ไลฟ์สไตล์

13 กุมภาพันธ์ "วันรักนกเงือก" กับ "รัก"ที่ไม่ใช่เพียงการขยายพันธุ์ (มีคลิป)

13 กุมภาพันธ์ "วันรักนกเงือก" กับ "รัก"ที่ไม่ใช่เพียงการขยายพันธุ์ (มีคลิป)

13 ก.พ. 2565

มาทำความรู้จัก "นกเงือก" ซึ่งได้ชื่อว่า นกแห่งความรัก กับ "รัก"ที่ไม่ใช่เพียงการขยายพันธุ์ เนื่องในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็น "วันรักนกเงือก" พร้อมชมคลิปภาพความสวยงามของนกเงือก

หากถามว่า วันที่ 14 กุมภาพันธ์ เป็นวันอะไร ... เชื่อว่าทุกคนต้องรู้คำตอบว่าเป็น "วันแห่งความรัก"

แต่หากถามว่า วันที่ 13 กุมภาพันธ์ เป็นวันอะไร ... เชื่อว่า หลายคนคงไม่ทราบคำตอบ ว่านี่คือ "วันรักนกเงือก" 

แล้วทำไมเราถึงต้องรัก "นกเงือก" และทำไมจึงมีการพูดกันว่า นกเงือก คือ นกแห่งความรัก ... วันนี้ "คมชัดลึก ไลฟ์สไตล์" มีคำตอบให้

13 กุมภาพันธ์ \"วันรักนกเงือก\" กับ \"รัก\"ที่ไม่ใช่เพียงการขยายพันธุ์ (มีคลิป)
 

นกเงือก เป็นนกขนาดใหญ่ ส่วนมากมักมีขนสีดำสลับขาว ทั่วโลกมี 55 ชนิด พบแพร่กระจายอยู่ในแถบเขตร้อนของทวีปอัฟริกา และเอเชีย ส่วนในประเทศไทยมีทั้งหมด 13 สายพันธุ์ กระจายตัวอยู่ในผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์อย่างมาก โดยเฉพาะผืนป่าตะวันตก อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี

ความรักของนกเงือกไม่ได้สร้างกันง่าย ๆ เป็นนกผัวเดียวเมียเดียว และมีลักษณะการทำรังที่แปลกจากนกอื่น เมื่อนกเงือกเลือกคู่แล้ว ก็จะหาสถานที่ทำรังที่เหมาะสม โดยตัวผู้จะทำหน้าที่หาโพรงที่สัตว์ต่าง ๆ ทำทิ้งไว้ หรือที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติตามต้นไม้สูง เช่น ต้นยาง  ซึ่งมักอยู่ในที่ลับตา

13 กุมภาพันธ์ \"วันรักนกเงือก\" กับ \"รัก\"ที่ไม่ใช่เพียงการขยายพันธุ์ (มีคลิป)

เมื่อตัวเมียพอใจกับรังที่ตัวผู้นำเสนอ ตัวเมียจึงยอมให้ผสมพันธุ์ ก่อนที่ตัวเมียจะเข้าไปอยู่ในโพรง ทำความสะอาด แล้วนกทั้งคู่ก็จะช่วยกันหาเศษใบไม้ใบหญ้ามาสร้างรังเพื่อรอต้อนรับลูกน้อยที่กำลังจะลืมตาดูโลก จากนั้นก็จะหาเศษดิน เปลือกไม้ มาปิดปากรัง เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายจากสัตว์นักล่าต่าง ๆ รวมทั้งสร้างความอบอุ่นให้กับแม่ลูก โดยตัวเมียจะขังตัวอยู่ภายในเพื่อออกไข่เลี้ยงลูก

แม่นกเงือกจะคอยกกไข่และให้ความอบอุ่นกับลูกที่ฟักมาอยู่ภายในรัง โดยไม่ได้ออกไปไหน ตัวผู้จึงมีหน้าที่ออกหาอาหารเพื่อนำมาเลี้ยงชีวิตทั้งลูกน้อยและคู่รัก จนกว่าลูกนกจะโตพอบินได้ จึงกะเทาะปากโพรงที่สร้างด้วยเศษดินนั้นออกมา

13 กุมภาพันธ์ \"วันรักนกเงือก\" กับ \"รัก\"ที่ไม่ใช่เพียงการขยายพันธุ์ (มีคลิป)

ความรักของนกเงือกจึงเปรียบเสมือนรักแท้ในป่าทึบ เพราะหากวันใดวันหนึ่งที่นกตัวผู้เกิดไม่ออกหาอาหาร หรือตายไป คู่รักของมันที่รออยู่ที่โพรงก็จะยังคงรออยู่อย่างนั้น ไม่มีวันออกไปไหน รอจนหมดเรี่ยวแรงและตายลงไป พร้อมกับลูกนกเคราะห์ร้ายที่ไม่มีโอกาสได้ออกมาพบกับโลกภายนอก

นอกจากความรักและความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ของนกเงือกแล้ว นกเงือกยังเป็นสัตว์สำคัญที่เป็นตัวแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าที่มันอาศัยอยู่ เพราะมันจำเป็นต้องสร้างรังในโพรงต้นไม้สูง แข็งแรง ในป่าทึบ

และด้วยความหลากหลายของการกินอาหาร นกเงือกจึงเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงดุลยภาพต่าง ๆ ในสังคมป่าเขตร้อนให้คงอยู่ ทั้งนี้นกเงือกอาจมีอายุยืนยาวได้ถึง 30 ปี แต่ละตัวสามารถช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ไม้มากกว่า 100 ต้น/สัปดาห์ หากไม้เหล่านี้สามารถเจริญเป็นไม้ใหญ่ได้เพียง 5 เปอร์เซ็นต์ หนึ่งชีวิตของนกเงือกจะสามารถปลูกไม้สำคัญของป่าได้ถึง 500,000 ต้น

13 กุมภาพันธ์ \"วันรักนกเงือก\" กับ \"รัก\"ที่ไม่ใช่เพียงการขยายพันธุ์ (มีคลิป)

ดังนั้นความรักของนกเงือก จึงไม่ใช่เพียงเพื่อขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนให้กับสายพันธุ์ของมันเองเท่านั้น มันกลับเผื่อแผ่ความรักของมันให้กับป่า ให้กับสิ่งแวดล้อมรอบตัวของมัน ซึ่งมนุษย์เราก็ได้รับประโยชน์จากความรักนั้นในทางอ้อมจากความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ

ข้อมูลอ้างอิง : http://portal.dnp.go.th/Calendar?siteId=33&calendarId=207

ขอบคุณภาพ Facebook : Kit Kantakit