ไลฟ์สไตล์

เปิดเมนู "อาหาร" เสี่ยงตาย ของคนป่วย "โรคหัวใจ" งด กินเค็ม ได้ยิ่งดี

เปิดเมนู "อาหาร" เสี่ยงตาย ของคนป่วย "โรคหัวใจ" งด กินเค็ม ได้ยิ่งดี

14 มิ.ย. 2565

กรมการเแพทย์ ออกมาเตือนผู้ป่วย "โรคหัวใจ" ไม่อยากเสี่ยง ภาวะหัวใจล้มเหลว หรือเสียชีวิต ต้องหลีกเลี่ยงเมนู "อาหาร" ตามที่เเนะนำ 

กรมการเแพทย์ ออกมาเตือนผู้ป่วย "โรคหัวใจ" ต้องกินอาหารที่มีโซเดียมน้อย กินเค็มน้อย เนื่องจากอาหารที่มีโซเดียมมาก เค็มมาก ส่งผลกระทบให้อาการที่เป็นอยู่เพิ่มความรุนแรง เสี่ยง ภาวะหัวใจล้มเหลว และอาจเสียชีวิตได้  

 

โดยนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า โซเดียม คือแร่ธาตุอย่างหนึ่ง             มีหน้าที่หลักในการรักษาสมดุลของน้ำ และอิเลคโตรไลท์ในร่างกาย ควบคุมระดับความดันโลหิต ร่างกายมีการขับน้ำและแร่ธาตุ รวมถึงโซเดียมได้ 3 ทาง ได้แก่ ปัสสาวะ เหงื่อ อุจจาระ ซึ่งใน 1 วัน ความต้องการสูงสุดของโซเดียมที่ร่างกายควรได้รับและไม่ทำให้เกิดอันตรายอยู่ที่ 2,400 มิลลิกรัม หรือประมาณ 1 ช้อนชา

 

โซเดียมมักอยู่ในเกลือ และสารให้ความเค็มต่าง ๆ เช่น น้ำปลา ซีอิ๊ว กะปิ นอกจากนี้โซเดียมอาจจะอยู่ในอาหารที่ไม่มีรสชาติเค็มอีกด้วย เช่น  เบเกอรี่ เเละขนมอบ ที่มีส่วนประกอบ อาทิเช่น ผงฟู เป็นสารที่ทำให้ขนมปังขึ้นฟู โซเดียมอัลจิเนต ผลิตภัณฑ์ที่เป็นเนื้อเจลให้ความข้นหนืด ผงกันบูด เพื่อยืดอายุการเก็บรักษา เป็นต้น 
 

ทั้งนี้ การจำกัดและควบคุมปริมาณเกลือโซเดียม สามารถช่วยควบคุมและป้องกันความดันโลหิตสูง รวมทั้งป้องกันการเกิด ภาวะหัวใจล้มเหลว ลดภาวะบวมน้ำในผู้ป่วย "โรคหัวใจ" และโรคไตได้  โดยนายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์  ระบุว่า กินเค็มมาก ต่อเนื่องเป็นประจำ ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทำให้ความดันโลหิตสูง หัวใจทำงาน หนักขึ้น และอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหลอดเลือดในสมองแตกหรืออัมพาตได้

อาหาร ที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ อาหารแปรรูปต่างๆ จำพวกอาหารกระป๋องทุกชนิด อาหารหมักดอง อาหารรสเค็ม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป ขนมกรุบกรอบ เนื้อเค็ม ไข่เค็ม ปลาเค็ม ปลาร้า ผัก/ผลไม้ดอง เค้ก คุกกี้ แพนเค้ก ขนมปัง ที่มีผงฟูเป็นส่วนประกอบในการทำอาหาร เครื่องดื่มเกลือแร่ เป็นต้น สำหรับอาหารที่ควรเลือกรับประทานและส่งผลดีต่อผู้ป่วย ได้แก่ อาหารที่ผ่านการแปรรูปน้อยที่สุด หรือประกอบอาหารทานเองซึ่งจะสามารถควบคุมปริมาณเครื่องปรุงได้ อาหารที่มีปริมาณโปแตสเซียมสูง เช่น ผักใบเขียวและผลไม้ ควรลดความถี่ของการบริโภคอาหารที่ต้องมีเครื่องปรุงน้ำจิ้ม และลดปริมาณน้ำจิ้ม 

นอกจากนี้การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอก็ยังเป็นวิธีพื้นฐานที่จะช่วยให้เรามีสุขภาพที่ดีได้ รวมถึงการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีก็เป็นเรื่องสำคัญที่ควรทำเช่นกัน