ไลฟ์สไตล์

แพทย์ชี้ชัดพระเอกดัง 'บรูซ วิลลิส' มีภาวะ 'อะเฟเซีย' สูญเสียการสื่อสาร

แพทย์ชี้ชัดพระเอกดัง 'บรูซ วิลลิส' มีภาวะ 'อะเฟเซีย' สูญเสียการสื่อสาร

17 ก.พ. 2566

'บรูซ วิลลิส' ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะ 'อะเฟเซีย' หรือภาวะเสียการสื่อความ เกิดจากความผิดปกติทางระบบประสาท และส่งผลให้ผู้ป่วยมีความผิดปกติในการสื่อสาร

 

กลายเป็นข่าวช็อกวงการบันเทิงฝั่งฮอลลีวูด หลังจากครอบครัวของ "บรูซ วิลลิส" นักแสดงมากความสามารถวัย 67 ปี รวมถึง เอ็มม่า เฮมิง ภรรยาคนปัจจุบัน และ เดมี่ มัวร์ นักแสดงหญิงคนดัง อดีตภรรยา ร่วมลงนามระบุในแถลงการณ์ว่า "บรูซ วิลลิส" ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะ “อะเฟเซีย” หรือภาวะเสียการสื่อความ เกิดจากความผิดปกติทางระบบประสาท และส่งผลให้ผู้ป่วยมีความผิดปกติในการสื่อสาร ซึ่งวันนี้ คมชัดลึก จะพาไปทำความรู้จักกันว่า "อะเฟเซีย" คืออะไร อาการเป็นอย่างไร  สาเหตุเกิดจากอะไร รวมถึงวิธีการรักษา และวิธีป้องกัน

 

พญ.ปิยะนุช  รักพาณิชย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู และผู้อำนวยการ สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก (Arun Health Garden) ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูผสมผสาน กายภาพบำบัด และดูแลสุขภาพแบบองค์รวม กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่า “อะเฟเซีย” ไม่ใช่โรค แต่เป็นภาวะผิดปกติด้านทางการสื่อสาร ซึ่งอาจจะเสียความสามารถในการพูด หรือไม่เข้าใจในสิ่งที่ผู้อื่นพูด หรือมีความผิดปกติทั้ง 2 อย่าง 

 

อาการเป็นอย่างไร

 

อาการ “อะเฟเซีย” แบ่งได้ง่ายๆ เป็น 2 ประเภท คือ

 

  • พูดได้ปกติหรือพูดคล่อง  แต่ไม่เข้าใจในคำพูดของผู้อื่น คือบกพร่องที่การรับรู้ความเข้าใจ 
  • บกพร่องด้านการพูด คือ เข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นสื่อสาร แต่ไม่สามารถพูดออกมาได้ตามปกติ เช่น นึกคำไม่ออก 

ทั้งนี้ผู้ป่วยบางคนอาจจะมีอาการได้ทั้ง 2 ประเภท

 

ความรุนแรงของ “อะเฟเซีย” มีหลายระดับ ถ้าเป็นน้อยอาจจะแค่นึกคำบางคำไม่ออก ถ้ามีอาการมากก็ไม่สามารถสื่อสารได้เลยเพราะไม่เข้าใจในสิ่งที่พูดอื่นพูดและไม่สามารถพูดโต้ตอบได้

 

ใครคือกลุ่มเสี่ยง “อะเฟเซีย” 

 

“อะเฟเซีย” เป็นอาการที่เกิดเนื่องมาจากสมองส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมการใช้ภาษาได้รับความเสียหาย เช่น โรคหลอดเลือดสมอง เช่นหลอดเลือดสมองตีบหรือหลอดเลือดสมองแตก ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด สาเหตุอื่นๆ เช่น อุบัติเหตุที่กระทบกระทือนที่สมอง การติดเชื้อในสมอง เนื้องอกในสมอง มีภาวะสมองเสื่อม เป็นต้น

 

ก่อนเป็น “อะเฟเซีย” หรือมีแนวโน้มที่จะเป็น สังเกตได้จากอะไร

 

เนื่องจากอะเฟเซียมีสาเหตุเกิดจากความผิดปกติของสมอง  ดังนั้นถ้ามีอาการผิดปกติของสมองโดยเฉพาะเส้นเลือดตีบหรือแตก ก็มีโอกาสเป็นได้สูง รวมถึงอาการในข้อที่ 4 หรือไปพบแพทย์เพื่อทดสอบอาการ หรือให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องมือต่างๆ เช่น การทำ CT Scan, การทำMRI เพื่อหาความผิดปกติของสมอง กล้ามเนื้อ ไขมัน เป็นต้น

 

ถ้ามีความผิดปกติเกี่ยวกับการสื่อสารกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการที่ไม่เข้าใจในสิ่งที่ผู้อื่นสื่อสาร หรือผิดปกติด้านการพูด เช่น การนึกคำพูด การใช้คำพูด การเขียนหรือการอ่าน ควรรีบปรึกษาแพทย์

 

วิธีการรักษา

 

  • ก่อนอื่นต้องดูว่าเกิดจากสาเหตุใด และรักษาจากจุดนั้น
  • สำหรับการรักษาอาการอะเฟเซีย จะมีการฟื้นฟูทางด้านการพูดและสื่อสาร โดยนักอรรถบำบัด หรือนักแก้ไขการพูด

 

วิธีป้องกัน

 

“อะเฟเซีย” ป้องกันได้ด้วยการดูแลสุขภาพสมองให้ดี หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่สร้างความเสียหายแก่สมองของเรา เช่น พฤติกรรมหรือโรคที่ทำให้เกิดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง หรือสมองเสื่อม เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไม่ออกกำลังกาย ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น