ไลฟ์สไตล์

คอเลสเตอรอลในเลือดสูง

คอเลสเตอรอลในเลือดสูง

02 มี.ค. 2553

คอเลสเตอรอล (Cholesterol) เป็นไขมันที่จำเป็นชนิดหนึ่งที่ร่างกายต้องการ สร้างฮอร์โมนและเกลือน้ำดี ซึ่งช่วยในการย่อยอาหารร่างกายของคนเรา ตับทำหน้าที่สังเคราะห์คอเลสเตอรอลได้ 80% ของความต้องการของร่างกาย

นอกจากนี้ยังได้รับจากอาหารประจำวันที่เป็นเนื้อสัตว์ ในแต่ละวัน ควรได้รับคอเลสเตอรอลไม่เกิน 300 มิลลิกรัม ถ้าได้รับคอเลสเตอรอลมากเกินความต้องการจะทำให้ระดับคอเลสเตอรอลสูงในเลือด
อันตรายจากคอเลสเตอรอลสูงในเลือด
 การบริโภคอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูงเกินความต้องการ คอเลสเตอรอลส่วนเกินจะพอกอยู่ตามผนังเส้นเลือด ซึ่งทำให้เส้นเลือดตีบ จนโลหิตไหลเวียนไม่สะดวก เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะเส้นเลือดตีบหรือแข็ง ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือดหรืออัมพาตได้
สาเหตุของภาวะคอเลสเตอรอลสูงในเลือด
 1.รับประทานอาหารไม่ถูกต้อง
  -อาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูงเป็นประจำ
  -กินอาหารที่มีไขมันสูงโดยเฉพาะไขมันจากสัตว์ ไขมันจากมะพร้าว และปาล์ม
 2.กรรมพันธุ์ ความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ประมาณ 20% ของผู้ที่มีคอเลสเตอรอล ญาติพี่น้องมีโอกาสเป็นโรคนี้
 3.โรคบางชนิด เช่น โรคไต โรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ โรคเบาหวาน โรคตับ เป็นต้น
จะทราบได้อย่างไรว่ามีคอเลสเตอรอลสูงในเลือด
 1.ตรวจเลือด ตรวจวัดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดหลังจากงดอาหารทุกชนิด 12 ชั่วโมง ถ้าคอเลสเตอรอลในเลือดสูงกว่า 200 มิลลิกรัม ในเลือด 100 มิลลิลิตร มีโอกาสเป็นโรคหัวใจขาดเลือดสูงถึง 3-5 เท่าของผู้ที่มีคอเลสเตอรอลต่ำกว่านี้
 2.ตรวจร่างกาย พบปื้นเหลืองที่ผิวหนังบริเวณข้อศอก เข่า ข้อพับ หรืออาจเกิดเป็นโค้งบนขอบนอกของกระจกตาขาว เนื่องจากคอเลสเตอรอลมาจับอยู่ตรงเนื้อเยื่อดังกล่าว
วิธีป้องกันและบำบัด
 1.ลดไขมันในอาหาร ให้ได้รับไม่เกินร้อยละ 30 ของพลังงานที่ได้รับ โดยเลี่ยงอาหารทอดกรอบ อาหารผัดมันมาก หรือหนังสัตว์ ให้ประกอบอาหารโดยการต้ม ตุ๋น นึ่ง ย่าง อบ ยำ แทน
 2.หลีกเลี่ยงไขมันอิ่มตัว ได้แก่ ไขมันสัตว์ เนย กะทิ น้ำมันปาล์ม มะพร้าว
 3.ควรเลือกใช้น้ำมันพืชในการประกอบอาหารแทนน้ำมันสัตว์ เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันรำ น้ำมันมะกอก น้ำมันถั่วลิสง แต่ต้องรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ
 4.ลดคอเลสเตอรอลในอาหารให้น้อยกว่า 300 มิลลิกรัมต่อวัน โดยควบคุมหรือจำกัดอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง โดยเฉพาะเครื่องในสัตว์ หนังสัตว์ ไข่แดง อาหารทะเลบางชนิด เช่น ปลาหมึก หอยนางรม เป็นต้น ควรรับประทานอาหารประเภทเนื้อปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน นมพร่องมันเนยหรือขาดมันเนย ไข่ควรรับประทานไข่เกิน 2 ฟองต่อสัปดาห์
 5.เพิ่มการรับประทานอาหารที่มีใยอาหารมาก ได้แก่ ผักชนิดต่างๆ ขนมปังที่ทำจากแป้งไม่ได้ขัดสี ข้าวซ้อมมือ และถั่วเมล็ดแห้ง เช่น ถั่วเขียว ถั่วดำ ถั่วแดง ทั้งนี้เพราะอาหารที่มีใยอาหารมากช่วยลดการดูดซึมคอเลสเตอรอลจากอาหารในลำไส้ได้ จึงสามารถลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้ด้วย
 6.งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
 7.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ให้เหมาะสมกับสภาพของร่างกาย เช่น วิ่งเหยาะๆ หรือเดินเป็นประจำทุกวัน อย่างน้อย 30 นาที ไม่ควรออกกำลังกายที่เป็นการแข่งขัน จะทำให้เกิดความเครียด
 8.ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
โรงพยาบาลเชียงใหม่ ราม
โทร.0-5322-4861