ย้อนรำลึกถึงเพชรยอดมงกุฎ "ปราสาทพระวิหาร" วันนี้เมื่อ 60 ปีที่ผ่านมา
15 มิถุนายน 2505 ศาลโลก พิพากษาชี้ขาดให้ "ปราสาทพระวิหาร" ตกเป็นของกัมพูชา โดยใช้หลักกฎหมายการยอมรับโดยปริยาย เนื่องจากรัฐบาลสยามไม่โต้แย้งแผนที่ ซึ่งนักภูมิศาสตร์ฝรั่งเศสจัดทำขึ้นตามคำขอของรัฐบาลสยามเอง
แม้ว่าเรื่องราวจะผ่านพ้นมาระยะหนึ่งแล้ว แต่เชื่อว่าเรื่องราวของ “ปราสาทพระวิหาร” ยังคงติดตรึงอยู่ในความทรงจำของคนไทยไปอีกนานทีเดียว นั่นเพราะวันนี้ (15 มิถุนายน) ปี 2505 ศาลโลก หรือ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ พิพากษาชี้ขาดให้ตัว "ปราสาทพระวิหาร" ซึ่งตั้งอยู่ที่ชายแดนไทยด้านอำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ และชายแดนกัมพูชาด้านจังหวัดพระวิหาร ตกเป็นของกัมพูชา ด้วยคะแนนเสียง 9 ต่อ 3 โดยใช้หลักกฎหมายการยอมรับโดยปริยาย เนื่องจากรัฐบาลสยามไม่โต้แย้งแผนที่ ซึ่งนักภูมิศาสตร์ฝรั่งเศสจัดทำขึ้นตามคำขอของรัฐบาลสยามเอง
ต่อมาเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ขึ้นทะเบียน “ปราสาทพระวิหาร” เป็นมรดกโลกในประเทศกัมพูชา และในปี 2554 คดีความเรื่องเขาพระวิหารปะทุขึ้นอีกครั้ง หลังเกิดกรณีพิพาทด้วยอาวุธขึ้นโดยรอบปราสาท กัมพูชาจึงขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาปี 2505 อีกครั้งกรณีบริเวณโดยรอบปราสาทพระวิหาร
คําพิพากษาของศาลโลกมีสาระสําคัญโดยสรุป ดังนี้
- ศาลโลกรับตีความตามคําร้องของฝ่ายกัมพูชา เฉพาะในประเด็นที่ศาลเห็นว่าทั้งสองฝ่ายมีความเข้าใจแตกต่างกัน และเฉพาะภายในขอบเขตของคําพิพากษา พ.ศ. 2505
- ศาลโลกไม่รับพิจารณาประเด็นเส้นเขตแดน หากแต่พิจารณาเฉพาะประเด็นอธิปไตยเหนือตัวปราสาทพระวิหารและขอบเขตของบริเวณใกล้เคียงปราสาท ซึ่งคําตัดสินของศาลโลกเป็นไปตามแนวทางการสู้คดีของฝ่ายไทย โดยศาลไม่รับพิจารณาข้อเรียกร้องของกัมพูชาเหนือพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร และศาลไม่ได้ตัดสินว่าแผนที่ มาตราส่วน 1:200,000 ผูกพันไทยภายใต้คดีเดิมในฐานะเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชา
- ศาลโลกรับพิจารณาเกี่ยวกับบริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหาร ซึ่งศาลเห็นว่าเป็นบริเวณพื้นที่ขนาดเล็ก และศาลได้อธิบายขอบเขตของบริเวณดังกล่าวในทางสภาพภูมิศาสตร์ ซึ่งจํากัดอยู่เฉพาะบริเวณเขาพระวิหาร ไม่รวมถึงภูมะเขือ โดยในขั้นตอนต่อไป ไทยและกัมพูชาจะต้องหารือกันในรายละเอียดของขอบเขตบริเวณใกล้เคียงปราสาทต่อไป
- ศาลโลกแนะนําให้ไทยและกัมพูชาร่วมกันพัฒนาปราสาทพระวิหารในฐานะมรดกโลก
ปัจจุบันกัมพูชาได้สร้างถนนคอนกรีตยาว 3 กิโลเมตร และทำบันไดนับพันขั้นขึ้นไปยัง "ปราสาทพระวิหาร" ได้สำเร็จ และเป็นเส้นทางที่ประชาชนทั่วไปใช้ขึ้นไปชมปราสาทได้ผ่านทางประเทศกัมพูชาเท่านั้น (ในอดีตการเยี่ยมชมปราสาทพระวิหารจะใช้ทางขึ้นจากฝั่งไทย โดยทางการไทยและทางการกัมพูชามีรายได้จากการท่องเที่ยวร่วมกัน แต่ปัจจุบันมีความตึงเครียดระหว่างแนวชายแดนประชาชนทั่วไปจึงไม่สามารถขึ้นไปชมประสาทจากทางประเทศไทยได้อีก)