ไลฟ์สไตล์

ตั้ง "นามสกุล" สั้น-ยาวแค่ไหน  ต้องรู้หลักเกณฑ์ ก่อนไปจดทะเบียนที่อำเภอ

ตั้ง "นามสกุล" สั้น-ยาวแค่ไหน ต้องรู้หลักเกณฑ์ ก่อนไปจดทะเบียนที่อำเภอ

26 มี.ค. 2565

หลายคนอาจไม่รู้มาก่อนว่าการจะขอจดทะเบียนตั้ง "นามสกุล" นั้น มีหลักเกณฑ์อย่างไรบ้าง วันนี้ คมชัดลึกออนไลน์ หาคำตอบมาให้แล้ว

จากที่ชาวเน็ตได้แชร์ภาพของเด็กนักเรียนคนหนึ่งที่นามสกุลยาวมาก ซึ่งทำให้ชาวเน็ตถึงกับอึ้งเมื่อเห็นนามสกุลที่ปักอยู่บนเสื้อนักเรียนหญิงคนดังกล่าว อาจจะเรียกได้ยาวที่สุดในโลกเลยทีเดียว โดยชื่อโรงเรียนมีอักษรย่อว่า ป.ย. พร้อมกับระบุชื่อว่า “เจนจิรา เลิศรัตนโสภาพิบูรณ์ชัยศรีรัตน์ศิริกุลศุลกากรสุริญะกานต์อัญมณีแห่งฉัตรพิทักษ์ ไพศาล” 

 

งานนี้ทำเอาหลายคนสงสัยกันมาก ต่างตั้งคำถามว่านามสกุลยาวๆ แบบนี้มีจริงไหม ตั้งจริงๆ หรือล้อเล่น จริงหรือที่นามสกุลจะยาวขนาดนี้ นายทะเบียนจะยอมจดทะเบียนนามสกุลให้หรือ ซึ่งวันนี้ คมชัดลึกออนไลน์ หาคำตอบมาให้แล้ว ดังนี้

 

ตามพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ.2505 ระบุไว้ว่า บุคคลสัญชาติไทย ต้องมีชื่อตัวและชื่อสกุล และอาจจะมีชื่อรองด้วยก็ได้ ทั้งนี้ได้อธิบายความหมายของชื่อตัว ชื่อสกุลและชื่อรองไว้ดังนี้

 

"ชื่อตัว" หมายความว่า ชื่อประจำบุคคล

"ชื่อรอง" หมายความว่า ชื่อประกอบถัดจากชื่อตัว

"ชื่อสกุล" หมายความว่า ชื่อประจำวงศ์สกุล

 

หลักเกณฑ์การตั้งชื่อตัว และชื่อรอง มีดังนี้

 

  • ต้องไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับพระปรมาภิไธย หรือพระนามของพระราชินี หรือราชทินนาม
  • ต้องไม่เป็นคำหยาบหรือมีความหมายหยาบคาย
  • ต้องไม่มีเจตนาในทางทุจริต
  • ผู้ได้รับหรือเคยได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ โดยมิได้ถูกถอด จะใช้ราชทินนามตามบรรดาศักดิ์เป็น ชื่อตัวจริง ชื่อรองก็ได้

 

สำหรับหลักเกณฑ์การตั้งนามสกุล มีดังนี้

 

  • ไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับพระปรมาภิไธย หรือพระนาม ของพระราชินี
  • ไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับราชทินนามเว้นแต่ราชทินนาม ของตน ของผู้บุพการี หรือของผู้สืบสันดาน
  • ไม่ซ้ำกับชื่อสกุลที่ได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ หรือ ชื่อสกุลที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว
  • ไม่มีคำหรือความหมายหยาบคาย
  • มีพยัญชนะไม่เกินกว่าสิบพยัญชนะ เว้นแต่กรณีใช้ราชทินนาม เป็นชื่อสกุล

 

ที่มาข้อมูล : สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย http://www.dopa.go.th