2 กุมภาพันธ์ "วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก" พื้นที่ที่มีความสำคัญต่อมวลมนุษยชาติ
สิ่งแวดล้อม เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ การใส่ใจ สิ่งแวดล้อม และช่วยกันดูแลรักษา สิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง ทว่ามันเป็นเรื่องของทุกคน วันนี้เป็นวัน "พื้นที่ชุ่มน้ำโลก" เรามาทำความรู้จักพื้นที่ชุ่มน้ำกัน
พื้นที่ชุ่มน้ำ คือพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นที่ลุ่ม ราบลุ่ม พื้นแฉะมีน้ำท่วมขัง ที่เกิดเองตามธรรมชาติและมนุษย์สร้างขึ้น รวมไปถึงพื้นที่ชายฝั่งทะเลและพื้นที่ของทะเล ในบริเวณเมื่อน้ำลดลงต่ำสุดมีความลึกของระดับน้ำไม่เกิน 6 เมตร
ความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำ
พื้นที่ชุ่มน้ำเป็นพื้นที่ที่มีระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์มากที่สุด และมีประโยชน์ คือเป็นแหล่งความหลากหลายของพืชและสัตว์นานาชนิดที่อาศัยทรัพยากรน้ำและทรัพยากรชีวภาพ ที่เป็นปัจจัยพื้นฐานในการดํารงชีวิตเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ ป้องกันน้ำท่วม ลดการพังทลายหน้าดิน ควบคุมการไหลเวียนของน้ำไปยังแหล่งน้ำใต้ดินและรักษาความสมดุลทางธรรมชาติ
และเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2514 นานาชาติได้ร่วมยกร่างและลงนามในการรับรอง “อนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสําคัญระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเป็นแหล่งที่อยู่ของนกน้ำ” ขึ้น ณ เมือง Ramsar ประเทศอิหร่าน และเป็นที่รู้จักกันในนามอนุสัญญาแรมซาร์ (ที่มา : ศูนย์สารสนเทศสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม)
กว่า 160 ประเทศทั่วโลกลงนามร่วมเป็นภาคีอนุสัญญา RAMSAR ว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ เพื่ออนุรักษ์พื้นที่และสิ่งมีชีวิตที่เกี่ยวข้องให้เกิดการใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน โดยใช้ชื่อของเมืองแรมซาร์ ประเทศอิหร่าน อันเคยเป็นสถานที่จัดการประชุมเพื่อรับรองอนุสัญญา มีจุดประสงค์เพื่ออนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความหลากลายทางชีวภาพและเกี่ยวข้องกับชนิดพันธุ์และชุมชนประชากรทางนิเวศของนกน้ำ และปลา โดยมีการกำหนดให้ทุกวันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก (World Wetlands Day) ทั้งนี้ก็เพื่อให้ทั่วโลกตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำ
15 พื้นที่ชุ่มน้ำของไทย ที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (Ramsar Sites)
ตามเกณฑ์การพิจารณาพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ทั้ง 9 เกณฑ์ เมื่อได้นำมาพิจารณาพื้นที่ชุ่มน้ำในไทยแล้ว พบว่าประเทศไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศทั้งหมด 15 พื้นที่ชุ่มน้ำด้วยกัน ดังนี้
1. พรุควนขี้เสี้ยน
ลำดับที่ 948 (13 กันยายน 2541) จังหวัด พัทลุง ตั้งบริเวณตอนเหนือ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย เป็นป่าพรุมีน้ำท่วมขังเป็นแหล่งทำรังวางไข่ของนกกาบบัว ที่พบได้ที่นี่เพียงที่เดียว
2. เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง
ลำดับที่ 1098 (5 กรกฎาคม 2544) จังหวัด บึงกาฬ บึงน้ำจืดขนาดใหญ่ เป็นแหล่งพักพิงของนกอพยพในฤดูหนาวไม่น้อยกว่า 33 ชนิด และพบนกมีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ในประเทศไทย คือ เป็ดดำหัวดำ
3. ดอนหอยหลอด
ลำดับที่ 1099 (5 กรกฎาคม 2544) จังหวัดสมุทรสงคราม พื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งทะเลที่หายาก หาดเลนเป็นที่อาศัยของหอยหลอดมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ
4. ปากแม่น้ำกระบี่
ลำดับที่ 1100 (5 กรกฎาคม 2544) จังหวัด กระบี่ ผืนป่าชายเลนที่สมบูรณ์ขึ้นหนาแน่น มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์นกที่ใกล้สูญพันธุ์ระดับโลกรวมทั้งถิ่นอาศัยของพะยูนซึ่งเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งของประเทศไทย
5. เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย
ลำดับที่ 1101 (5 กรกฎาคม 2544) จังหวัด เชียงราย บึงน้ำจืดขนาดเล็กแหล่งอาศัยนกอพยพอย่างน้อย 121 ชนิด และนกชนิดพันธุ์หายากซึ่งอยู่ในสถานภาพถูกคุกคามระดับโลก
6. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯ (พรุโต๊ะแดง)
ลำดับที่ 1102 (5 กรกฎาคม 2544) จังหวัด นราธิวาส เป็นป่าพรุดั้งเดิมผืนใหญ่ที่สุดของไทยที่คงเหลืออยู่พบพันธุ์ไม้เฉพาะถิ่นอย่างน้อย 50 ชนิด และสัตว์ที่มีสถานภาพถูกคุกคาม เช่น นกตะกรุม นกเปล้าใหญ่ เป็นต้น
7. อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง - ปากแม่น้ำตรัง
ลำดับที่ 1182 (14 สิงหาคม 2545) จังหวัด ตรัง เป็นถิ่นอาศัยของชนิดพันธุ์ที่หายากและอยู่ในสภาพถูกคุกคาม เช่น นกซ่อมทะเลอกแดง นกฟินฟุต และพะยูน เป็นที่พักของนกอพยพจากแอฟริกา คือ นกหัวโตกินปู ซึ่งในหนึ่งปีอาจพบได้เพียงไม่กี่ครั้ง
8. อุทยานแห่งชาติแหลมสน - ปากแม่น้ำกระบุรี - ปากคลองกะเปอร์
ลำดับที่ 1183 (14 สิงหาคม 2545) จังหวัด ระนอง มีระบบนิเวศหลากหลาย เป็นพื้นที่ป่าชายเลนแห่งแรกของโลก
9. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง
ลำดับที่ 1184 (14 สิงหาคม 2545) จังหวัด สุราษฎร์ธานี มีเกาะขนาดเล็ก - ใหญ่ ประมาณ 42 เกาะ เป็นแหล่งพักพิงของปลาในวัยเจริญพันธุ์ และวัยอ่อนของปลาเศรษฐกิจหลายชนิด เช่น ปลาทู ปลารัง ปลาเก๋า เป็นต้น และ เป็นแหล่งปะการังที่งดงามที่สุดของไทย
10. อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา
ลำดับที่ 1185 (14 สิงหาคม 2545) จังหวัด พังงาเป็นอ่าวตื้น ล้อมลอบด้วยป่าชายเลน และเป็นที่อาศัยของพะยูนซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวน
11. อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด
ลำดับที่ 2238 (14 มกราคม 2551) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งอยู่เชิงเขาของเทือกเขาสามร้อยยอดเป็นแหล่งพักพิงและสร้างรังวางไข่ของนกอพยพและเป็นแหล่งอาศัยที่สำคัญของเสือปลาที่ใหญ่ที่สุดในไทยซึ่งมีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง
12. กุดทิง
ลำดับที่ 1926 (19 มิถุนายน 2552) จังหวัด บึงกาฬ มีลักษณะเป็นกุดมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง พบพันธุ์ปลาเฉพาะถิ่นและเป็นแหล่งพักพิงของนกอพยพที่มีสถานภาพทุกคุกคามระดับโลกคือเป็ดดำหัวดำ
13. เกาะกระ
ลำดับที่ 2152 (12 สิงหาคม 2556) จังหวัด นครศรีธรรมราช เป็นเกาะขนาดเล็กบริเวณอ่าวไทยเป็นแหล่งปะการังหายากและแหล่งวางไข่ที่สำคัญของต่อตนุและต่อมะเฟือง
14. หมู่เกาะระ - เกาะพระทอง
ลำดับที่ 2153 (12 สิงหาคม 2556) จังหวัด พังงา มีความหลากหลายของระบบนิเวศเป็นถิ่นอาศัยของเต่าทะเลและนกตะกรุมซึ่งเป็นชนิดพันธุ์หายากและใกล้สูญพันธุ์
15. แม่น้ำสงครามตอนล่าง
ลำดับที่ 2420 (15 พฤษภาคม 1562) จังหวัดนครพนม มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีป่าบุ่งป่าทามผืนใหญ่ที่สำคัญยังคงเหลืออยู่ในภาคอีสาน พบสัตว์ที่อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งคือ ปลาบึก ปลาตองลาย ปลายี่สก
ที่มาบทความ : สำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ
http://wetlands.onep.go.th/wetland
ภาพประกอบ : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย