รู้จัก"มะเร็งปอด" หลังคร่าชีวิตพระเอกดัง "สรพงศ์ ชาตรี"
ทำความรู้จักโรคร้าย "มะเร็งปอด" หลังคร่าชีวิตพระเอกดัง "สรพงศ์ ชาตรี" จากที่เคยเป็นโรคนี้เมื่อประมาณ 5 ปีก่อน
จากกระแสข่าวที่ว่า พระเอกดังในอดีต “เอก” สรพงศ์ ชาตรี ป่วยด้วยโรค “มะเร็งปอด” และล่าสุดกลับมาเยือนพระเอกดัง "สรพงศ์ ชาตรี" อีกครั้ง หลังจากเคยเป็นโรคนี้เมื่อประมาณ 5 ปีก่อน และวันนี้ คมชัดลึกออนไลน์ จะไปทำรู้จักกับโรคนี้กันค่ะ
สาเหตุการเกิด "มะเร็งปอด"
โรคมะเร็งปอดที่เป็นโรคมะเร็งยอดฮิตที่พบได้บ่อยทั้งในผู้ชายและผู้หญิง เกิดจากเซลล์เนื้อเยื่อบุผิวเจริญเติบโตผิดปกติอย่างรวดเร็วจนไม่สามารถควบคุมได้ และเกิดเป็นก้อนเนื้อร้ายในที่สุด โดยเนื้อร้ายนี้ยังสามารถลุกลามและกระจายไปอวัยวะอื่นๆได้ กว่าผู้ป่วยจะรู้ตัวว่าตัวเองเป็นก็ทำให้ยากที่รักษาให้หายขาดได้เสียแล้ว ซึ่งอาจจะเกิดจากพฤติกรรมต่างๆ ที่คอยทำร้ายสุขภาพทั้งแบบรู้ตัว และแบบไม่รู้ตัว เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค “มะเร็งปอด”
การสูบบุหรี่ เป็นปัจจัยหลักถึง 80-90 % ของสาเหตุทั้งหมด เพราะในบุหรี่จะอุดมไปด้วยสารก่อมะเร็ง เมื่อสูดควันเข้าไปสารพวกนี้จะตรงเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อในร่างกาย ซึ่งปราการด่านแรกที่ต้องเจอกับสารพิษนี้คือปอดของเรานั่นเอง ซึ่งการสูดสารพิษเข้าสู่ร่างกายอย่างต่อเนื่องจะทำให้ร่างกายไม่สามารถซ่อมแซมได้ทันจนเกิดความเสียหายต่อเซลล์ และเกิดเป็นมะเร็งในที่สุด โดยคนที่สูบบุหรี่ 1 ซองต่อวันเป็นเวลา 20 ปี จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น 8-20 เท่า
อายุ ยิ่งอายุมากขึ้น อวัยวะรวมถึงเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายจะยิ่งทำงานเสื่อมสภาพลง โดยผู้ที่เสี่ยงจะเป็นมะเร็งปอดมากที่สุดจะอยู่ในช่วงอายุประมาณ 55 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่จัด การได้รับสารพิษหรือสารเคมีบางชนิด เช่น
- ผงแอสเบสตอส เป็นสารที่ก่อมะเร็งปอดได้ โดยผู้ที่ทำงานในโรงงานที่มีการใช้แอสเบสตอสจะมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากกว่าคนปกติถึง 7 เท่า
- ก๊าซเรดอน เป็นก๊าซสารกัมมันตภาพรังสี ซึ่งเกิดจากการสลายตัวของยูเรเนียม
- สารเคมีอื่นๆ เช่น สารหนู ถ่านหินที่ผู้ป่วยมักได้รับจากการประกอบอาชีพที่เกี่ยวกับโรงงานอุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่งสารพิษจากมลภาวะที่มาจากท่อไอเสียของยานพาหนะก็อาจเป็นสารกระตุ้นทำให้เป็นโรคมะเร็งปอดได้
- พันธุกรรม หากบุคคลในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นมะเร็งปอด จะทำให้เรามีโอกาสเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นด้วย
อาการของ "มะเร็งปอด"
มะเร็งปอดส่วนมากจะไม่ค่อยแสดงอาการในระยะแรก แต่จะมีสัญญาณที่บ่งบอกถึงการเกิดโรคเมื่อมีการเจริญเติบโตของมะเร็งมากขึ้น อาการจะแตกต่างกันไปแล้วแต่ตำแหน่งของก้อนที่เกิดขึ้น เช่น ไอเรื้อรัง ไอมีเลือดปนเสมหะ ไอเลือดสด หายใจมีเสียงดังผิดปกติ เจ็บหน้าอก
การรักษา "มะเร็งปอด"
เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปอด การรักษาจะขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง ระยะของมะเร็ง และความแข็งแรงของผู้ป่วย แพทย์จึงสามารถระบุวิธีที่เหมาะสมที่ใช้ในการรักษาได้ ซึ่งทางเลือกการรักษามีทั้งการผ่าตัด การฉายแสง การใช้ยาเคมีบำบัด การใช้ยาแบบจำเพาะเจาะจง
อย่างที่เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าสาเหตุที่สำคัญ คือ "บุหรี่" วิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือ การงดสูบบุหรี่ หรือหลีกเลี่ยงการรับควันบุหรี่มือสอง และที่สำคัญอีกประการคือการตรวจคัดกรองสุขภาพปอดอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำโดยการเอ็กซเรย์ปอดทุกปี หรือการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอด ในคนที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็งปอด จะทำให้สามารถตรวจพบและรักษามะเร็งได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม
ที่มาข้อมูล : โรงพยาบาลพระราม9