ไลฟ์สไตล์

อ่าน "โรคไซโคพาธ" อึ้งเรื่องพฤติกรรมคน รู้จักก่อนเปลี่ยนเป็นคดีได้ภายหลัง

อ่าน "โรคไซโคพาธ" อึ้งเรื่องพฤติกรรมคน รู้จักก่อนเปลี่ยนเป็นคดีได้ภายหลัง

06 มี.ค. 2565

"ไซโคพาธ" โรคบุคลิกภาพผิดปกติ ขาดความสำนึกผิดความรู้สึกด้านชาไม่เกรงกลัว ขาดความยับยั้งชั่งใจ เอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลาง

จากข่าวการเสียชีวิตแบบไม่ชอบมาพากลของดาราสาว “แตงโม นิดา” ทำให้ชาวเน็ตลุกฮือกันตามสืบเรื่องนี้ และคอยจับผิดจับโป๊ะเพื่อนทั้ง 5 คนที่อยู่บนเรือในวันนั้น โดยเฉพาะเพื่อนสนิทคนหนึ่งที่ไม่ว่าจะตอบคำถามอะไรก็กลายเป็นประเด็นที่ทำให้สังคมเกิดความเคลือบแคลงสงสัยทั้งสิ้น จนเกิดเป็นประเด็นคำถามขึ้นในใจหลายคนว่าทำไมใจร้าย? ไม่มีความเห็นอกเห็นใจ? หรือไม่..แม้แต่จะรู้สึกผิดในสิ่งที่ตัวเองได้ทำลงไป

 

ซึ่งอาการดังที่กล่าวมานั้น ในทางการแพทย์มองว่าอาจเป็นเพราะเขามีปัญหาทางสุขภาพจิตอยู่ก็เป็นได้ โดยจัดเป็นหนึ่งในกลุ่มของโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า “ไซโคพาธ” (Psychopaths) และวันนี้ คมชัดลึกออนไลน์ จะพาไปทำความรู้จักกับโรคนี้กันค่ะ

 

อ่าน \"โรคไซโคพาธ\" อึ้งเรื่องพฤติกรรมคน รู้จักก่อนเปลี่ยนเป็นคดีได้ภายหลัง

 

 

"ไซโคพาธ" คืออะไร

 

ไซโคพาธ (Psychopaths) จัดเป็นหนึ่งในกลุ่มของโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder) ผู้ป่วยจะมีลักษณะขาดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ขาดความสำนึกผิด ไม่มีความยับยั้งชั่งใจ ดูคล้าย ๆ คนที่มีนิสัยแข็งกระด้าง ไร้ความเมตตาปรานี

 

 

"ไซโคพาธ" เกิดจากอะไร

 

ในทางการแพทย์จะแยกสาเหตุของโรคไซโคพาธออกเป็น 2 ด้าน คือ

 

1. ด้านทางกาย

 

จากความผิดปกติของสมองส่วนหน้า และสมองส่วนอะมิกดาลา รวมไปถึงความผิดปกติของสารเคมีในสมอง อันเนื่องมาจากอุบัติเหตุทางสมองหรือได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรม

 

2. ด้านจิตใจและสังคม

 

การถูกทารุณกรรมในวัยเด็ก ต้องเผชิญกับอาชญากรรมในครอบครัว ความแตกแยกในครอบครัว หรือการอยู่ในสภาพสังคมที่โหดร้ายมาตั้งแต่วัยเยาว์ หรือแม้แต่การเลี้ยงดูแบบละเลยเพิกเฉยก็นับเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคไซโคพาธได้เช่นกัน

 

 

"ไซโคพาธ" อาการเป็นอย่างไร

 

สังคมสมัยนี้เราอาจจะพบเจอกับคนเห็นแก่ตัว คนที่สนใจแต่ความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง และทำตัวใจร้ายกับคนอื่นอยู่บ่อยๆ แต่ขนาดไหนจะถึงขั้นเป็นไซโคพาธ ลองพิจารณาจากอาการเหล่านี้ดู

 

  1. มีจิตใจที่แข็งกระด้าง โดยมักจะแสดงออกทางการกระทำให้เห็นอยู่บ่อย ๆ
  2. มีพฤติกรรมตอบสนองความต้องการของตัวเองโดยไม่สนใจวาจะส่งผลกระทบต่อผู้อื่นยังไงบ้าง
  3. มีพฤติกรรมไม่รับผิดชอบต่อสังคม
  4. มีพฤติกรรมโกหกและบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อให้ได้สิ่งที่ตัวเองต้องการ
  5. มีอารมณ์และความคิดที่ผิดปกติ โดยเฉพาะเมื่อต้องเข้าสังคม
  6. ขาดมาตรฐานในการแยกสิ่งถูก สิ่งผิด กล่าวคือจะตัดสินถูกหรือผิดโดยอิงจากผลประโยชน์ที่ตัวเองจะได้
  7. มีความรู้สึกด้านชา ไม่เกรงกลัว ต่อให้ตัวเองทำในสิ่งที่ผิดกฎหมายและกำลังจะได้รับโทษก็ตาม
  8. อาจมีพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง หรือมีสิทธิ์ก่ออาชญากรรมได้

 

 

"ไซโคพาธ" รักษาได้ไหม

 

การรักษาโรคไซโคพาธก็พอมีอยู่บ้าง ทั้งการรักษาด้วยยา โดยเฉพาะในคนที่มีโรคจิตเวชเกิดร่วมกับโรคไซโคพาธ หรือการรักษาด้วยการปรับพฤติกรรมโดยใช้หลักเกณฑ์ทางจิตวิทยา แต่โดยส่วนมากแล้วผู้ป่วยไซโคพาธมักจะไม่ให้ความร่วมมือในการรักษา เพราะไม่รู้สึกว่าสิ่งที่ตัวเองเป็นจะใช่อาการป่วย หรือเป็นสิ่งที่ผิด ที่ควรต้องรีบรักษาให้หาย

 

นอกจากนี้การพยากรณ์ของโรคยังทำได้ยาก เนื่องจากผู้ป่วยจะใช้ชีวิตตามปกติทั่วไป โดยอาจจะถูกมองว่าเป็นแค่คนเห็นแก่ตัวคนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งหากไม่ได้มีพฤติกรรมทำร้ายใครซ้ำ ๆ หรือก่ออาชญากรรมต่อเนื่อง ก็อาจแยกโรคนี้ได้ยาก ซึ่งก็จะทำให้ผู้ป่วยพลาดการรักษาที่ถูกต้องไปด้วย

 

ที่สำคัญการลงโทษผู้ป่วยไซโคพาธก็อาจไม่ได้ส่งผลใดๆ กับผู้ป่วยเลย เนื่องจากผู้ป่วยมีความด้านชาในด้านความรู้สึกผิดชอบชั่วดี และไม่มีความเกรงกลัวต่อบทลงโทษใดๆ

 

 

การป้องกันโรค "ไซโคพาธ" มีข้อแนะนำ ดังนี้

 

  1. พยายามสร้างครอบครัวที่ดี อบอุ่น สังคมที่มีแต่การเอื้อเฟื้อดูแลกัน เพื่อลดโอกาสที่อาจทำให้เกิดโรคไซโคพาธในเด็ก
  2. ควรดูแลตัวเองให้ดี พยายามอย่าให้สมองต้องกระทบกระเทือน โดยเฉพาะสมองส่วนหน้า และสมองส่วนอะมิกดาลา
  3. ในกรณีที่พบเจอผู้ป่วยไซโคพาธ พยายามหลีกเลี่ยงให้ได้มากที่สุด อย่าไปยุ่งเกี่ยว

 

"ไซโคพาธ" จัดเป็นโรคที่น่ากลัวโรคหนึ่ง เพราะเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่า ผู้ป่วยจะสามารถกระทำการรุนแรงได้ถึงขนาดไหน อีกทั้งการที่ไม่รู้ว่าตัวเองป่วย และใช้ชีวิตอยู่ในสังคมร่วมกับคนอื่นๆ ก็เป็นความเสี่ยงทางสังคมอย่างหนึ่ง ดังนั้นหากพบคนที่มีลักษณะอาการเข้าข่ายโรคนี้ ก็ควรอยู่ห่างๆ ไว้ก่อน หรือในกรณีที่เป็นคนใกล้ชิด เป็นคนใกล้ตัว ก็ควรรีบพาเขาไปรักษาให้ถูกต้องจะดีที่สุด

 

 

ขอบคุณข้อมูลจากเฟซบุ๊ก : กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข / ประชาสัมพันธ์กรมสุขภาพจิต