รู้จัก "ลำไส้อักเสบ" หลังพบเชื้อตกค้าง คนเคยติดโควิดถึง 7 เดือน
จากการศึกษาผู้ป่วย Long COVID ที่มีภาวะ "ลำไส้อักเสบ" 46 ราย พบว่า สามารถตรวจพบสารพันธุกรรมของไวรัสโรคโควิด-19 ในเยื่อบุลำไส้ในผู้ป่วยได้ถึง 70% แม้จะเป็นเวลาเฉลี่ย 7.3 เดือน นับจากวันที่ติดเชื้อแล้วก็ตาม
"หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า ทีมวิจัยจากออสเตรีย เพิ่งเผยแพร่งานวิจัยในวารสารการแพทย์ระบบทางเดินอาหาร Gastroenterology เมื่อ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ศึกษาในผู้ป่วย Long COVID ที่มีภาวะ "ลำไส้อักเสบ" 46 ราย พบว่า สามารถตรวจพบสารพันธุกรรมของไวรัสโรคโควิด-19 ในเยื่อบุลำไส้ในผู้ป่วยได้ถึง 70% แม้จะเป็นเวลาเฉลี่ย 7.3 เดือน นับจากวันที่ติดเชื้อแล้วก็ตาม
ผลการวิจัยนี้ จึงมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนสมมติฐานว่า การติดเชื้อแล้วมีเชื้อไวรัส หรือส่วนของไวรัสคงค้างยาวนาน น่าจะมีส่วนที่จะกระตุ้นให้เกิดภาวะผิดปกติ หรือการอักเสบตามมา จนเกิดภาวะ "ลำไส้อักเสบ"
"ลำไส้อักเสบ" โรคที่มีการอักเสบของระบบทางเดินอาหารชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดการอักเสบที่เยื่อบุผนังบริเวณลำไส้ใหญ่ ส่งผลให้เกิดแผลที่ผนังทางเดินอาหาร โดยอาการอักเสบที่เกิดขึ้นส่งผลให้เกิดเลือดออกที่ผนังลำไส้ ทำให้ลำไส้บีบตัวเร็วขึ้น ผู้ป่วยจึงมีอาการปวดท้อง ท้องร่วง ถ่ายมีมูกเลือดปนออกมา ทั้งนี้เกิดจากการหลุดลอกของเยื่อบุผนังลำไส้ที่มีเกิดการอักเสบนั่นเอง
"ลำไส้อักเสบ" เกิดจากสาเหตุใด
ทางการแพทย์ยังไม่พบสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคลำไส้อักเสบ แต่สาเหตุที่เป็นไปได้นั้นอาจเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันร่างกายทำงานผิดปกติ เพราะโดยปกติแล้วระบบภูมิคุ้มกันจะทำหน้าที่ป้องกันและกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกายอย่างเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย แต่เมื่อระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติจึงทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น ดังนั้นจึงทำให้เกิดการติดเชื้อและการอักเสบที่ลำไส้ตามมา ส่วนในกรณีที่ผู้ป่วยมีระบบภูมิคุ้มกันที่ทำงานผิดปกติเป็นระยะเวลานานๆ อาจทำให้เกิดอาการลำไส้อักเสบเรื้อรังได้
อาการที่บ่งชี้ว่าคุณกำลังเป็นโรค "ลำไส้อักเสบ"
อาการที่พบได้บ่อยในโรคลำไส้อักเสบ คือ ท้องเสียหรือท้องร่วงร่วมกับปวดท้อง โดยอาการปวดท้องนั้นจะมีลักษณะแบบปวดบีบๆ นอกจากนั้นอาจมีอาการอื่นที่พบร่วมด้วย เช่น
- ลักษณะอุจจาระอาจเหลว เป็นน้ำ เป็นมูกหรือเป็นมูกเลือด
- มีไข้สูง หรือ ไข้ต่ำ รู้สึกหนาวสั่น
- คลื่นไส้ อาเจียน
- อ่อนเพลีย
หากท้องเสียมาก มีอาเจียนร่วมด้วย และดื่มน้ำได้น้อย อาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำได้ ซึ่งถ้ามีอาการดังที่กล่าวมาอย่างรุนแรง อาการไม่ดีขึ้นหรืออาการแย่ลงภายใน 24 ชั่วโมง ควรรีบไปโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ แต่ถ้ากรณีมีไข้สูง ปวดท้องมากและเกิดอาการจากภาวะขาดน้ำ เช่น ตาโหล ปากแห้ง วิงเวียน เป็นลม ใจสั่น ต้องรีบไปโรงพยาบาลโดยทันที
โรค "ลำไส้อักเสบ" รักษาได้อย่างไรบ้าง
การรักษาตามอาการ คือ การป้องกันภาวะขาดน้ำด้วยการให้กินผงละลายเกลือแร่โออาร์เอส หรือถ้าขาดน้ำมากจะให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ และให้รับประทานอาหารอ่อนหรืออาหารเหลว โดยแพทย์อาจให้ทานยาแก้ปวดและยาแก้คลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย
การรักษาโดยให้ยาปฏิชีวนะ กรณีเกิดการอักเสบจากติดเชื้อแบคทีเรีย หรือการให้ยาฆ่าเชื้อราเมื่อมีการอักเสบเกิดจากเชื้อรา เป็นต้น
โรค "ลำไส้อักเสบ" ป้องกันได้อย่างไร
การป้องกันโรคลำไส้อักเสบที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อสามารถป้องกันได้โดย
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน
- รักษาความสะอาดของอาหาร น้ำดื่มโดยเฉพาะน้ำแข็ง ห้องครัว เครื่องใช้ในการปรุงอาหาร
- อาหารควรปรุงให้สุกอย่างทั่วถึง
- ล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ
- ใช้ส้วมเสมอในการขับถ่าย เพื่อลดโอกาสเกิดโรคระบาดติดต่อทางอุจจาระ
- กรณีที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ ควรศึกษาสุขอนามัยของประเทศที่จะไปก่อนเสมอ โดยเฉพาะเรื่องน้ำดื่มและอาหารการกิน
สำหรับการป้องกันโรค "ลำไส้อักเสบ" ที่ไม่ทราบสาเหตุจากการติดเชื้อ เป็นโรคที่ไม่สามารถป้องกันได้ ดังนั้นเราจึงควรใส่ใจความสะอาดของอาหารที่รับประทานและการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งนี้เพื่อช่วยลดความเสี่ยงไม่ให้เกิดโรคลำไส้อักเสบ
ที่มาข้อมูล : โรงพยาบาลนครธน