แห่งแรกในประเทศไทย โรงเรียนนักเดินป่า อุทยานแห่งชาติ ดอยภูคา จังหวัดน่าน
ปิดเทอมนี้ ไปเรียนหนังสือกัน ไปเรียนรู้การเอาชีวิตรอดในป่า ไปเรียนรู้การเที่ยวป่าอย่างเป็นมิตร ไปเรียนรู้วัฒนธรรมการท่องเที่ยวธรรมชาติอย่างยั่งยืน ทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนแล้ว ต้องเรียนรู้ทั้งสิ้น
เมื่อหลายปีก่อน ผมได้มีโอกาสได้เดินป่ากับผู้เชี่ยวชาญการเดินป่ากลุ่มหนึ่ง ซึ่งจัดต่อเนื่องมาถึง 3 ปี จนทำให้ได้ซึมซาบวัฒนธรรมการท่องเที่ยวธรรมชาติที่เรียกกันว่า "เดินป่า" อย่างที่พูดกันอยู่ทุกวันนี้อย่างเข้าใจถึงวัฒนธรรมอันดีงามนี้ สุดท้ายแล้วก็จะเป็นกิจกรรมของกลุ่มคนเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งในสังคม การเข้าถึงวัฒนธรรมการท่องเที่ยวธรรมชาติจึงยังไม่มีการส่งต่อให้กับบุคคลทั่วไปได้เรียนรู้ถึงวัฒนธรรมดังกล่าว จะดีแค่ไหนถ้าหากประเทศไทยมีสถานที่ฝึกอบรมให้ความรู้ความเข้าใจในการใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติ ผมเชื่อว่านอกจากจะได้ความรู้ในการใช้ชีวิตแล้ว ประเทศไทยก็จะมีนักอนุรักษ์ธรรมชาติเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
วันนี้คมชัดลึกออนไลน์ได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณใหญ่ – ธำรงรัตน์ ธนภัคพลชัย นักวิชาการป่าไม้ปฎิบัติการ ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยภูคา ผู้ริเริ่มเปิดหลักสูตรการเดินป่าแบบมีวัฒนธรรมให้กับบุคคลทั่วไปได้เรียนรู้ถึงการท่องเที่ยวธรรมชาติอย่างแท้จริงว่ามันควรจะเป็นอย่างไร
โรงเรียนนักเดินป่า อุทยานแห่งชาติดอยภูคา มีความเป็นมาอย่างไร
คุณใหญ่ : เริ่มมาจากผมได้พูดคุยกับคุณงบ – ธัชรวี หาริกุล เจ้าของแบรนด์ Thailand Outdoor ซึ่งพี่เค้ามีประสบการณ์ในการเดินป่าทั้งในและนอกประเทศ จากการพูดคุยนั้นมันได้รับความรู้ และรับทราบถึงวัฒนธรรมอันดีงามของการเดินป่า ไม่ว่าจะเดินคนเดียวหรือเดินเป็นหมู่คณะ ผมเลยปรึกษาว่ามันมีปัญหาของคนที่อยากมาเดินป่าแต่ไม่รู้อะไรเลยในพื้นที่ที่ผมดูแลอยู่ อย่างเช่นคนที่มาเดินป่าแล้วเปิดเพลงเสียงดัง รบกวนคนอื่น ๆ บางคนก็กินเหล้า พูดง่าย ๆ ก็คือย้ายที่กินเหล้าครับ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันเป็นเหมือนระเบิดเวลาให้กับธรรมชาติ และหากวันไหนนักท่องเที่ยวประสบเหตุร้าย สถานที่นั้น ๆ ก็มักจะถูกปิด ผมมองว่ามันเป็นการแก้ปัญหาที่ผิด มันควรจะแก้ปัญหาที่คนก่อน ว่าจะทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวมีวินัย มีความรู้ที่ถูกต้อง นี่คือแนวคิดเริ่มต้นที่จะเปิดอบรมให้กับบุคคลทั่วไปครับ ยิ่งกระแสการเดินป่าในบ้านเราได้รับการตอบรับที่ดี แต่ยังไม่มีคนสอนพวกเขาเป็นเรื่องราว ผมเลยหาพื้นที่ที่เหมาะสมกับการเรียนรู้เดินป่าง่าย ๆ คือลงมือทำทันทีครับ โดยแบ่งหน้าที่กันทำกับทางภาคเอกชนอย่างทีมของพี่งบ ก็จะมีหน้าที่ประชาสัมพันธ์ทำสื่อการสอน ส่วนทีมเจ้าหน้าที่ก็จะมีหน้าที่ในการสำรวจพื้นที่สำหรับนักเรียน ไม่ว่าคุณจะเดินป่ามานานแค่ไหนคุณก็ต้องเริ่มต้นที่พื้นฐานก่อน
การเรียนการสอน
คุณใหญ่ : สำหรับนักเรียนที่มีความประสงค์อยากเรียนคุณต้องลงทะเบียนออนไลน์ เรียนทฤษฎีและสอบทางออนไลน์ก่อน เมื่อสอบผ่านแล้วก็จะได้ใบประกาศ เมื่อได้ใบประกาศแล้วจึงนำใบประกาศนั้นมาสมัครภาคปฏิบัติในพื้นที่ต่อไป เรียนฟรี ไม่มีค่าบริการ จะมีก็แต่ค่าธรรมเนียมการเข้าอุทยานแห่งชาติปกติเหมือนทุกครั้งที่เรามาใช้พื้นที่ครับ ปัจจุบันเปิดมา 7รุ่นแล้วครับ กับเสียงตอบรับที่ดีมาก ๆ รุ่นหนึ่งจะรับแค่ 20คนเท่านั้น
จุดประสงค์ของโรงเรียนเดินป่า
คุณใหญ่ : ในฐานะของคนที่ทำงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และเจ้าของพื้นที่ ผมอยากให้เป็นสถานที่เริ่มต้นของคนที่อยากเดินป่า และอยากให้ทุกคนเดินป่าได้ถูกต้อง และสิ่งที่สอนเราไม่ได้คิดขึ้นมาเอง แต่มันเป็นหลักของการเดินป่าสากลที่ทั่วโลกเขานำมาปฏิบัติใช้กันอยู่ เมื่อคนที่มาเรียนที่นี่ แล้วนำความรู้ไปเผยแพร่ต่อมันจะเกิดเป็นวัฒนธรรมที่ดีต่อไปครับ
สองวัน หนึ่งคืน ที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคา สถาบันที่จะช่วยให้คุณใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติได้ถูกต้องมากขึ้น ถือเป็นการส่งต่อวัฒนธรรมการใช้ชีวิตร่วมกับคน ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืนและน่าชื่นชมอย่างยิ่ง หากคุณผู้อ่านสนใจอยากออกนอกบ้านมาสัมผัสประสบการณ์ที่หาไม่ได้ในเมือง ก็สามารถติด ติดตามได้จากรายละเอียดด้านล่างนี้เลยครับ
สรุปขั้นตอนการสมัครร่วมกิจกรรม “โรงเรียนนักเดินป่า” การเตรียมตัว และกำหนดการ
1. เรียนผ่านระบบ Online
- สมัครเป็นสมาชิกผ่าน https://nationalparkoutdoor-edu.com/
- เรียนรู้ 3 หัวข้อ ได้แก่ ข้อมูลเส้นทาง ภู1700, 7 ข้อปฏิบัติ เพื่อการเดินป่าอย่างมีความสุข (Leave no trace), การเตรียมตัวเพื่อไปเดินป่า (Prepare)
- เมื่อเรียนครบทั้งหมด ท่านจะสามารถดาวน์โหลดใบ Certificate เพื่อนำมาประกอบการสมัครร่วมกิจกรรม “โรงเรียนนักเดินป่า”
หมายเหตุ :
- ควรดาวน์โหลดใบ Certificate ผ่านคอมพิวเตอร์
- ใบ certificate ไม่มีวันหมดอายุ
2. ติดตามประกาศรับสมัครนักเดินป่าจากช่องทาง Facebook เพจ “โรงเรียนนักเดินป่า อุทยานแห่งชาติดอยภูคา”
3. สมัครร่วมกิจกรรมนักเดินป่า ผ่านช่องทาง Line official “Outdoor Education” ช่องทางเดียวเท่านั้น (ID line : @outdooreducation)
โดยแจ้ง ชื่อ-สกุล อายุ เบอร์ติดต่อ และรุ่นที่สนใจสมัคร
หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อช.ดอยภูคา
โทร : 080-6936937 (คุณกิ๊ก)
ติดต่อและสมัครได้ในวันและเวลาราชการ
นัดหมายนักเดินป่า ในวันที่จะเข้าร่วมกิจกรรม (ตามรอบที่สมัคร)
เวลาไม่เกิน 10.30 น. ณ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยภูคา https://goo.gl/maps/GEHKg7af42dvRX2C8
ตลอดกิจกรรมโรงเรียนนักเดินป่า
ฟรี !!! ไม่มีค่าใช้จ่าย
มีค่าใช้จ่ายเฉพาะอัตราค่าบริการสำหรับเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ
ดังนี้
- ค่าบริการสำหรับบุคคล
จำนวน 40 บาท/ท่าน
- เด็ก/นักเรียน/นักศึกษา
จำนวน 20 บาท/ท่าน
- ค่ากางเต็นท์ในพื้นที่อุทยานฯ
จำนวน 30 บาท/ท่าน
- ค่าบริการสำหรับยานพาหนะ
รถยนต์ 30 บาท/คัน
จักรยานยนต์ 20 บาท/คัน
***อุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับนักเดินป่ามือใหม่
ในเส้นทางภู 1,700 อุทยานแห่งชาติดอยภูคา จ.น่าน
* การเดิน
1. เป้เดินป่า
2. รองเท้าเดินป่า
3. ขวดน้ำ (แบบใช้ซ้ำได้)
* การนอน
4. เต็นท์ + แผ่นรองนอน
หรือ เปล + fly sheet
5. ถุงนอน
6. เสื้อผ้าและของใช้ส่วนตัว
เช่น เสื้อกันหนาว**เสื้อ กางเกง ลำลอง ผ้าเช็ดตัว แปรงสีฟัน ยาสีฟัน
* การกิน
7. อาหารสำหรับ 2 มื้อ ควรเป็นอาหารแห้ง น้ำหนักเบา (เย็นและเช้า)
8. ถ้วย ช้อน/ส้อม แก้วน้ำ มีด ไฟแช็ค
9. อุปกรณ์ประกอบอาหาร (หม้อสนาม เตาและแก๊สสำหรับเดินป่า)
* อุปกรณ์อื่น
10. ไฟฉาย (ควรเป็นไฟฉายคาดหัว)
11. ถุงขยะ (ควรเป็นถุงที่สามารถใช้ซ้ำได้)
12. ยารักษาโรค (สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว)
อุปกรณ์ที่ควรจะเตรียมไปด้วย
13. เสื้อกันฝน
14. พลั่วขุดดิน (สำหรับเข้าห้องน้ำในป่า)
15. เชือก
16. อุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้น (อช.จัดเตรียมไว้แล้ว)
*** การแต่งกาย กางเกงขายาว ควรใส่เสื้อแขนยาว
หากท่านใด ไม่สะดวกเตรียมอุปกรณ์ ได้แก่
1. เต้นท์
2. เป้เดินป่า
ทาง อช.ดอยภูคา มีให้บริการ (จำนวนจำกัด) แต่ต้องแจ้งความประสงค์ก่อนเดินป่า
ทั้งนี้การเดินป่า ไม่ใช่การเดินเพื่อไปลำบาก แต่เป็นการแสวงหาความสุข จากการสัมผัสธรรมชาติด้วยตัวเอง โดยคำนึงถึงการลดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติให้มากที่สุด
กำหนดการ
วันที่ 1 ของการเดินทาง
10.00 – 10.30 น. นักเดินป่าลงทะเบียน ณ ที่ทำการอุทยานฯ
10.30 – 11.30 น. พูดคุยแนะนำโรงเรียนนักเดินป่า และทบทวนบทเรียน
11.30 – 12.30 น. รับประทานอาหารกลางวัน และเตรียมตัวเดินทางไปจุดเริ่มเดิน
12.30 – 13.00 น. เดินทางไปจุดเริ่มเดิน (จุดชมวิว 1715) / เจ้าหน้าที่แนะนำเส้นทาง
13.00 – 15.30 น. เริ่มต้นเดินป่า
- เรียนรู้ความหลากหลายของพันธุ์ไม้และสัตว์ ตลอดเส้นทาง
15.30 น. ถึงจุดตั้งแคมป์ (นักเดินป่าทุกท่านถึงจุดตั้งแคมป์)
- แนะนำสถานที่ (อธิบายรายละเอียดกิจกรรมและนัดหมายเวลา)
- เรียนรู้วิชาการดำรงชีพในป่า
- การเลือกพื้นที่ตั้งแค้มป์ (กางเต็นท์/ผูกเปล)
- การขับถ่ายในป่า
- การจัดการขยะ และเศษอาหาร
- การปฏิบัติตัวเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน (แผนเผชิญเหตุ)
17.00 น. นักเดินป่า ชมวิวพระอาทิตย์ตกและดื่มด่ำกับธรรมชาติ (จุดชมวิว ภู 1700) - เรียนรู้การอยู่กับธรรมชาติอย่างสมดุล
18.00 น. เป็นต้นไป กิจกรรมช่วงเย็น
- กิจกรรมประกอบอาหารเย็นและทานอาหารร่วมกัน
- กิจกรรมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และถามคำถาม
นักเดินป่าแยกย้ายพักผ่อนตามอัธยาศัย
วันที่ 2 ของการเดินทาง
ช่วงเช้า ชมวิวพระอาทิตย์ขึ้น
ประกอบอาหารเช้าและรับประทานอาหารร่วมกัน
- เรียนรู้การผูกแปล
- เรียนรู้ การจัดการพื้นที่หลังพักแรม
เก็บสัมภาระเตรียมตัวเดินทางออกจากพื้นที่
ช่วงสาย สรุปบทเรียนและข้อเสนอแนะ (เวลาออกจากแคมป์ 10.00 น.)
#โรงเรียนนักเดินป่า
#อุทยานแห่งชาติดอยภูคา
ขอบคุณ : ธำรงรัตน์ ธนภัคพลชัย นักวิชาการป่าไม้ปฎิบัติการ ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยภูคา
ภาพประกอบ : เพจโรงเรียนนักเดินป่า อุทยานแห่งชาติดอยภูคา shorturl.at/ewHNS