ไลฟ์สไตล์

ทำความรู้จัก "โรคฝีดาษลิง" หลังพบผู้ป่วยรายแรกในไทย ที่ จ.ภูเก็ต

ทำความรู้จัก "โรคฝีดาษลิง" หลังพบผู้ป่วยรายแรกในไทย ที่ จ.ภูเก็ต

21 ก.ค. 2565

กรมควบคุมโรค(คร.) เผยพบผู้ป่วย "โรคฝีดาษลิง" (Monkeypox) ยืนยันที่ จ.ภูเก็ต เป็นรายแรกของประเทศไทย วันนี้ คมชัดลึกออนไลน์ จะพาทำความรู้จักโรคนี้แบบเจาะลึกกันค่ะ

 

"โรคฝีดาษลิง" คืออะไร มีสาเหตุจากอะไร

 

"โรคฝีดาษลิง" เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส พบครั้งแรกในลิงทดลองในปี พ.ศ.2501 โรคนี้พบมากในแอฟริกากลางและตะวันตก สัตว์หลายชนิด รวมทั้งคนสามารถติดเชื้อนี้ได้ ในปี พ.ศ.2546 ได้เกิดการระบาดของโรคนี้ในคนที่ติดเชื้อจาก แพรี่ ด็อก ในสหรัฐอเมริกา เชื้อไวรัสฝีดาษลิงเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกับเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคฝีดาษในคนและฝีดาษวัว

 

สัตว์ชนิดใดเป็น "โรคฝีดาษลิง" ได้บ้าง

 

สัตว์ตระกูลลิง ได้แก่ ลิงโลกใหม่ ลิงโลกเก่า ลิงไม่มีหาง และสัตว์ฟันแทะหลายชนิด (หนู กระรอก แพรี่ ด็อก) กระต่ายสามารถติดเชื้อนี้ได้ ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามีสัตว์ชนิดใดอีกบ้างที่สามารถติดโรคนี้ได้ สัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงหลายชนิดอาจสามารถติดเชื้อได้เช่นกัน

 

สัตว์ติด "โรคฝีดาษลิง" ได้อย่างไร

โรคฝีดาษลิงติดต่อโดยการสัมผัสโดยตรงระหว่างสัตว์ที่ติดเชื้อกับสัตว์ปกติ โดยอาจสัมผัสกับรอยแผลบนผิวหนัง หรืออาจติดได้ทางการหายใจ

 

"โรคฝีดาษลิง" มีผลต่อสัตว์อย่างไร

 

ในสัตว์ตระกูลลิง หลังได้รับเชื้อมักมีผื่นขึ้นอยู่นานประมาณ 4-6 สัปดาห์ และจะพบตุ่มหนองขึ้นตามร่างกาย โดยบริเวณที่พบบ่อยที่สุด คือ ใบหน้า แขนขา ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และหาง เชื้อนี้มักไม่ทำให้สัตว์ตายแต่อาจพบการตายได้บ้างในลิงแรกเกิด ลิงบางตัวอาจจะติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการป่วยเลย

 

ในกระต่ายและสัตว์ฟันแทะรวมถึง แพรี่ ด็อก จะมีอาการเริ่มต้น คือ มีไข้ ตาแดง มีน้ำมูก ไอ ต่อมน้ำเหลืองบวม ซึม และไม่กินอาหาร หลังจากนั้นจะเริ่มมีผื่นและตุ่มหนองขึ้นตามตัว ร่วมกับมีขนร่วงเป็นหย่อมๆ ในสัตว์บางชนิดเชื้ออาจทำให้ปอดบวมและตายได้

 

คนติด "โรคฝีดาษลิง" ได้หรือไม่

 

คนสามารถติดโรคนี้จากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สิ่งคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัด การแพร่เชื้อจากคนสู่คนอาจเกิดขึ้นได้แต่มีโอกาสน้อยมาก ผู้ป่วยจะแสดงอาการของโรคหลังจากติดเชื้อแล้วประมาณ 12 วัน อาการป่วย ได้แก่ มีไข้ หนาวสั่น ปวดหัว เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง และอ่อนเพลีย จากนั้นประมาณ 1-3 วัน จะมีผื่นขึ้นบริเวณแขนขา และอาจจะเกิดบนหน้าและลำตัวได้ด้วย จากนั้นผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง ในระยะสุดท้ายตุ่มหนองจะมีสะเก็ดคลุมแล้วหลุดออกมา อาการป่วยมักเป็นอยู่ประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้

 

การป้องกันสัตว์จาก "โรคฝีดาษลิง" 

 

สามารถใช้วัคซีนป้องกันฝีดาษในคนฉีดป้องกันโรคนี้ในสัตว์ตระกูลลิงได้ สำหรับสัตว์อื่น วิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ และไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยง โดยเฉพาะ แพรี่ ด็อก หรือหนูป่าชนิดต่างๆ

 

การป้องกันตัวจาก "โรคฝีดาษลิง"

 

หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ ถึงแม้วัคซีนฝีดาษคนจะสามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อฝีดาษลิงได้ แต่การฉีดวัคซีนควรทำเฉพาะในคนที่ต้องทำงานที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนการระบาดของโรคฝีดาษลิงและคนที่ต้องทำงานอย่างใกล้ชิดกับคนหรือสัตว์ที่ติดเชื้อเท่านั้น และสามารถให้วัคซีนได้ภายหลังการได้รับเชื้อไม่เกิน 14 วัน

 

 

ที่มาข้อมูล : หน่วยปฏิบัติการวิจัยโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำในสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ภาพ : ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (ซีดีซี) สหรัฐ