7 วิธีกิน "ข้าวเหนียวมะม่วง" อย่างไรไม่อ้วน และไม่เสี่ยงโรค
สาวๆ บางคนชอบกิน "ข้าวเหนียวมะม่วง" แต่ก็ยังแอบกังวลเรื่องอ้วน วันนี้ คมชัดลึกออนไลน์ เลยอยากแนะนำ 7 วิธีกิน "ข้าวเหนียวมะม่วง" อย่างไรไม่ให้อ้วน และไม่เสี่ยงโรคภัยไข้เจ็บมาฝากกันค่ะ
กลายเป็นเรื่องที่ทุกคนกล่าวถึงในชั่วข้ามคืน เมื่อแร๊ปเปอร์สาว “มิลลิ” ดนุภา คณาธีรกุล หนึ่งในศิลปินไทยที่ไปขึ้นโชว์บนเวที Coachella Valley Music and Arts Festival 2022 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โชว์กิน “ข้าวเหนียวมะม่วง” บนเวที ทำเอาบรรดาแฟนๆ ชื่นชมกันยกใหญ่ ส่งผลให้แฮชแท็ก #MILLILiveatCoachella และ #ข้าวเหนียวมะม่วง ขึ้นอันดับ 1 ในทันที
หลังจากข่าวดังกล่าวเผยแพร่ออกไป ทำเอาหลายคนอยากกิน "ข้าวเหนียวมะม่วง" ขึ้นมาทันที แต่สาวๆ บางคนก็ยังแอบกังวลเรื่องอ้วน วันนี้ คมชัดลึกออนไลน์ เลยอยากแนะนำ 7 วิธีกิน "ข้าวเหนียวมะม่วง" อย่างไรไม่ให้อ้วน และไม่เสี่ยงโรคภัยไข้เจ็บมาฝากกันค่ะ
1. กินมะม่วงมากกว่าข้าวเหนียว เช่น กินมะม่วงสุกครึ่งลูก (ขนาดกลาง) จะได้พลังงานประมาณ 70 กิโลแคลอรี ส่วนข้าวเหนียวมูนให้กิน 100 กรัม หรือ 1 ขีด จะให้พลังงาน 280 กิโลแคลอรี เมื่อรวมกันแล้วจะเท่ากับ 350 กิโลแคลอรี ซึ่งเทียบเท่ากับแคลอรีที่ได้จากอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ด แต่ "ข้าวเหนียวมะม่วง" มีคุณค่าทางโภชนาการและเชิงอาหารเพื่อสุขภาพมากกว่า
2. กินข้าวเหนียวมะม่วงช่วงเวลากลางวัน เพราะกลางวันเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายต้องใช้พลังงานทำกิจกรรมต่างๆ ดังนั้นเราจะมีเวลาเผาผลาญพลังงานจากข้าวเหนียวมะม่วงได้บ้าง แต่หากกินข้าวเหนียวมะม่วงมื้อเย็น พลังงานจากข้าวเหนียวมะม่วงที่ร่างกายได้รับเข้าไปอาจเผาผลาญและนำไปใช้ไม่หมด เกิดเป็นไขมันสะสมตามร่างกายได้
3. กินแต่พอเหมาะ มะม่วงสุกครึ่งผลขนาดกลาง ก็ให้พลังงานประมาณ 70 กิโลแคลอรีแล้ว ส่วนข้าวเหนียวมูนปริมาณ 1 ขีด ให้พลังงานมากถึง 280 กิโลแคลอรี รวมๆ แล้วเมนูข้าวเหนียวมะม่วง 1 จาน ให้พลังงานประมาณ 350 กิโลแคลอรี ดังนั้นควรกินข้าวเหนียมมะม่วงสัปดาห์ละไม่เกิน 3 ครั้ง เพราะข้าวเหนียวมะม่วงเป็นอาหารที่มีทั้งน้ำตาลและไขมันปริมาณที่ค่อนข้างสูง หากกินมากเกินพอดีอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพได้หลายด้าน และสำหรับคนที่มีโรคประจำตัว ก็ควรลดปริมาณข้าวเหนียวลงให้เหลือสักครึ่งขีด และลดความถี่ลงเป็นกินข้าวเหนียวมะม่วงสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง
4. บริโภคแต่น้อยและหมั่นออกกำลังกาย ต้องไม่ลืมว่าข้าวเหนียวมะม่วงให้พลังงานเทียบเท่ากับการกินอาหารมื้อหลัก 1 มื้อเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นต้องไม่ลืมออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญพลังงานที่กินเข้าไปด้วย
ตัวอย่างการออกกำลังกายที่จะเผาผลาญพลังงานที่ได้จากการกินข้าวเหนียวมะม่วง 1 จาน
- วิ่ง 45 นาที
- ว่ายน้ำ 32 นาที
- ปั่นจักรยาน 60 นาที
- เดิน 100 นาที
5. เลือกกินข้าวเหนียวดำ เป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นช้ากว่าข้าวเหนียวข้าวที่เป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว หรือถ้าจะให้ดีขึ้นไปอีกก็ควรเลือกกินข้าวเหนียวที่มูนด้วยน้ำกะทิที่ผสมสีที่ได้จากธรรมชาติ เช่น ดอกอัญชัน แครอท ขมิ้น และใบเตย เพราะจะได้รับสารพฤกษเคมีที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเข้าไปด้วย
6. กินมะม่วงแก่จัด และสุกตามธรรมชาติ เนื่องจากมะม่วงที่บ่มแก๊สจะให้กลิ่นและรสที่ไม่ดีเท่ากับมะม่วงสุกตามธรรมชาติ วิธีการสังเกตคือ มะม่วงที่แก่จัดนั้นผลจะอวบ ด้านล่างของมะม่วงจะไม่แหลม ส่วนมะม่วงที่เก็บมาตอนไม่แก่จัดแล้วนำมาบ่มแก๊สผิวจะเหี่ยว
7. ราดด้วยกะทิธัญพืช (ถ้าเป็นไปได้) จะมีไขมันอิ่มตัวน้อยกว่ากะทิจากมะพร้าว ที่สำคัญกะทิธัญพืชยังให้พลังงานน้อยกว่ากะทิมะพร้าว ดังนั้นหากเลือกได้ หรือมีโอกาสเข้าครัวมูนข้าวเหนียวกินกับมะม่วงสุกเอง ลองเลือกใช้กะทิธัญพืชมาราดแทนกะทิมะพร้าว แล้วอย่าลืมลดหวาน ลดเค็ม เพื่อเซฟสุขภาพด้วยล่ะ