ไลฟ์สไตล์

สถาบันดาราศาสตร์ ชวนชม ปรากฏการณ์ พระจันทร์เต็มดวง คืน "วันอาสาฬหบูชา"

สถาบันดาราศาสตร์ ชวนชม ปรากฏการณ์ พระจันทร์เต็มดวง คืน "วันอาสาฬหบูชา"

13 ก.ค. 2565

สถาบันดาราศาสตร์แห่งชาติ ชวนประชาชนชมปรากฏการณ์บนท้องฟ้า ค่ำคืน วันอาสาฬหบูชา พระจันทร์เต็มดวง พร้อมเปิด 4 หอดูดาวเข้าชมฟรี

แฟนเพจ NARIT "สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ" (องค์การมหาชน) ได้เผยแพร่ข้อมูลว่า คืน 13 ก.ค. นี้  ชวนจับตา ซูเปอร์ฟูลมูน หรือ ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี ในคืนอาสาฬหบูชา  ในวันพุธที่ 13 กรกฎาคม 2565 ซึ่งตรงกับ "วันอาสาฬหบูชา" ดวงจันทร์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุด ห่างจากโลก 357,256 กิโลเมตร เวลาประมาณ 16:09 น. และจะปรากฏเต็มดวงในคืนดังกล่าวในช่วงหลังเที่ยงคืน เวลา 01:39 น. ของวันที่ 14 กรกฎาคม 2565 เกิดเป็นปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี” หรือ ซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon) หากเปรียบเทียบกับดวงจันทร์เต็มดวงช่วงเวลาปกติ จะมีขนาดใหญ่กว่าประมาณ 7% และสว่างกว่าประมาณ 16%

พระจันทร์เต็มดวง จาก https://pixabay.com/

นอกจากนี้ ทาง "สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ" (องค์การมหาชน) ได้จัดกิจกรรมสังเกตการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี” ชวนดูดาวชมจันทร์ในคืนวันอาสาฬหบูชา 4 จุดสังเกตการณ์หลัก ได้แก่ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ และหอดูดาว เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา สงขลา เวลา 18:00 - 22:00 น. เข้าชมฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย

 

นอกจากนี้ ยังร่วมกับโรงเรียนในเครือข่ายกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ 560 แห่งทั่วประเทศ ตั้งกล้องโทรทรรศน์ และจัดกิจกรรมสังเกตปรากฏการณ์ในครั้งนี้ด้วย ผู้สนใจสามารถตรวจสอบจุดสังเกตการณ์ใกล้บ้านท่านได้ที่

https://bit.ly/MemberList-NARIT-DobsonianTelescope2022


คำว่า “Super moon“ ไม่ได้รับการยอมรับหรือใช้กันอย่างกว้างขวางในประชาคมดาราศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ ซึ่งใช้คำว่า "perigee-syzygy" แทนคำว่า "perigee" เป็นจุดที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกที่สุดในวงโคจร และ "syzygy" เป็นจันทร์เพ็ญหรือจันทร์ดับ เมื่อโลก ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์เรียงตัวกันเกือบเป็นเส้นตรง ดังนั้น ซูเปอร์มูนจึงอาจเป็นสองปรากฏการณ์นี้ที่เกิดขึ้นพร้อมกัน ถึงแม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะยังไม่มีการประดิษฐ์คำขึ้นเรียกก็ตาม

พระจันทร์เต็มดวง จาก https://pixabay.com/


ดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นวงรีจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก 1 รอบ ใช้เวลาประมาณ 27.3 วัน โดยในแต่ละเดือนจะมีทั้งวันที่ดวงจันทร์ไกลโลกและดวงจันทร์ใกล้โลก ตำแหน่งที่ดวงจันทร์ใกล้โลกมากที่สุด เรียกว่า เปริจี (Perigee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 356,400 กิโลเมตร และตำแหน่งที่ดวงจันทร์ไกลโลกมากที่สุด เรียกว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 406,700 กิโลเมตร การที่ผู้คนบนโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงที่โตกว่าปกติเล็กน้อยในคืนที่ดวงจันทร์โคจรเข้ามาใกล้โลก นับเป็นเหตุการณ์ปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์