห้วยขาแข้ง
ที่มา : เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง : Huai Kha Khaeng Wildlife Sanctuary