ไลฟ์สไตล์

"เช็งเม้ง" คืออะไร ตรงกับวันไหน และต้องปฏิบัติอย่างไรในวันสำคัญนี้

"เช็งเม้ง" คืออะไร ตรงกับวันไหน และต้องปฏิบัติอย่างไรในวันสำคัญนี้

03 เม.ย. 2565

"วันเช็งเม้ง" หรือ "เทศกาลเช็งเม้ง" เป็นประเพณีสำคัญของชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีน เนื่องจากเป็นประเพณีที่แสดงถึงความกตัญญูกตเวทีที่มีต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว

ความหมายของ “เช็งเม้ง”

 

คำว่า "เช็ง" หมายถึง สะอาด บริสุทธิ์ และคำว่า "เม้ง" หมายถึง สว่าง เมื่อนำคำว่า "เช็งเม้ง" มารวมกันแล้วหมายความถึง ช่วงเวลาแห่งความแจ่มใส รื่นรมย์

 

 

 

 

“เช็งเม้ง” ตรงกับวันไหน

 

สำหรับวันเช็งเม้งในประเทศจีนนั้น จะเริ่มต้นช่วงวันที่ 4 - 5 เม.ย. ไปจนถึงวันที่ 19 - 20 เม.ย. ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวถือว่าเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ที่อากาศจะเริ่มเข้าสู่ความอบอุ่น มีฝนตกปรอยๆ มีบรรยากาศสดชื่น ท้องฟ้าใสสว่าง และด้วยบรรยายกาศดังกล่าวนี่เองที่เป็นที่มาของชื่อ "เช็งเม้ง"

 

ขณะที่ประเทศไทยเทศกาล "เช็งเม้ง" คือ วันที่ 5 เม.ย.ของทุกปี และช่วงเวลาในเทศกาลเช็งเม้งมี 7 วัน คือ ระหว่างวันที่ 2 - 8 เมษายน โดยให้นับวันก่อนถึงเทศกาลเช็งเม้ง 3 วัน และเลยไปอีก 3 วัน แต่ในปัจจุบันเนื่องจากปัญหาการจราจรคับคั่ง จึงมีการขยายช่วงเวลาเทศกาลให้เร็วขึ้นอีก 3 สัปดาห์ (ประมาณ 15 มีนาคม - 8 เมษายน) แต่ในภาคใต้บางพื้นที่ เช่น จังหวัดตรังจะจัดเร็วกว่าที่อื่น 1 วัน ประมาณวันที่ 4 เมษายนของทุกปี

 

โดยก่อนวันพิธีจะมีการทำความสะอาดหลุมฝังศพของบรรพบุรุษ หลังจากนั้นในวันพิธีจะมีการเซ่นไหว้อาหารหวานคาว ที่หลุมฝังศพ เพื่อเป็นการ รำลึกถึงคุณงามความดีของบรรพบุรุษ และเป็นการส่งอาหารให้ทุกปี เพื่อมิให้อดอยาก เมื่อไปอยู่อีกภพหนึ่ง คนจีนส่วนใหญ่ จะหยุดงานมาร่วมพิธีกัน พร้อมหน้าพร้อมตา หรือถือว่าเป็น "วันรวมญาติ" ของคนจีนก็ว่าได้

 

 

ประเพณีปฏิบัติใน “วันเช็งเม้ง”

 

1. การทำความสะอาดสุสาน

 

ลงสีที่ป้ายชื่อให้ดูใหม่ โดยคนตายแล้วลงสีเขียว หรือสีทองขลิบเขียว ขณะที่ป้ายชื่อคนเป็นให้ลงสีแดง แต่ทั้งนี้ ห้ามถอนหญ้า เพราะอาจกระทบตำแหน่งห้าม เช่น ทิศอสูร ทิศแตกสลาย ทิศดาวเบญจภูติ เป็นต้น

 

สำหรับการตกแต่งสุสานนั้น อาจใช้กระดาษม้วนสายรุ้ง โดยสุสานคนเป็น ให้ใช้สายรุ้งสีแดง ส่วนสุสานคนตาย สามารถใช้สายรุ้งสีอะไรก็ได้ แต่ห้ามปักธงลงบนหลังเต่า เพราะถือว่า เป็นการทิ่มแทงหลุม และบางความเชื่อ ถือว่าเป็นการทำให้หลังคาบ้านของบรรพบุรุษรั่ว

 

2. กราบไหว้เจ้าที่ เป็นการให้เกียรติ และขอบคุณที่ช่วยคุ้มครองดูแล

 

การจัดวางของไหว้  ทำได้ดังนี้

 

เทียน 1 คู่ + ธูป 5 ดอก ( อาจปักลงบนฟักได้ )

  • ชา 5 ถ้วย
  • เหล้า 5 ถ้วย
  • ของไหว้ต่าง ๆ เช่น ขนมอี๋ ผลไม้ (ควรงดเนื้อหมูเพราะเคยมีปรากฎว่าเจ้าที่เป็นอิสลาม)
  • กระดาษเงิน กระดาษทอง

 

3.กราบไหว้ระลึกถึงพระคุณของพ่อแม่ และบรรพบุรุษ

 

การจัดวางของไหว้ ทำได้ดังนี้

 

  • ชา 3 ถ้วย
  • เหล้า 3 ถ้วย
  • ของไหว้ต่างๆ เช่น ขนมอี๋ ผลไม้ (ของไหว้ตามความเชื่อประเพณีของแต่ละท้องถิ่น ส่วนใหญ่เป็นขนมถ้วยฟู)
  • กระดาษเงิน กระดาษทอง ฯลฯ
  • เทียน 1 คู่ + ธูป ตามจำนวนบรรพบุรุษ ท่านละ 1 ดอก

 

ห้ามวางของตรงแท่นหน้าเจี๊ยะปี (ป้ายหิน ที่จารึกชื่อ บรรพบุรุษ) เพราะเป็นที่เข้าออกของวิญญาณบรรพบุรุษ ไม่ใช่เก้าอี้นั่งอย่างที่หลายคนเข้าใจผิด

 

 

อาหารที่ใช้ในการประกอบพิธีเช็งเม้ง มีดังนี้

 

  • ไก่ต้ม 1 ตัว
  • หมูสามชั้น ต้ม 1 ชิ้น (โดยประมาณขนาด 1/2 กิโลกรัมขึ้นไป)
  • เส้นบะหมี่สด
  • ขนม 3 อย่าง คือ เต่เหลี่ยว ข้าวเหนียวกวน ขนมเต่า (ขนมกู้)
  • ขนมถ้วยฟู (ฮวดโก้ย)
  • สับปะรด 2 ลูก (ใช้ทั้งก้านและหัวจุก)
  • น้ำชา
  • ธูปเทียน, กระดาษเงิน, กระดาษทอง, ประทัด

 

 

การทำพิธีเช็งเม้ง

 

ให้ผู้อาวุโสเป็นผู้นำกราบไหว้และเมื่อเทียนใกล้หมดก้านก็ให้ลูกหลานตีวงล้อมด้วยหวาย เผา กระดาษเงิน กระดาษทอง ฯลฯ เป็นการกำหนดขอบเขตว่าสิ่งเหล่านี้ลูกหลานส่งให้บรรพบุรุษของครอบครัวนั้นๆ เป็นการเฉพาะเพื่อป้องกันการแย่งชิง (ผู้ตีวงล้อม ต้องเป็นลูกหลานเท่านั้น) เมื่อเสร็จสิ้นพิธีแล้ว บางครอบครัวอาจจะมานั่งล้อมวงรับประทานอาหารร่วมกันเพื่อแสดงความสมานสามัคคีแก่บรรพบุรุษ

 

 

ประโยชน์ของการไหว้บรรพบุรุษวันเช็งเม้ง

 

  • เพื่อรำลึกถึงคุณความดี ที่บรรพบุรุษของเราได้กระทำไว้ ได้ดูแลเรา ลำบากเพื่อเราให้มีความเป็นอยู่ที่ดี เป็นแบบอย่างการดำเนินชีวิต "เราสบายเพราะพ่อแม่ บรรพบุรุษลำบาก"
  • เป็นศูนย์รวมตระกูล ผังตระกูล โดยทั่วไป การไหว้ที่ดีที่สุด ต้องนัดหมายไปไหว้พร้อมกัน (วันและเวลาเดียวกัน) ทำให้ลูกหลานที่อยู่กระจายกันไป ได้มาพบปะ สังสรรค์กันพร้อมหน้า เป็นการสร้างความสามัคคี สร้างจุดศูนย์รวม กล่าวได้ว่าเป็น "วันรวมญาติ"
  • เป็นกรอบถนนชีวิตของลูกหลานทุกคน "พ่อแม่ตายแล้ว ยังกำหนดชะตาชีวิตลูกหลาน" เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต เน้นความกตัญญูที่มีต่อบุพการีและลูกหลานควรปฏิบัติตาม
  • เป็นการเตือนสติตน ความตายต้องเกิดขึ้นกับทุกคน และเป็นธรรมดาของมนุษย์ปุถุชน