กระทรวงสาธารณสุข ตอกย้ำทิศทางสาธารณสุขยุค Next Normal
กระทรวงสาธารณสุข ผนึกกำลัง สปสช.และเครือข่ายคลินิกโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นฯ เดินหน้าพัฒนาระบบบริการสุขภาพโรคระบบทางเดินหายใจในยุค Next Normal
กระทรวงสาธารณสุข สปสช.และเครือข่ายคลินิกโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย ร่วมประชุมและกำหนดแนวทางเพื่อก้าวต่อไปของการดูแลผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ กับสถานการณ์ที่ท้าทายด้านการสาธารณสุขระดับโลก และทิศทางการพัฒนาระบบบริการสุขภาพโรคระบบทางเดินหายใจในยุค Next Normal ในการประชุมประจำปีครั้งที่ 17 ของเครือข่ายคลินิกโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นฯ (Easy Asthma and COPD Clinic Network : EACC) ที่ห้องเดอะอโนมา แกรนด์ โรงแรมอโนมา แกรนด์ เมื่อวันก่อน
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต
ภายในงาน ได้รับเกียรติจาก นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “ทิศทางสาธารณสุขยุคใหม่” โดย นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า โรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง นับเป็นโรคเรื้อรังในระบบสาธารณสุข ทั้งด้านคุณภาพชีวิตและการเข้าถึงบริการ โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดมักจะเกิดปัญหากับปอดทำให้อาการแย่ลง หรืออาจจะรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต จากรายงานทราบว่าผู้ที่เสียชีวิตกว่า 90 เปอร์เซ็นต์คือกลุ่ม 608 โดยผู้สูงอายุจะอยู่ในภาวะหายใจเหนื่อยหอบ ที่อาจจะเกิดจากการสูบบุหรี่มายาวนาน หรือจากการแพ้ฝุ่นและมลภาวะทางอากาศ ซึ่งหากอาการเหนื่อยหอบนี้เรื้อรังจะส่งผลกระทบต่ออารมณ์ จิตใจ ความคิด และคุณภาพชีวิต คนเหล่านี้จึงต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ
“ปัญหาของกลุ่มโรคเรื้อรังในการเข้าสู่กระบวนการรักษาที่พบคือ การเข้าถึงบริการ คุณภาพการบริการ และการดูแลตัวเองที่บ้าน รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิต ปัญหา 3 อย่างนี้เป็นสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขพยายามจัดระบบพัฒนาแบบเร่งด่วน โดยการร่วมมือกับโรงพยาบาลศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น และ รศ.นพ.วัชรา บุญสวัสดิ์ จากเครือข่าย EACC ในการพัฒนาเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการบริการในระดับชุมชน หรือบางแห่งเข้าถึงโรงพยาบาลตำบล โดยมีวิธีการประเมินคุณภาพปอด วิธีการรักษาดูแล ซึ่งพัฒนาไปค่อนข้างมาก เพราะเดิมทีโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังต้องรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น แต่ปัจจุบันสามารถให้หมอทั่วไปดูแลได้ ทั้งนี้การรักษาอย่างต่อเนื่อง การได้รับคำแนะนำเรื่องการดูแลสภาพปอด ประกอบกับการนำระบบ Service Plan มาสนับสนุนทำให้เกิดการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ในส่วนของเครือข่ายคลินิกโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นฯ EACC เราทำมากว่า 10 ปี ปัจจุบันมีแนวร่วมเครือข่ายกว่า 1,000 แห่ง และพยายามเข้าถึงในทุกพื้นที่ แต่หากพื้นที่ที่เข้าไม่ถึงก็ต้องใช้ อสม.เข้าไปช่วย ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการการรักษาให้ถูกวิธี โดยหมอ พยาบาล เภสัชกร ผู้ให้บริการด้านสาธารณสุข รวมทั้ง อสม.ต้องทำความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้โรคเรื้อรังเหล่านี้เป็นภาระต่อไปในอนาคต รวมถึงต้องมีการยกระดับมาตรฐานคุณภาพการรักษาผู้ป่วยให้มากขึ้น การสร้างเครือข่ายให้มีความเข้มแข็งและมีคุณภาพ มีมาตรฐานการรักษาทั้งในระดับทุติยภูมิ ปฐมภูมิ และตติยภูมิ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสูด และตอนนี้จะเพิ่มในเรื่อง digital health ด้วยการใช้ Telemedicine และแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการได้ง่ายและมีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น ต้องขอขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ทุกท่านที่ทำงานด้วยความยากลำบากอย่างยาวนาน ทำหน้าที่อย่างมีเกียรติและเกิดประโยชน์กับประเทศไทยอย่างมาก” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
รศ.นพ.วัชรา บุญสวัสดิ์
ขณะที่ รศ.นพ.วัชรา บุญสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายคลินิกโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย กล่าวว่า จากความสำเร็จของ EACC ที่ผ่านมาที่มีแนวทางการรักษาที่ง่ายและได้มาตรฐาน เน้นการให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมอาการได้เป็นอย่างดี รวมถึงการขยายเครือข่ายออกไปให้ครอบคลุมและเข้าถึงทุกพื้นที่ แต่เมื่อสภาพสังคมจำเป็นต้องก้าวเข้าสู่วิถีชีวิตแบบ New Normal การก้าวเดินครั้งต่อไปของ EACC จึงนับเป็นก้าวเดินที่ท้าทาย และนำไปสู่เส้นทาง EACC The Next Normal โดย EACC จะมุ่งเน้นให้ผู้ป่วยสามารถรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยเข้าถึงการรักษาบนมาตรฐาน EACC แม้ว่าอยู่ที่บ้าน ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับการรักษาที่ไม่แตกต่าง เพราะ Quality of Care เป็นสิ่งสำคัญ โดยผู้ป่วยโรคหืดต้องสามารถควบคุมอาการของโรคได้ แม้ในสภาวการณ์ที่เปลี่ยนไป ทั้งเรื่องสภาพแวดล้อม และสภาพสังคมวิถีใหม่
“เพื่อป้องกันการกำเริบของโรค เรามุ่งเน้นให้ผู้ป่วยรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ต้องพ่นยาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมโรคได้ รวมทั้งลดภาระภาครัฐเรื่องค่าใช้จ่ายการรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลได้ นอกจากนี้ เรายังได้นำเครื่องมือใหม่ๆ และเทคโนโลยีเข้ามาเสริมทัพการทำงานของทีม เช่น EACC pocket guide และโครงการ Telehealth Together ซึ่งได้ร่วมมือกับ ทรู เฮลท์ นำเทคโนโลยีดิจิทัลช่วยอำนวยความสะดวกให้แพทย์และผู้ป่วยสามารถพบกันได้ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยผู้ป่วยโรคหืดสามารถพบแพทย์เพื่อติดตามอาการได้อย่างต่อเนื่องและควบคุมโรคได้โดยไม่ต้องไปโรงพยาบาล เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการส่งเสริมให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” รศ.นพ.วัชรา กล่าว
ร่วมก้าวเดินอย่างท้าทายไปพร้อมกับเรา และพร้อมสร้าง ปรากฎการณ์ใหม่ร่วมกันอีกครั้ง EACC The Next Normal