อย่ามองข้าม "เสื้อชูชีพ" อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยสำหรับคนใกล้น้ำ
ใครที่ชื่นชอบท่องเที่ยวแม่น้ำ ทะเล หรือจำเป็นต้องโดยสารเรือ การสวมใส่ "เสื้อชูชีพ" ถือเป็นเรื่องจำเป็นที่ไม่ควรมองข้าม เพราะจะเป็นสิ่งที่จะช่วยชีวิตเราได้
"เสื้อชูชีพ" คือ อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยที่สำคัญที่สุดสำหรับคนที่ว่ายน้ำไม่เป็น ควรสวมเสื้อชูชีพไว้เพื่อให้เรามั่นใจว่ายังไงก็ไม่จม
คู่มือการใช้ "เสื้อชูชีพ"
เสื้อชูชีพ เป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญอย่างมากในการเดินทางโดยสารทางเรือหรือการเล่น กีฬาทางน้ำ อาทิ การดำน้ำแบบผิวน้ำ เพื่อชมปะการังน้ำตื้น เจ็ตสกี สกีน้ำ การแล่นเรือใบ การล่องลำน้ำหรือทะเลสาปด้วยเรือแคนู หรือเรือคายัค การล่องแก่งตามลำน้ำเชี่ยวกรากด้วยเรือยาง การตกปลาขณะอยู่ในเรือ ฯลฯ ส่วนที่สำคัญที่สุดของเสื้อชูชีพก็คือ เป็นอุปกรณ์ช่วยชีวิตผู้ประสพภัยทางน้ำ ซึ่งเรือแต่ละลำจะต้องมีชูชีพติดประจำเรือในจำนวนที่ไม่น้อยกว่าผู้โดยสาร อยู่ตลอดเวลาตามกฎหมายของกรมเจ้าท่าที่ได้ประกาศออกมาบังคับใช้เป็นข้อกำหนด
ประเภทของ "เสื้อชูชีพ"
เสื้อชูชีพประเภทโฟม เป็นโฟมสังเคราะห์พิเศษ จะมีคุณสมบัติทำให้ผู้ที่สวมใส่สามารถลอยตัวในน้ำได้ และยังสามารถทนแรงกระแทกได้ดีเยี่ยม ซึ่งมีอยู่ 2 ชนิด คือ EVA Foam & P.E .Foam ซึ่งทั้ง 2 ชนิด จะมีลักษณะเป็นแผ่นเรียบ เหนียว ลอยตัวในน้ำได้ดี เป็นฉนวนกันความร้อนและสามารถทนต่อแรงกระแทกได้ดีเยี่ยม แต่ต่างกันตรงที่ EVA Foam จะมีความยืดหยุ่นและหลากสี ส่วน P.E. Foam มีน้ำหนักเบากว่าและมีเฉพาะสีขาว
เสื้อชูชีพพองลม จะทำให้ผู้สวมใส่เกิดความคล่องตัว และสบายตัวกว่าแบบโฟมมาก แต่จะต้องทำการส่งศูนย์ตรวจสอบทุกๆ ปีว่าเสื้อเรายังอยู่ในสภาพที่ใช้การได้ดีหรือไม่ เสื้อบางประเภทก็มีถึง 2 ถุงลม และ"เสื้อชูชีพ" แบบพองลม ก็ยังมี 3 แบบ คือ
- เสื้อชูชีพแบบพองลมอัตโนมัติทำงานเองเมื่อสัมผัสน้ำ เหมาะกับผู้สวมใส่ที่อาจได้รับอันตรายหรือหมดสติและผู้ที่
- ทำงานบนเรือสินค้า หรือเรือเดินทะเล
- ระบบเป่าลมด้วยหลอดให้เสื้อพองตัว (โดยหลอดเป่าที่ติดมากับเสื้อ) เหมาะกับผู้สวมใส่ที่ยังคงมีสติอยู่ ในขณะประสบเหตุหรือผู้ที่ทำงานบนอากาศยาน ที่ต้องบินเหนือแหล่งน้ำ
- เสื้อชูชีพแบบพองลมด้วยมือ ต้องใช้มือกระตุกเองเท่านั้นเสื้อถึงจะทำงาน เหมาะกับผู้สวมใส่ที่ยังคงมีสติอยู่ ในขณะประสบเหตุเช่นกัน
ควรสวมใส่ "เสื้อชูชีพ" เมื่อไรและสวมอย่างไร
- ก่อนออกเรือสู่ลำน้ำหรือท้องทะเล ควรสวมใส่ชูชีพตลอดเวลา หากไม่สวมก็ควรวางไว้ใกล้ตัวที่สามารถจะหยิบฉวยได้ง่าย ซึ่งเป็นกรณีที่คลื่นลมสงบและไม่มีฝนตก
- ควรหัดลองสวมชูชีพให้เป็นก่อนออกเดินทาง โดยเฉพาะควรสอนให้เด็กได้รู้จักวิธีใช้ด้วย
- ก่อนการลงน้ำเพื่อเล่นกีฬาทางน้ำ ควรสวมชูชีพทุกครั้ง มิใช่สวมใส่ขณะที่อยู่ในน้ำซึ่งจะทำได้ค่อนข้างลำบาก
หลักการเลือก "เสื้อชูชีพ" สำหรับการเล่นกีฬาทางน้ำ
- ควรเลือกเสื้อชูชีพที่ภายในบรรจุด้วยโฟมสังเคราะห์ชนิด P.E. ซึ่งมีคุณสมบัติในการลอยตัวในน้ำและสามารถทนต่อแรงกระแทกได้ดีกว่าชนิด EVA
- ควรเลือกชูชีพที่มีลักษณะแบบแจ็คเก็ต ซึ่งจะทำให้ผู้สวมใส่เคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ
- ควรมีสายรัดอกและสายรัดเอวที่สามารถเลื่อนปรับให้กระชับแก่ร่างกายได้ ควรมีสายรัดระหว่างขาจากด้านหลังมาด้านหน้าจำนวน 2 เส้น เพื่อคอยรั้งมิให้ขอบชูชีพบริเวณหัวไหล่เกิดการลอยตัวสูงขึ้นจนปิดใบหน้าและคอขณะที่ลอยตัวอยู่ในน้ำ
- ควรมีสีสันฉูดฉาดหรือสีสะท้อนแสงตัดกับสีน้ำทะเลเพื่อให้เป็นที่สะดุดตาแก่ผู้พบเห็นได้ในระยะไกล และเป็นการป้องกันเรือวิ่งชนขณะเล่นน้ำดำน้ำอย่างเพลิดเพลิน
- ในชูชีพควรมี “นกหวีดน้ำ” ผูกติดอยู่กับตัวเสื้อชูชีพ เพื่อไว้ใช้เรียกขอความช่วยเหลือกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน
เมื่อเลือกได้แล้วก็ลองสวมแล้วปรับสายรัดอก สายรัดเอว และสายรัดระหว่างขา ดูว่าเหมาะสมกับสรีระร่างกายของเรา และสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระขณะสวมใส่หรือไม่