"ธนบัตรชำรุด" แลกคืนได้หรือไม่ ชำรุดแบบไหน แลกได้เท่าไหร่...เช็คเลย
"ธนบัตรชำรุด" แลกคืนได้หรือไม่ ชำรุดแบบไหน แลกได้เท่าไหร่ แลกได้ที่ไหน และมีหลักเกณฑ์การรับแลกอย่างไรบ้าง
จากที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ได้โพสต์รูปแบงก์ที่ถูกปลวกกิน พร้อมระบุข้อความว่า "อย่าหาเอาตังหยอดออมสิน หายไปเกือบแสน หยอดตั้งแต่ท้องอ่อน กะว่าจะเอาไว้บวชลูก ห่ามึงเอ้ยยยย ดีนะลูกมาขยับถัง ถึงได้รู้ว่า ปลวกกิน!! เกือบหมดแล้ว เฉพาะที่ย้ายมาจากออมสินเก่า 20,000 กว่า เก็บใหม่อีก แฟนหยอดใหม่อีก 20,000 กว่า ตอนนี้นับเหลือแบงก์ 4,000 น้ำตาตกใน ถือสะว่าใช้หนี้เวรหนี้กรรม ฟาดเคราะห์ไปที่ผ่านมา หยอดอาหารให้ปลวกทุกวัน ร้องไม่ออก เก็บไว้เตือนความจำ ทำบุญให้ปลวก"
นางสาว คิราณัฏฐ์ ทองโสพล เจ้าของโพสต์ดังกล่าว เปิดเผยว่า เสียใจมาก แต่ก็ถือว่าเป็นการฟาดเคราะห์ไป ซึ่งเงินจำนวนนี้ตนและแฟน ตั้งใจหยอดเก็บไว้เป็นค่างานบวชลูกชาย แต่ลูกชายยังไม่ทันโต ก็มาโดนปลวกกินเสียก่อน โดยตัวเองเริ่มหยอดเมื่อช่วงเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว บังเอิญวันเสาร์ที่ 19 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ลูกชายตนโต อายุ 1 ขวบ 6 เดือน ไปโดนถังออมสินที่ทำมาจากไม้อัดที่เก็บเงิน ถังออมสินเลยขยับ ถึงได้รู้ว่าถังโดนปลวกกิน ตอนนั้นตกใจมากรีบเปิดถังดู ปรากฏว่าแบงก์โดนปลวกกินไปเกือบหมด จึงรีบนำออกมานับ ปรากฏว่าเหลือแบงก์และเหรียญที่นับได้ ตอนนี้ 4-5 พันบาท เท่านั้น ส่วนแบงก์ที่โดนปลวกกินจะลองนำไปให้สอบถามกับธนาคารว่าสามารถแลกได้หรือไม่
วันนี้ คมชัดลึกออนไลน์ จะพาไปดูกันว่า “ธนบัตรชำรุด” จะสามารถแลกคืนได้หรือไม่ ชำรุดแบบไหน แลกคืนได้เท่าไหร่ และมีหลักเกณฑ์การแลกอย่างไรบ้าง
"ธนบัตรชำรุด" ไม่เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติเงินตรา พุทธศักราช 2501 มาตรา 18 จำแนกไว้ 4 ลักษณะ ดังนี้
1) ธนบัตรครึ่งฉบับ คือ ธนบัตรที่ถูกแยกตรงกลางหรือใกล้กับกลางเป็นสองส่วนตามยืนเท่านั้น
หลักเกณฑ์การรับแลก - ให้รับแลกเปลี่ยนแต่ละครึ่งฉบับ ได้ครึ่งราคาของราคาเต็มของธนบัตรนั้น โดยต้องเขียนคำร้องการขอแลกเปลี่ยนธนบัตรชำรุด
2) ธนบัตรต่อท่อนผิด คือ ธนบัตรซึ่งมีส่วนของธนบัตรฉบับอื่นมาต่อเข้าเป็นฉบับเดียวกัน
หลักเกณฑ์การรับแลก - ถ้าไม่เกินสองท่อน แต่ละท่อนเป็นธนบัตรแบบและชนิดราคาเดียวกัน ให้รับแลกเปลี่ยนได้เต็มราคาของธนบัตรนั้น ในกรณีที่ธนบัตรชำรุดขาดออกจากกันมากกว่าสองท่อน จะต้องเขียนคำร้องการขอแลกเปลี่ยนธนบัตรชำรุด
3) ธนบัตรขาดวิ่น คือ ธนบัตรซึ่งมีส่วนหนึ่งส่วนใดขาดหายไป
หลักเกณฑ์การรับแลก - หากส่วนที่เหลืออยู่มีมากกว่าครึ่งฉบับ และสามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่าเป็นธนบัตรรัฐบาล และมีสภาพที่จะไม่เสียหายจากจัดส่ง ให้รับแลกเปลี่ยนได้เต็มราคาของธนบัตรนั้น
4) ธนบัตรลบเลือน คือ ธนบัตรที่มีเหตุทำให้อ่านข้อความหรือตัวเลขไม่ได้ความ
หลักเกณฑ์การรับแลก - หากการลบเลือนนั้น ไม่ถึงกับทำให้ไม่รู้ได้ว่าเป็นธนบัตรแท้จริง โดยให้รับแลกเปลี่ยนได้เต็มราคาของธนบัตรนั้น ซึ่งในกรณีนี้จะต้องเขียนคำร้องการขอแลกเปลี่ยนธนบัตรชำรุด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ทำการพิสูจน์ว่าเป็นธนบัตรรัฐบาล
สถานที่ติดต่อขอแลกเปลี่ยนธนบัตรชำรุด
- ธนาคารออมสินทั่วประเทศ (ให้บริการในเวลาทำการทุกวัน)
- ธนาคารพาณิชย์ทั่วประเทศ (ให้บริการเฉพาะวันพุธ ยกเว้นสาขาย่อยและสาขาในห้างสรรพสินค้า)
ที่มาข้อมูล : ธนาคารแห่งประเทศไทย