ไลฟ์สไตล์

เรียนรู้ "เครื่องโขน" ผ่านนิทรรศการ "วิจิตราภรณ์และงานประณีตศิลป์แห่งโขน"

เรียนรู้ "เครื่องโขน" ผ่านนิทรรศการ "วิจิตราภรณ์และงานประณีตศิลป์แห่งโขน"

04 มี.ค. 2565

นิทรรศการ "วิจิตราภรณ์และงานประณีตศิลป์แห่งโขน" สืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อการอนุรักษ์และพัฒนา "โขน" มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ

กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.)โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กรมศิลปากร และสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ร่วมกับ สถาบันไทยคดีศึกษา และคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดนิทรรศการ “วิจิตราภรณ์และงานประณีตศิลป์แห่งโขน” สืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อการอนุรักษ์และพัฒนา “โขน” มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ

 

เรียนรู้ \"เครื่องโขน\" ผ่านนิทรรศการ \"วิจิตราภรณ์และงานประณีตศิลป์แห่งโขน\"

 

เรียนรู้ \"เครื่องโขน\" ผ่านนิทรรศการ \"วิจิตราภรณ์และงานประณีตศิลป์แห่งโขน\"

 

สำหรับนิทรรศการ “วิจิตราภรณ์และงานประณีตศิลป์แห่งโขน” จัดแสดง “เครื่องโขน” โบราณในส่วนของศีรษะโขนที่เก่าแก่ที่สุด ได้แก่ “ศีรษะกุมภกรรณหน้าทองแดง” ซึ่งยืมมาจากพิพิธภัณฑ์วัดพระแก้ว จ.เชียงราย อายุ 135 ปี “เศียรพระคเณศ” ผลงานของครูชิต แก้วดวงใหญ่ และศีรษะโขนในตำนาน คือ “ศีรษะทศกัณฐ์หน้าทองเขี้ยวแก้ว” ที่เก็บรักษาไว้ที่สำนักการสังคีต กรมศิลปากร และ “ศีรษะหนุมานหน้ามุก” สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งเป็นของกรมมหรสพมาแต่เดิม รวมทั้งเครื่องประดับโขนโบราณสมัยรัชกาลที่ 6 ชุดห้อยหน้ารูปหัวกะโหลกพระคเณศและเครื่องแต่งกายโขนโบราณชุดของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และเครื่องโขนโบราณงานฝีมือชั้นครูอายุไม่ต่ำกว่า 100 ปี  

 

เรียนรู้ \"เครื่องโขน\" ผ่านนิทรรศการ \"วิจิตราภรณ์และงานประณีตศิลป์แห่งโขน\"

 

เรียนรู้ \"เครื่องโขน\" ผ่านนิทรรศการ \"วิจิตราภรณ์และงานประณีตศิลป์แห่งโขน\"

 

นอกจากนี้ ยังมีงานร่วมสมัยที่นำมาจัดแสดง อาทิ งานออกแบบเครื่องโขนต้นแบบของอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี พ.ศ. 2543 “เศียรฤาษีวาลมีกิ” ผลงานของ นิรันดร์ ยังเขียวสด ซึ่งฤาษีวาลมีกินี้นักประวัติศาสตร์ให้ความเห็นว่าเป็นผู้แต่งเรื่องรามายณะขึ้นเป็นคนแรก ฉากลับแลทศกัณฐ์ลงสวนของอาจารย์หทัย บุนนาค และงานชิ้นที่สำคัญคือ ผ้าห่มนางกรองทองของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งเป็นการฟื้นฟูงานช่างโบราณด้วยวิธีถัก ปักและสอดปีกแมลงทับ นับเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นเอกของยุคปัจจุบัน รวมถึงผลงานของครูและศิษย์ จากวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตรัตนโกสินทร์  โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (ชาย) ร่วมจัดแสดงรวมทั้งหมดกว่า 100 ผลงาน

 

เรียนรู้ \"เครื่องโขน\" ผ่านนิทรรศการ \"วิจิตราภรณ์และงานประณีตศิลป์แห่งโขน\"

 

ทั้งนี้ นิทรรศการ "วิจิตราภรณ์และงานประณีตศิลป์แห่งโขน" จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ - 25 มีนาคม 2565 เข้าชมได้ทุกวันอังคาร - อาทิตย์ เวลา 10.00 - 19.00 น. ที่หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน กรุงเทพฯ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สอบถามรายละเอียดได้ที่สายด่วนวัฒนธรรม 1765 และดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ แฟนเพจเฟซบุ๊ก สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย หัวข้อ เล่าเรื่องร่วมสมัย