รู้จักบุคคลใน ประวัติศาสตร์ กรุงรัตนโกสินทร์ บนภาพยนตร์ "บุพเพสันนิวาส 2"
ทำความรู้จักบุคคลใน ประวัติศาสตร์ จริงของ กรุงรัตนโกสินทร์ ที่ถูกยกมาเป็นตัวละคร ในภาพยนตร์ "บุพเพสันนิวาส 2"
เป็นอีกภาพยนตร์ที่น่าสนใจและน่าจับตา กับ "บุพเพสันนิวาส 2" การผลิตของ GDH เรื่องราวของ ภพ กับ แม่เกสร และฉากในเรื่องที่เป็นยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเราจะไม่เล่าเรื่องย่อในภาพยนตร์ในเสียอรรถรส แต่สนใจในตัวละคร ที่ร่วมอยู่ในฉากของเรื่อง เพราะเป็นตัวละครที่มีตัวตนจริงในหน้าประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งมีทั้งชาวต่างชาติ ที่เข้ามามีบทบาทในสังคม มีทั้งผู้เผยแพร่ศาสนา ริเริ่มการมีหนังสือพิมพ์ครั้งแรก รวมทั้งยังเข้ามามีบทบาทในแวดวงราชการ และ ราชสำนัก ถือว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง และเป็นการรื้อฟื้นความรู้ของผู้อ่าน เพราะบุคคลในประวัติศาสตร์บางท่าน เราเคยเรียนสมัยเรียนหนังสือกันมาแล้ว
นายหันแตร เจ้าของห้างสรรพสินค้าแรกของประเทศ
นายหันแตร เป็นชื่อเรียกตามประสาคนรัตนโกสินทร์เวลานั้น ซึ่งเป็นชื่อเรียกถึง นายโรเบิร์ต ฮันเตอร์ ชาวอังกฤษ เชื้อสายสก็อต ซึ่งเป็นชาวต่างชาติหรือชาวยุโรปคนแรก ที่เข้ามาทำธรุกิจการค้า และเปิดห้างอยู่หน้าวัดประยูรวงศาวาส นายหันแตร เป็นคนพาแฝด อิน จัน ไปแสดงตัวที่สหรัฐอเมริกา จนมีชื่อเสียงโด่งดัง และได้เข้ารับราชการ ได้รับพระราชทาน บรรดาศักดิ์เป็น หลวงอาวุธวิเศษประเทศพานิช จากรัชกาลที่ 3 มีบ้านเรือนอยู่แถววัดกุฏีจีน แต่งานกับ นางแองเจลิน่า ที่ว่ากันว่าเป็นเชื้อสายเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ รุ่นที่ 4
แม้จะเป็นนักธุรกิจ พ่อค้า ที่ช่วยเหลือราชสำนักในการค้าขาย แต่ด้านมืดของนายหันแตร ก็มีให้เห็นในหน้าประวัติศาสตร์ โดนนายหันแตร ลักลอบเอาฝิ่นเข้ามาขายในประเทศ ซึ่งเป็นสินค้าต้องห้ามในสมัยรัชกาลที่ 3 รวมทั้งยังเกือบหลอกขาย เรือเอ็กซ์เพลส ที่มีความเก่าและชำรุด ในราคาสูงให้กับสยาม ซึ่งราชสำนักไม่รับซื้อ ยัดเยียดขายปืนคาบศิลาเกินกำหนดที่สยามสั่ง ในคราวที่เตรียมจะรบกับโครชินไชน่า รวมทั้งมักจะขู่สยามด้วยกองทัพเรืออังกฤษ จนทำให้ต้องมีการเนรเทศนายหันแตรออกไปในปี 2387 แต่อย่างไรนายหันแตร ก็ยังเข้ามาสยามอีกหลายครั้ง และเมื่อสิ้นรัชกาลที่ 3 นายหันแตรกลับเข้ามาอีก เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) สมุหกลาโหมได้อุปการะไว้ แต่การกลับเข้ามาครั้งใหม่นี้ นายหันแตรคงจะหมดพิษสงลงไปมาก เพราะไม่ปรากฏเรื่องวุ่นวายอีก และทำงานอยู่กับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จนถึงแก่กรรมในวันที่ 19 เมษายน 2408
บาทหลวงปัลเลอกัวซ์
บาทหลวงปัลเลอกัวซ์ หรือ พระสังฆราชปัลเลอกัวซ์ เป็นบาทหลวงคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส ปฏิบัติหน้าที่มิชชันนารีในประเทศไทยในรัชสมัยรัชกาลที่ 3 จนถึงรัชสมัยรัชกาลที่ 4 มีสมณศักดิ์เป็นประมุขมิสซังสยามตะวันออก และมุขนายกเกียรตินามแห่งมาลลอสหรือมัลลุส พระสังฆราชปัลเลอกัวซ์ ได้นำวิทยาการการถ่ายรูปเข้ามาในประเทศไทย นอกจากนี้ท่านยังจัดทำพจนานุกรมสี่ภาษาเล่มแรกของไทยขึ้นชื่อ สัพะ พะจะนะ พาสา ไท โดยมีภาษาทั้งสี่ที่ว่านี้คือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และภาษาละติน
หมอบรัดเลย์
หมอบรัดเลย์ หรือ นายแพทย์แดน บีช แบรดลีย์ หมอจากรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ได้เข้ามาในประเทศไทย ของวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2378 พร้อมกับครอบครัว และได้เช่าบ้านประกอบอาชีพแพทย์ รักษาให้กับชาวจีน ในย่านวัดเกาะ เยาวราช ก่อนจะย้ายบ้านอีกครั้งไปอยู่วัดกุฏีจีน และมีชื่อเสียงขึ้นมาจากการผ่าตัดรักษาพระภิกษุที่ถูกระเบิดจากพลุระเบิด ในงานวัดประยุรวงศาวาส ด้านภรรยาเข้าไปสอนภาษาในวัง อีกทั้งยังรับจ้างพิมพ์หนังสือให้ราชการ ก่อนจะกลับบ้านเกิดเนื่องจากภรรยาป่วยและเสียชีวิต ต้องพาลูก4คนกลับอเมริกา เพื่อหาช่องทางการศึกษาให้ และทุน ก่อนจะกลับมาไทยอีกครั้ง และได้เปิดหนังสือพิมพ์ฉบับแรกขึ้น ชื่อว่า บางกอกรีคอร์ดเดอร์ รับหน้าที่บรรณาธิการและเขียนบทความต่าง ๆ ขณะที่ภรรยาใหม่ก็ได้เข้าไปสอนภาษาในวัง รวมทั้งหมอบรัดเลย์ ยังได้เริ่มต้นการปลูกฝีให้คนไทยเป็นครั้งแรก
ต่อมารัชกาลที่ 3 ได้พระราชทานที่ดินให้ตั้งบ้านเรือน สร้างโรงพิมพ์ อยู่ที่ริมคลองบางกอกใหญ่ ใกล้ป้อมวิไชยประสิทธิ์
สุนทรภู่ กวีเอกแห่งรัตนโกสินทร์
หนึ่งในตัวละครของภาพยนตร์ ที่ได้เปิดเผยให้เห็นในตัวอย่าง ซึ่งเป็นนักกวีชื่อดังของไทย เป็นอาลักษณ์ราชสำนักในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ต่อมาต้องออกบวช เนื่องจากเป็นฝ่ายสนับสนุนเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี
การเมืองในสมัยรัชกาลที่ 2 ผู้มีอำนาจทางการเมืองอย่างสูง มีอยู่ด้วยกัน 3 บุคคล ได้แก่ กรมหมื่นเจษฏาบดินทร์ หรือ รัชกาลที่ 3 กรมหลวงรักษรณเรศรหรือ หม่อมไกรสร และ สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี
รวมทั้งมีเรื่องเล่าขานกันว่า สุนทรภู่ แก้บทพระนิพนธ์ กรมหมื่นเจษฏาบดินทร์ ต่อหน้าพระพักตร์ รัชกาลที่ 2 จึงมีคนเชื่อกันว่า เรื่องนี้ก็เป็นอีกเหตุผล ที่ว่าเมื่อกรมหมื่นเจษฏาบดินทร์ครองราชสมบัติ เป็นรัชกาลที่ 3 สุนทรภู่ออกบวชหนีราชภัย แต่ก็มีบันทึกระบุว่า ช่วงปลายรัชกาลที่ 3 สุนทรภู่ได้สึกออกมาแล้ว และไปทำงานรับใช้เป็นอาลักษณ์ในสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ หรือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเวลาต่อมา
เสด็จในกรม
ตัวละครนี้ มีนามเรียกสั้น ๆ ในภาพยนตร์ว่า เสด็จในกรม แต่ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า เป็นเชื้อพระวงศ์พระองค์ใด แต่จากการคาดการณ์ในภาพยนตร์ตัวอย่าง ได้มีการเปิดเผยฉาก นายหันแตรเข้าเฝ้า ถ้าลำดับสถานการณ์และเหตุการณ์ คาดว่า เสด็จในกรมพระองค์นี้ น่าจะเป็น กรมหมื่นเจษฏาบดินทร์ หรือ รัชกาลที่ 3 เพราะด้วย นายหันแตร เป็นพ่อค้า และกรมหมื่นเจษฏาบดินทร์ ทรงมีหน้าที่กำกับดูแลกรมท่า ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการ ที่มีหน้าที่ดูแลการค้าขายของราชสำนัก ซึ่งชาวต่างชาติต้องติดต่อเจรจาธุรกิจด้วย ความเป็นไปได้จึงมีสูง
ติดตามข่าวสาร คมชัดลึก อื่นๆ ได้ที่
Facebook - https://www.facebook.com/komchadluek
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057