
"ขนุนดิน" แก้หอบ-หืด
04 มี.ค. 2553
เชื่อว่าคนที่ชอบเดินป่าคงจะได้เห็นต้น "ขนุนดิน" อยู่บ่อยๆ ด้วยรูปร่างแปลกตา คือบางครั้งจะเห็นเพียงช่อดอกโผล่พ้นดินขึ้นมาเพื่อผสมพันธุ์ ชาวอีสานมักนำหัวหรือลำต้นมาทำเป็นยาแก้โรคหอบหืด นอกจากนี้ยังนำเป็นส่วนประกอบเครื่องยาโรคหัวใจอีกด้วย
เป็นพืชเบียน ในวงศ์ BALANOPHORACEAE ลำต้นสีแดงรวมกันเป็นกลุ่มก้อน สูงตั้งแต่ใต้ดินถึงปลายยอดราว 10-15 เซนติเมตร
ใบ เป็นใบเดี่ยวขนาดเล็กขึ้นเรียงตรงกันรอบๆ ต้น แต่ละต้นมีราว 10-20 ใบ
ดอก ออกเป็นช่อ โดยดอกเพศผู้และเพศเมียแยกกันคนละต้น ดอกเพศผู้ชูก้านเหนือดิน ยาว 6-12 เซนติเมตร กว้าง 2-4 เซนติเมตร มี 6 กลีบ สีเหลืองอมเขียวอ่อน ส่วนดอกเพศเมีย ยาว 3-5 เซนติเมตร มีดอกย่อยขนาดเล็กเรียงชิดติดกันแน่น สีน้ำตาลอมแดง กลิ่นหอมเอียน
ขยายพันธุ์ แยกหัวปลูก ชอบดินร่วน ความชื้นมาก แสงแดดปานกลาง
"นายสวีสอง"