
"วัดมหาธาตุวรวิหาร" ชมความงาม ยุคสมัย "ชัยวรมันที่ 7"
พระเจ้า "ชัยวรมันที่ 7" กษัตริย์ของชาวกัมพูชา ที่ขยายพระราชอำนาจมาถึงราชบุรี ทรงเป็นที่รู้จักในฐานะผู้สถาปนานครธม นครหลวงแห่งสุดท้ายของอาณาจักรเขมร
ราชบุรี เดิมเรียกเมืองชยราชบุรี เป็นหัวเมืองในสมัยทวารวดี ไม่น่าเชื่อว่าเมืองที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ ขับรถชั่วโมงกว่า จะมีความงดงามของสถาปัตยกรรมแบบบายน ให้ชมโดยไม่ต้องไปไกลถึงเขมร
วัดมหาธาตุวรวิหาร
ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองราชบุรี เดิมเรียก วัดหน้าพระธาตุ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อยู่เกือบใจกลางเมืองเก่าราชบุรี หรือเมือง ชยราชบุรี ตามที่ปรากฏในศิลาจารึกปราสาทพระขรรค์รัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ. 1725 - 1760) มหาราชองค์สุดท้ายแห่งเขมรโบราณ ร่วมกับอีก 5 เมือง คือ
- ลโวทยปุระ (เมืองลพบุรี)
- สุวรรณปุระ (เมืองสุพรรณบุรี)
- ศัมพูกปัฏฏนะ (เมืองโกสินารายณ์ อ.บ้านโป่ง)
- ศรีวิชัยสิงหปุรี (เมืองสิงห์ กาญจนบุรี)
- ศรีชัยวัชระปุรี (เมืองเพชรบุรี)
ส่วนวัดมหาธาตุนี้ สันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยทวารวดีราวพุทธศตวรรษที่ 15-16 ไล่เลี่ยกับการสร้างเมืองราชบุรีเก่า ต่อมามีการสร้างศาสนสถานที่เรียกว่า ปราสาท ในศิลปะเขมรหรือลพบุรี ซ้อนทับ ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 18 เพื่อเป็นศูนย์กลางของเมืองตามความเชื่อเรื่องคติจักรวาลของเขมร ภายหลังปราสาทที่สร้างขึ้นชำรุดทรุดโทรมและหักพังลงมา จึงมีการสร้างปรางค์ใหม่ ในช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 ดังปรากฏรูปแบบสถาปัตยกรรมซ้อนทับ
ปรางค์
ประกอบไปด้วย ปรางค์ประธานและปรางค์บริวารทิศใต้ ตะวันตก เหนือ ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน ปรางคืประธานที่มุขยื่นออกมาทางตะวันออก มีบันไดขึ้น ฐานเรือนและฐานส่วนยอดประดับด้วยลายปูนปั้น ภายในองค์ปรางค์ประธานมีคูหาเชื่อมถึงกัน มีภาพจิตกรรมฝาผนังเกี่ยวกับอดีตของพระพุทธเจ้าในซุ้มเรือนแก้วเป็นแถวเรียงต่อกัน ตอนล่างเป็นพุทธประวัติงดงามมาก เสียดายที่ภายในห้ามถ่ายภาพ
ที่จังหวัดราชบุรี ยังมีสถานที่ที่น่าสนใจให้ค้นหา อีกมาก นี่เป็นส่วนหนึ่งในช่วงเวลาสั้น ๆ กับวันเดียวทริป ลองตั้งเป้าหมายในวันหยุด ออกไป "ชิม ช้อป ใช้" นอกบ้านในเส้นทางที่ไม่รู้จักดูบ้าง เชื่อว่าคุณจะได้ประสบการณ์และเรื่องพูดคุยไปอีกนาน