ไขข้อข้องใจ "น้ำกัญชา" คลายเครียดได้จริงไหม อ่านตรงนี้มีคำตอบ
จากปัญหาสังคม และสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน อาจจะทำให้หลายคนเกิดภาวะเครียด หรือมีความวิตกกังวลเพิ่มขึ้น ทั้งแบบรู้ตัวและไม่รู้ตัว ซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ประสิทธิภาพในการทำงาน ความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ฯลฯ คำถามคือ แล้วจะทำอย่างไรให้ความเครียดนั้นหายไป
จากตัวเลขการตรวจเช็คสุขภาพใจ (Mental Health Check In) ของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ผ่านช่องทาง www.วัดใจ.com ในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2565 พบว่า คนไทยมีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มสูงขึ้น โดยมีแนวโน้มเครียดสูง 7.52% เสี่ยงซึมเศร้า 8.88% มีภาวะหมดไฟ 4.16% และเสี่ยงฆ่าตัวตาย 4.90% ซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของ “โควิด-19” กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานที่บ้าน การไปเที่ยวหรือทำกิจกรรมนอกบ้าน ต้องหลีกเลี่ยงการพบปะสังสรรค์กับเพื่อนหรือญาติ รู้สึกว่าไม่ได้พักผ่อนอย่างแท้จริง อีกทั้งความกังวลเรื่องรายได้ รวมทั้งผลจากการเสพข่าวต่างๆ มากจนเครียด เช่น ข่าวสงครามยูเครน ข่าวสินค้าราคาแพง ข่าวดราม่าในหลายวงการ ฯลฯ
วิธีการคลายเครียด ช่วยให้อารมณ์ดีมีหลากหลายวิธี แต่ที่กำลังอินเทรนด์ในตอนนี้ ต้องยกให้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ “กัญชา” ซึ่งกำลังขึ้นแท่นไอเทมสุดฮอตของคนรุ่นใหม่ หลังการปลดล็อก "กัญชา" ออกจากการเป็นสารเสพติด
ซึ่งคำถามที่ตามมาคือทำไม "กัญชา" ถึงดีต่อใจ ทำให้ช่วยผ่อนคลาย ปรับอารมณ์ และช่วยนอนหลับสบายจริงหรือ และจะเสพติดหรือไม่ นพ.สุพจน์ สัมฤทธิวณิชชา กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอสถสภา ยันฮี เบฟเวอเรจ จำกัด และผู้ก่อตั้งศูนย์กัญชา โรงพยาบาลยันฮีจะมาไขข้อสงสัย
นพ.สุพจน์ สัมฤทธิวณิชชา กล่าวว่า “กัญชา” เป็นหนึ่งในสมุนไพรที่มีสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและระบบประสาท ซึ่งได้รับการยอมรับมาอย่างยาวนานในการเป็นส่วนประกอบในตำรับยาแพทย์แผนไทยและในต่างประเทศ โดยมีฤทธิ์ระงับอาการปวด ลดการอักเสบ ลดอาการชักเกร็ง และลดความกังวล ซึ่งเป็นผลมาจากสารแคนนาบินอยด์ ที่จะทำงานร่วมกับตัวรับแคนนาบินอยด์ ที่อยู่ในร่างกาย ทำหน้าที่กระตุ้นระบบต่างๆ ทั่วร่างกายให้เกิดสภาวะสมดุล และควบคุมการทำงานของกระบวนการในร่างกาย ทั้งอารมณ์ ความจำ ความอยากอาหาร ความเจ็บปวด และระบบภูมิต้านทานของร่างกาย ส่งผลให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้น ด้วยคุณประโยชน์ของกัญชา จึงทำให้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ “กัญชา” เป็นทางเลือกในการคลายเครียดอีกวิธีหนึ่ง” นพ.สุพจน์ อธิบาย