บ้านแสนรักของ เขียนไขและวานิช บ้านที่เป็นความภูมิใจและความสุข
กับวิถีชนบทที่เรียบง่าย กับบ้านไม้ที่ดูสบายตาและเป็นกันเองอยู่ท่ามกลางท้องนาเขียวขจี บ้านแสนรักที่เป็นของเจ้าของบทเพลง แก้มน้องนางนั้นแดงกว่าใคร
เชียงใหม่ดินแดนที่หลายคนไฝ่ฝันอยากไปลงหลักปักฐาน ด้วยเชียงใหม่มีธรรมชาติที่งดงามอยู่รอบตัว มีอากาศที่เย็นสบาย สำหรับประเทศที่มีอากาศร้อนแบบนี้ เชียงใหม่จึงเป็นอีกที่หนึ่งที่คนมักจะหนีร้อนไปพึ่งเย็น วันนี้คมชัดลึกออนไลน์พาคุณผู้อ่านขึ้นไปที่อำเภอแม่ออน ไปเยี่ยมชมความงามของบ้านหลังหนึ่ง ที่เจ้าของบ้านเป็นถึงเจ้าของบทเพลงดัง อย่างแก้มน้องนางนั้นแดงกว่าใคร หนีห่าง ภาพฝันในจักรวาล ซึ่งแต่ละบทเพลงล้วนเป็นเพลงฮิตเพลงดังทั้งสิ้น บ้านหลังนี้เป็นทั้งบ้านและสตูดิโอของ คุณบลู - บุษราพรรณ ไพรทอง, คุณโจ้ - สาโรจน์ ยอดยิ่ง (เขียนไขและวานิช)
"ส่วนตัวเป็นคนเชียงใหม่อยู่แล้วครับ แล้วแฟนก็ชอบเชียงใหม่และมีความฝันว่าเค้าอยากจะปลูกบ้านที่เชียงใหม่พอจังหวะเวลาและหลาย ๆ อย่างลงตัว เราเลยวางแผนสร้างบ้านครับ" คุณโจ้กล่าวก่อนเล่าเรื่องราวของการทำบ้านให้ฟัง
บ้านที่ออกแบบมาเพื่อเอาไว้เก็บของ
คุณโจ้เล่าให้ฟังถึงแนวคิดของบ้านหลังนี้ว่า "เราแค่อยากออกแบบบ้านที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของเรา บ้านที่เก็บข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ของเราได้ อย่างจานชามเซรามิกที่เห็นในบ้านหลังนี้คือสิ่งที่แฟนผมซื้อไว้ก่อนจะมีบ้านอีก การตกแต่งบ้านส่วนหนึ่งคือการวางแผนว่า จะเอาของที่ซื้อไว้เหล่านี้ มาจัดวางยังไงให้เข้าที่เข้าทางและดูสวยงาม"
"ส่วนเรื่องการออกแบบบ้านหลังนี้ แทบจะทั้งหมดหลัก ๆ คุณบลูเป็นคนจัดการหมดเลยครับ จริง ๆ ก็มีการคุยกันว่าต้องการอะไร อยากได้อะไรบ้าง แล้วก็เอาโจทย์ให้สถาปนิกไปคิดต่อ พอสถาปนิกส่งแบบมาในแต่ละครั้ง คุณบลูก็จะเอามาให้ดูแล้วก็แก้ไขไฟนอลแบบร่วมกันมากกว่าครับ"
"ถ้าถามว่าผมชอบส่วนไหนของบ้านมากที่สุดบอกได้เลยครับ ผมชอบที่จะอยู่ในห้องห้องอัดเพลง เพราะเป็นห้องเดียวที่ผมได้ออกแบบ แต่ความจริงก็คือไม่ค่อยมีเวลาได้อยู่บ้านทุกวันนี้ได้กลับมาพักเดือนนึง 4-5 วัน พื้นที่ที่ได้ใช้บ่อยสุดเลยกลายเป็นห้องนั่งเล่นแทนครับ เปลี่ยนจากจับกีต้าร์มาเล่นเกมส์แทน เป็นวันพักผ่อนไปครับ"
"นอกจากเป็นบ้านแล้วยังใช้เป็นที่ทำงานด้วย เราจะได้ไม่ต้องไปเสียค่าเช่าที่ทำงานอีกครับ ด้วยขนาดพื้นที่และการออกแบบ เราตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกว่าจะพัฒนาให้พื้นที่ตรงนี้ นอกจากอยู่อาศัยแล้ว อยากให้มันสร้างรายได้ให้เราได้ด้วยครับเพราะเราก็ลงทุนไปเยอะเหมือนกัน ถ้าต้องไปเสียค่าเช่าที่อื่นอีกไม่น่าจะไหวครับ"
บ้านพื้นถิ่นกับวัสดุพื้นบ้าน
วัสดุในส่วนของตัวบ้านเกือบทั้งหมด เราให้สถาปนิกเป็นคนออกแบบและเลือกให้ทั้งหมดเลยครับ โดยสถาปนิกเลือกใช้ไม้เก่าเป็นวัสดุหลักทั้งโครงสร้างและองค์ประกอบแวดล้อม เพราะเป็นมิตรกับมนุษย์มากที่สุดหาได้ง่ายในพื้นที่โดยรอบ ตั้งใจออกแบบให้ไม่ซับซ้อน เข้าใจง่ายเพื่อให้ช่างชาวบ้านสามารถลงมือทำได้โดยใช้เครื่องมือพื้นฐานในการก่อสร้าง
สร้างบ้านต้องให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นคนทำ
"จริง ๆ ต้องแยกเป็น 2 ประเด็นครับ สถาปนิกมีหน้าที่ในการออกแบบบ้านตามโจทย์ที่เราให้ ซึ่งเราให้ความสำคัญมาก เอาง่าย ๆ เราคิดแค่ว่าถ้าสถาปนิกไม่สำคัญแล้วทำไมถึงยังมีการเรียนวิชาชีพนี้ในมหาลัยอยู่ อะไรที่เราไม่รู้ ไม่ถนัดเราจ้างผู้เชี่ยวชาญดีกว่าครับ และเราคงไม่ได้สร้างบ้านกันบ่อย ๆ อย่าให้ต้องใช้สำนวนไทยที่ว่าเสียน้อยเสียยากเสียมากเสียง่าย ดีกว่าครับ ส่วนประเด็นเรื่องการทิ้งงาน อันนี้จะเป็นหน้าที่ในส่วนของผู้รับเหมา ซึ่งปัจจุบันก็จะมีข่าวการทิ้งงานให้เห็นบ่อย ๆ แต่อย่างที่บอกว่าเราโชคดีที่เจอผู้รับเหมาดี ทำงานกันแทบไม่มีปัญหาอะไรเลย ถ้าให้แนะนำในการเลือกผู้รับเหมาอันดับแรกเลยอย่าเลือกผู้รับเหมาจากราคาถูก ต้องดูราคาที่สมเหตุสมผลของถูกและดีไม่มีในโลกของการสร้างบ้าน"
การเดินทางของการพูดคุยกับคุณโจ้มาถึงช่วงท้าย ก่อนจากกันในวันนี้ คุณโจ้บอกว่า "บ้านหลังนี้ เป็นรางวัลที่มาจากน้ำพักน้ำแรงที่ทำงานหนักมาตลอดช่วง 4-5 ปี ไม่เคยคิดฝันเลยว่าจะมีบ้าน ไม่คิดว่ามันจะสำเร็จ ต้องบอกว่ามาไกลเกินฝันมาก ๆ ตอนนี้มีทั้งความภูมิใจและความสุขครับ"
เจ้าของบ้าน : บุษราพรรณ ไพรทอง, สาโรจน์ ยอดยิ่ง
ภาพประกอบ : รุ่งกิจ เจริญวัฒน์
ออกแบบ : Sher Maker