รู้จัก "มะเร็งเต้านม" สาเหตุการเสียชีวิต "นุ๊กซี่ อัญพัชญ์" แฟน "ปู แบล็คเฮด"
"มะเร็งเต้านม" เป็นหนึ่งในโรคร้ายที่ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตของผู้หญิงทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่มะเร็งเต้านมได้คร่าชีวิตผู้หญิงไทยมากเป็นอันดับที่ 2
นับเป็นข่าวเศร้าของวงการบันเทิงที่ได้สูญเสีย "นุ๊กซี่ อัญพัชญ์" แฟนสาวของนักร้องชื่อดัง "ปู แบล็คเฮด" เมื่อกลางดึกของวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา หลังจากที่ได้ต่อสู้กับโรค “มะเร็งเต้านม” มาพักใหญ่ และมะเร็งได้ลามไปสู่สมองในเวลาต่อมา
"มะเร็งเต้านม" เป็นหนึ่งในโรคร้ายที่ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตของผู้หญิงทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่มะเร็งเต้านมได้คร่าชีวิตผู้หญิงไทยมากเป็นอันดับที่ 2 ของมะเร็งทุกประเภท ส่วนในผู้ชายก็พบมะเร็งเต้านมได้เช่นกันแต่ไม่บ่อยนัก โดยประมาณ 90% ของมะเร็งเต้านมเกิดจากต่อมน้ำนมและท่อน้ำนม จึงมีโอกาสมากที่จะพบการเกิดมะเร็งในเต้านมทั้งสองข้าง ทั้งในระยะแรกและหลังจากการตรวจวินิจฉัย อย่างไรก็ดีการตรวจพบมะเร็งในระยะแรกจะช่วยให้การรักษามีโอกาสประสบความสำเร็จได้สูง
ปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับ "มะเร็งเต้านม"
- อายุ ในผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 50 ปีจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
- มีประวัติการเป็นมะเร็งเต้านม โดยผู้ป่วยที่เกิดมะเร็งเต้านมขึ้นที่ข้างหนึ่งมีความเสี่ยง 3-4 เท่าในการเกิดก้อนมะเร็งขึ้นที่เต้านมอีกข้าง
- มีประวัติการเป็นมะเร็งรังไข่ เนื่องจากการเป็นมะเร็งรังไข่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสฮอร์โมน จึงเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น
- การกลายพันธุ์ของยีน BRCA1 หรือ BRCA2 (BRCA ย่อมาจาก BReast CAncer gene) มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม และการมีประวัติมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ ในครอบครัวตั้งแต่อายุน้อย
- การสัมผัสกับฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงที่ควบคุมการเปลี่ยนแปลงของลักษณะทางเพศ โดยพบว่าการสัมผัสกับเอสโตรเจนเป็นเวลานานจะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม
- ลักษณะของการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ความอ้วน ขาดการออกกำลังกาย ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การได้รับรังสีในปริมาณสูง
อาการมะเร็งเต้านม
บางครั้งผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านมอาจไม่มีอาการของมะเร็งเต้านม หรือบางครั้งอาการผิดปกติที่เป็นอาจไม่ใช่โรคมะเร็งก็ได้ ดังนั้นจึงควรไปพบแพทย์เมื่อมีอาการดังต่อไปนี้
- มีก้อนหนาๆ ในเต้านมหรือใต้แขน
- บริเวณหัวนมบุ๋ม มีน้ำเหลือง หรือมีแผล
- เต้านมมีผื่น แดง ร้อน ผื่นคล้ายผิวส้ม
- มีอาการปวดบริเวณเต้านม
การตรวจประเมินมะเร็งเต้านมเบื้องต้น
การตรวจประเมินเบื้องต้นเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้สามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะต้นๆ ซึ่งจะส่งผลให้การรักษามีโอกาสประสบความสำเร็จสูง โดยการตรวจประเมินมะเร็งเต้านมเบื้องต้นสามารถทำได้ดังนี้
- การคลำเต้านมด้วยตนเอง
- การตรวจด้วยวิธีแมมโมแกรม (mammogram) แนะนำให้ผู้หญิงอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปเข้ารับการตรวจแมมโมแกรมทุก 1-2 ปี
- การตรวจด้วยอัลตราซาวนด์และการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (magnetic resonance imaging: MRI) จะใช้ในกรณีที่ผลของแมมโมแกรมตรวจพบความผิดปกติและต้องการตรวจหาเพื่อให้แน่ชัดยิ่งขึ้น
การรักษามะเร็งเต้านม
การรักษามะเร็งเต้านมอาศัยทีมแพทย์ในสาขาต่างๆ เช่น ศัลยแพทย์ รังสีแพทย์ และอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง มาร่วมกันวางแผนการรักษาที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย โดยปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกวิธีการรักษาของแพทย์ เช่น
- ขนาด ตำแหน่ง และลักษณะของเซลล์มะเร็ง
- ระยะโรคและการกระจายของมะเร็ง
- อายุและสุขภาพของผู้ป่วย
- ตัวรับฮอร์โมนของมะเร็ง
- ภาวะก่อนหรือหลังหมดประจำเดือน
- ปัจจัยที่บ่งบอกความรุนแรงของเนื้องอก เช่น ยีน HER2 (human epidermal growth factor receptor 2)
ทางเลือกในการรักษามะเร็งเต้านม
- การผ่าตัด
- รังสีรักษา
- เคมีบำบัด
- การรักษาโดยใช้ฮอร์โมน
- การใช้ยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (targeted therapy)
ที่มาข้อมูล : โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์