ไลฟ์สไตล์

ใคร "แพ้กล้วย" ฟังทางนี้ หากเป็นแล้วต้องทำอย่างไร อ่านตรงนี้มีคำตอบ

ใคร "แพ้กล้วย" ฟังทางนี้ หากเป็นแล้วต้องทำอย่างไร อ่านตรงนี้มีคำตอบ

20 เม.ย. 2565

โรค "แพ้กล้วย" แม้จะพบได้ไม่บ่อยนัก แต่หากเกิดกับใครแล้ว บอกเลยว่า อาการไม่น้อยกว่าแพ้อาหารประเภทอื่นๆ เลยล่ะ แล้วโรค "แพ้กล้วย" ที่ว่านี้คืออะไร และเกิดขึ้นได้อย่างไร มาหาคำตอบกันได้ที่นี่ค่ะ

จากประเด็นการที่ถูกพูดถึง และแชร์กันในโลกออนไลน์ กรณีที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กท่านหนึ่ง ได้โพสต์เรื่องราวประสบการณ์ "แพ้กุ้ง" อย่างหนัก จนถูกหามเข้าโรงพยาบาล ทำให้หลายคนหันมาตื่นตัวเรื่อง “การแพ้อาหาร” กันมากขึ้น สำหรับวันนี้ คมชัดลึก ออนไลน์ จึงอยากนำเสนอ โรค “แพ้กล้วย” ที่แม้จะพบได้ไม่บ่อยนัก แต่หากเกิดกับใครแล้ว บอกเลยว่า อาการไม่น้อยกว่าแพ้อาหารประเภทอื่นๆ เลยล่ะค่ะ

"กล้วย" สุดยอดผลไม้ยอดนิยมจากอดีตจนถึงปัจจุบัน กล้วยเป็นผลไม้ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายแขนง โดยเฉพาะในเรื่องของอาหารการกิน ที่เป็นได้ทั้งวัตถุดิบในอาหารคาว และอาหารหวาน อีกทั้งการรับประทานกล้วยสุกแบบทั้งลูกก็ยังได้ทั้งความอร่อย และคุณค่าทางสารอาหารแบบเต็มเปี่ยมด้วย แต่คุณรู้หรือไม่ว่า มีใครหลายคนที่ไม่สามารถรับประทานกล้วยได้เลย เนื่องจากมีอาการของ โรค "แพ้กล้วย" แล้วโรค "แพ้กล้วย" ที่ว่านี้คืออะไร และเกิดขึ้นได้อย่างไร มาหาคำตอบกันได้ที่นี่ค่ะ

 

โรค "แพ้กล้วย" คืออะไร

โรคแพ้กล้วย หรืออาการแพ้กล้วย ฟังดูแปลก แต่มีอยู่จริง โดยอาการแพ้กล้วยนั้นเป็นผลมาจากโปรตีนชนิดที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ซึ่งพบในกล้วย และโปรตีนดังกล่าวยังเป็นโปรตีนชนิดเดียวกันกับที่พบในถั่ว หรือผลไม้อื่น ๆ ที่สามารถก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ ซึ่งคุณอาจเคยได้ยินในชื่อ อาการแพ้ถั่ว หรือโรคแพ้แอปเปิ้ล กันมาบ้าง สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรง สามารถที่จะแสดงอาการออกมาเพียงแค่ไม่กี่นาทีที่รับประทนกล้วยเข้าไป ในขณะที่บางรายอาจมีอาการแพ้แค่เพียงชั่วคราว และทุเลาลงได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง หรือครึ่งชั่วโมง

 

สาเหตุของอาการ "แพ้กล้วย" มาจากอะไร

สาเหตุหลักและสาเหตุเดียวก็คือมาจากการรับประทานกล้วย แต่ที่มากกว่าการรับประทานกล้วยนั่นก็คือ การแพ้โปรตีน หรือที่เรารู้จักกันในชื่อว่า อาการแพ้โปรตีนลาเท็กซ์ หรือแพ้โปรตีนในน้ำยาง (Latex food syndrome) และกล้วยเป็นผลไม้ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มของผลไม้ที่มีโปรตีนสำหรับก่อภูมิแพ้ดังกล่าว เช่นเดียวกับ กีวี แอปเปิ้ล และอะโวคาโด ดังนั้นผู้ที่มีอาการแพ้โปรตีนลาเท็กซ์ หรือแพ้โปรตีนในผลไม้ชนิดอื่นๆ ต่างก็มีความเสี่ยงสูงที่จะมีอาการแพ้กล้วยได้เช่นกัน

 

อาการของโรค "แพ้กล้วย" เป็นอย่างไร

อาการแพ้สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ทันทีหลังจากที่รับประทานกล้วยเข้าไป แต่กับบางรายอาจใช้เวลาสักพักจึงจะมีอาการ ซึ่งการแสดงอาการก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลด้วย อย่างไรก็ตาม อาการแพ้กล้วย มีดังต่อไปนี้

 

  • มีอาการคันบริเวณริมฝีปาก ลิ้น และลำคอ
  • เป็นลมพิษ
  • ตาบวม
  • คันที่ดวงตา
  • ตาแดง
  • มีอาการจาม และน้ำมูกไหล
  • หายใจถี่รัว
  • ปวดท้อง
  • อาเจียน
  • ท้องเสีย

 

และสำหรับผู้ที่มีอาการแพ้โปรตีนในน้ำยาง อาการแพ้กล้วยอาจทวีความรุนแรงได้มากขึ้นกว่าอาการปกติ ได้แก่

 

  • ลมพิษและมีอาการคัน
  • ผิวเป็นผื่นแดง
  • หายใจลำบาก หายใจมีเสียงดังฮืดฮาด
  • คอบวม
  • เสียงแหบ
  • ความดันโลหิตลดลง
  • เกิดอาการช็อค
  • เวียนศีรษะ
  • อาเจียน
  • ท้องเสีย

 

การป้องกันอาการ "แพ้กล้วย"

การรักษาที่ดีที่สุด คือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการแพ้ ระวัง และหลีกเลี่ยงการรับประทานกล้วย รวมถึงอาหารที่มีส่วนผสมของกล้วย และผลไม้ประเภทอื่นๆ เช่น กีวี หรืออะโวคาโด เนื่องจากเป็นผลไม้ที่มีโปรตีนก่อภูมิแพ้ชนิดเดียวกันกับที่พบในกล้วย อย่างไรก็ตาม สามารถที่จะระมัดระวังได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ด้วยเข้ารับการทดสอบอาการแพ้ ตรวจหาค่าความแพ้ต่อโปรตีน เพื่อที่จะสามารถระมัดระวังและรับมือกับอาการแพ้ที่จะเกิดขึ้นได้ และอีกข้อสำคัญสำหรับผู้ที่มีอาการภูมิแพ้ คือ ไม่ว่าจะเป็นภูมิแพ้ชนิดใดก็ตาม ควรแจ้งต่อคนรอบข้างให้รับทราบถึงอาการป่วยของตนเอง เพื่อที่ถ้าหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น จะได้สามารถรับมือได้ถูกต้องและทันเวลา

 

เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

สามารถไปพบคุณหมอได้ในสองกรณีคือ

  • กรณีที่หนึ่ง ไปพบคุณหมอ เพื่อเข้ารับการทดสอบอาการแพ้ เป็นการป้องกันตนเองตั้งแต่เนิ่นๆ ให้สามารถที่จะหลีกเลี่ยงและดูแลตนเองให้ห่างไกลจากอาการแพ้ชนิดนั้นๆ และ
  • อีกหนึ่งกรณีคือ เมื่อมีอาการแพ้หลังจากรับประทานกล้วยเข้าไป โดยอาการนั้นไม่ทุเลาลง และทวีความรุนแรงมากขึ้น ควรรีบพาผู้ป่วยไปพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจและรับการรักษาโดยทันที

 

ที่มาข้อมูล : Hello คุณหมอ