ไลฟ์สไตล์

ดร.แพรว ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ นักบริหารการศึกษา ผู้พาม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ฝ่าคลื่นลมก้าวสู่ปีที่ 55

ดร.แพรว ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ นักบริหารการศึกษา ผู้พาม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ฝ่าคลื่นลมก้าวสู่ปีที่ 55

31 ก.ค. 2565

ด้วยวิสัยทัศน์ที่มองการณ์ไกล เข้าใจการศึกษายุคใหม่เป็นอย่างดี ทั้งยังก้าวทันเทรนด์โลกแบบไม่มีตกขบวน ได้สร้างความฮือฮา หลังก้าวขึ้นมาคุมบังเหียนมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ในฐานะทายาทรุ่นที่ 3 ในตำแหน่งอธิการบดี เธอคนนี้ “ดร.แพรว ดาริกา ลัทธพิพัฒน์”

เมื่อ 6 ปีก่อน “ดร.แพรว-ดาริกา ลัทธพิพัฒน์” อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ สร้างความฮือฮาด้วยการก้าวขึ้นมานั่งคุมบังเหียน DPU มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ รุ่นที่ 3 จนเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่ระบบการศึกษาไทย เพื่อขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยให้เดินหน้าตามนโยบายการขับเคลื่อนประเทศ “ไทยแลนด์ 4.0” ทันที

 

สปอร์ตไลท์ส่องสว่างมาที่ นักบริหารการศึกษาหญิงเก่งระดับแถวหน้าของประเทศไทย ที่ไม่เคยตกเทรนด์ ด้วยวิสัยทัศน์ที่มองการณ์ไกล เข้าใจโลกการศึกษายุคใหม่ในทันที ทุกย่างก้าวของ “ดร.แพรว-ดาริกา ลัทธพิพัฒน์” ถูกจับตามองไม่ว่าเธอจะขับเคลื่อนกิจกรรมหรืองานอะไร กลายเป็นที่สนใจของสังคมไทยอยู่เสมอ วันนี้ “คมชัดลึกออนไลน์” มีโอกาสได้พูดคุยย้อนวันวานและอนาคตในวันที่โลกถูกท้าทาย จะนำพา ”มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์" ฝ่าคลื่นลมแรงนี้ได้อย่างไร?

55 ปี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยเอกชนรุ่นแรก ๆ ที่รัฐบาลให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา ซึ่งสมัยนั้นกับสมัยนี้ต่างกันเยอะมาก เมื่อ 50 ปีที่แล้วประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยไม่เพียงพอต่อการขับเคลื่อนนโยบายของชาติที่ต้องการพัฒนาคนให้มีการศึกษาที่สูงขึ้น เรียนจบระดับชั้น ม.6 มากขึ้น จบระดับปริญญาตรีมากขึ้น ตอนนั้นเราต้องช่วยกันพัฒนาบุคลากรของชาติในสาขาต่าง ๆ ที่เป็นที่ต้องการ ทำให้มีมหาวิทยาลัยเอกชน 3-4 มหาวิทยาลัยได้รับใบอนุญาตในการก่อตั้งมหาวิทยาลัย สำหรับ DPU เรากำลังจะฉลองครบรอบ 55 ปีแล้ว

 

“มาวันนี้ภาพค่อนข้างเปลี่ยนไป หลาย ๆ คนก็ถามว่า ปริญญามีความสำคัญอีกไหม ในขณะเดียวกันคนมีปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก ปริญญามีเยอะไปหมด แล้วสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตขึ้นตามที่คาดหวังหรือไม่ แล้วการศึกษาระดับไหนที่เราต้องการเพื่อพัฒนาชาติบ้านเมืองให้ไปสู่เป้าหมาย ตรงนี้ก็มีการคุยกันว่าควรจะไปเน้นการศึกษาระดับอาชีวะให้มากขึ้นหรือไม่”

 

อย่าลืมว่าปัจจุบัน ตลาดก็เปลี่ยนไป มีเด็กเกิดน้อยลง แต่จำนวนมหาวิทยาลัยมีมากขึ้น อีกทั้งจำนวนที่นั่งของมหาวิทยาลัยรัฐก็มีเพิ่มขึ้นเยอะมากในทุก ๆ ระดับ ตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัยรัฐที่เก่าแก่ ไปจนถึงมหาวิทยาลัยในระดับชุมชน ซึ่งก็มีลักษณะต่างกันไป ฉะนั้นหน้างานถือว่าเปลี่ยนไปไม่เหมือนเมื่อ 50 กว่าปีที่แล้ว

ดร.แพรว ดาริกา ลัทธพิพัฒน์

ดร.แพรว ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ นักบริหารการศึกษา ผู้พาม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ฝ่าคลื่นลมก้าวสู่ปีที่ 55

ภาคการศึกษาเตรียมคนเข้าสู่ภาคการทำงาน

การบริหารยุคปัจจุบันเปลี่ยนไปตามความต้องการของตลาด ภาคธุรกิจเขาเดินไปอย่างไร มหาวิทยาลัยก็ต้องเดินคู่ไปกับภาคธุรกิจ เราเป็นตัวต่อตัวสุดท้ายในการเตรียมคนเข้าสู่ภาคการทำงาน

 

ภาคธุรกิจเขาเจออะไร? เขาเจอ mega trend ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Disruptive technology ที่ต้องปรับตัวจากธุรกิจยุคเดิม เป็นธุรกิจที่อาศัยเทคโนโลยีในการแข่งขันมากขึ้น แม้กระทั่งเรื่อง sustainability หรือความยั่งยืนที่มีหลากหลายมิติ อย่างเช่น Green Environment ซึ่งกลายเป็นเทรนด์ที่ภาคธุรกิจทั่วโลกเข้ามาจับมือกัน เราเป็นภาคการศึกษาต้องเข้าใจ mega trend ว่ามีอะไรบ้างที่มีผลกระทบกับเขา มหาวิทยาลัยต้องตามประเด็นเหล่านี้ให้ทัน และต้องปรับหลักสูตร สร้าง Ecosystem สร้าง Environment ให้กับนักศึกษาอย่างเหมาะสม ก่อนออกสู่ภาคการทำงาน

 

“เราต้องติดตามเทรนด์และคาดการณ์อนาคตในอีก 3-5 ปีอยู่ตลอดเวลาว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง อาจจะไม่มองไปไกลถึง 20 ปีข้างหน้า เพราะทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเร็วมาก การทำงานที่เป็นแบบ Agile ที่มีความ Adaptive ปรับตัวให้เร็ว เป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับสถาบันการศึกษา”

 

รับมือคนหลายเจนเนเรชั่นให้ได้

สิ่งที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องเจอ คือเรามีนักศึกษาหลากหลายช่วงอายุ ตั้งแต่นักศึกษาระดับปริญญาตรีที่เพิ่งออกจากโรงเรียน จนถึงปริญญาโทและปริญญาเอก ที่อยู่ในช่วงชีวิตการทำงานแล้ว รวมทั้งอาจารย์ ที่มีอายุตั้งแต่ 30-60 ปี หรือมากกว่านั้นก็มี นอกจากนี้ เนื่องจากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เป็น comprehensive university มีตั้งแต่ วิทยาศาสตร์ ไปจนถึงสังคมศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็น บริหารธุรกิจ นิติศาสตร์ ท่องเที่ยวโรงแรม ไปจนถึงแพทย์บูรณาการ วิศวกรรม ไอที คนเหล่านี้ก็เช่นเดียวกัน เขามีความคิดที่ลงลึก และมีวิธีคิดที่ไม่เหมือนกัน

 

การรับมือกับคนหลาย generation และมีความหลากหมายทางสังคมเช่นนี้ การสื่อสารของเราต้องครอบคลุมคนทุกประเภทที่คิดต่างกัน ต้องเปิดกว้างและเปิดใจรับฟังให้มากๆ ถึงจะสามารถขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไปข้างหน้าได้

 

DPU เปลี่ยนไปเยอะ

ปัจจุบัน DPU มีหลักสูตรที่หลากหลายมากขึ้น ภายใต้ 5 วิทยาลัย และ 6 คณะ มีหลักสูตรปริญญาโท และปริญญาเอกเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงมีจำนวนนักศึกษาต่างชาติเพิ่มขึ้น ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของนักศึกษาทั้งหมด

 

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาเราเน้นให้ความรู้ผ่านหลักสูตรที่เน้นทฤษฎี แต่ตอนนี้เราเน้นกระบวนการเรียนรู้ของนักศึกษา ผ่านกระบวนการทั้งในและนอกห้องเรียน รวมทั้งจากแต่ก่อนที่เราเน้นสร้างคนให้มีความรู้ มาเป็นการเน้นสร้างคนที่ทำงานได้จริงและจับต้องได้ มีทักษะความเป็นผู้ประกอบการ และ soft skill ต่างๆ ที่สำคัญ โดยที่ยึดตาม ปรัชญาที่ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยได้ให้ไว้ คือ “นักธุรกิจเป็นผู้สร้างชาติ”

 

ทักษะความเป็นผู้ประกอบการสำคัญ

“ทักษะความเป็นผู้ประกอบการ” เป็นอะไรที่สำคัญมากสำหรับเรา ทักษะความเป็นผู้ประกอบการในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงว่าคุณต้องเป็นนักธุรกิจ ถึงจะมีทักษะของผู้ประกอบการได้ ความจริงแล้วไม่ว่าจะทำงานสาขาไหน สาขานิติศาสตร์ แม้จะเป็นข้าราชการในกระทรวง ทบวง กรม ทักษะของผู้ประกอบการเป็นคุณสมบัติที่น่าจะมี คือต้องมีวิธีคิด แก้ปัญหาให้กับงานที่ทำตลอดเวลา เห็นปัญหาเป็นความท้าทาย ริเริ่มและคิดนอกกรอบได้ สร้างมูลค่าเพิ่ม ต้องการเห็นผลงานที่เป็นรูปธรรม คนที่มีทักษะความเป็นผู้ประกอบการจะคิดแบบนี้

 

“ทักษะความเป็นผู้ประกอบการ” ถูกบรรจุเอาไว้ในหลักสูตร DPU CORE ให้นักศึกษาปริญญาตรีทุกสาขาวิชาต้องเรียน ไม่ใช่นักศึกษาจากคณะบริหารธุรกิจอย่างเดียว

 

สร้าง Ecosystem ต่อยอดการเรียนรู้ในยุค Web3 และ Blockchain

มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ให้ความสำคัญมากกับการสร้าง Ecosystem ให้กับนักศึกษา เพื่อสร้างประสบการณ์ให้สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อย่างเช่นที่ผ่านมาโลกธุรกิจพูดถึงมากเรื่อง Web3, Blockchain, Metaverse ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้กําลังจะเข้ามามีบทบาทมาก ดังนั้นทุก ๆ ธุรกิจจะต้องขยับปรับตัวและทำความเข้าใจกับ disruptive technologies เหล่านี้

 

DPU พยายามเอาเรื่องของ Web3 เทคโนโลยี และ Metaverse เข้ามาให้นักศึกษาทุก ๆ คนได้รู้จัก ปัจจุบันนักศึกษาของเราทุกคนต้องเปิด digital wallet ต้องมีความเข้าใจว่า digital wallet ทำงานบน Web3 อย่างไร มีการแจกตัว Avatar ให้กับนักศึกษาทุกคนทุกชั้นปี เวลาเก็บคะแนนกิจกรรมก็เก็บ point แทนที่จะให้เป็นประกาศนียบัตร ให้เหรียญ หรือให้ถ้วย ซึ่ง point เหล่านี้นำไปแลกเป็น item ที่นำไปแต่งตัว Avatar ของเขาได้ และ Avatar เหล่านี้ ในที่สุดจะสามารถใช้ชีวิตใน Metaverse ได้ การให้รางวัลลักษณะนี้จะทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้ว่า Blockchain มันสามารถทำแบบนี้ได้ ซึ่งในโลกแต่ก่อนมันทำไม่ได้เลย อีกทั้ง DPU จะพานักศึกษาเข้าสู่โลก Metaverse บน The Sandbox แพลตฟอร์มโลกเสมือนจริงระดับโลก เร็วๆ นี้

 

Green University อันดับ 1

อีกเรื่องที่เป็น Hot Issue ในตอนนี้ที่ทุกภาคธุรกิจจากทุกประเทศให้ความสำคัญคือเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) นักธุรกิจยุคใหม่หรือผู้ประกอบการยุคใหม่จะไม่มีความรู้ หรือจะไม่เอาเรื่องนี้เข้ามาประกอบกับการคิด business model ของเขาไม่ได้แล้ว

 

หลักสูตร DPU Core ของม.ธุรกิจบัณฑิตย์จะทำให้นักศึกษาทุกคนออกไปเป็นผู้ประกอบการที่เข้าใจเรื่องความยั่งยืน ในอนาคตผู้ประกอบการเวลารับสมัครพนักงานคงจะมองมิติเหล่านี้มากขึ้น มหาวิทยาลัยจึงเป็นที่ที่ทำให้เด็ก ๆ เหล่านี้เห็นว่า การคำนึงถึงเรื่อง Sustainability มีความจำเป็นและเป็นวัฒนธรรมขององค์กร

 

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ครองอันดับ 1 ‘Green University’ เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนในประเทศไทยที่มีสิ่งแวดล้อมดีที่สุด และเป็นอันดับ 82 ของโลก จากการจัดอันดับของ UI Green Metric World University Rankings 2021

 

โดย DPU ขับเคลื่อนเรื่อง ‘Green University’ มานานแล้ว เรามีต้นไม้ในมหาวิทยาลัยจำนวนมาก เพื่อลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เราพยายามลดการใช้ทรัพยากรที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ ใช้กระดาษให้น้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้ มีกระบวนการแยกขยะ ประหยัดพลังงานในทุกทุกจุดของมหาวิทยาลัย แต่เราก็มีอีกหลายเรื่องที่ทำได้ ซึ่งในปี 2565 เป็นต้นไป เราคงขับเคลื่อนให้มากกว่านี้และลึกกว่านี้

 

วิกฤติที่เราเห็นมันวิกฤติจริง ๆ แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำท่วม อากาศร้อน หรือ หน้าแล้งที่โหดร้ายมาก เห็นมันบ่อยขึ้น ถี่ขึ้น รุนแรงมากขึ้น ณ ปัจจุบัน ทำในมหาวิทยาลัยอย่างเดียวไม่ได้แล้วต้องจับมือกับเครือข่ายทำงานในระดับที่กว้างขึ้น และ ลึกขึ้นเพื่อความยั่งยืน

 

ทำโรงเรียนนานาชาติเต็มตัว

อยู่ในแวดวงการศึกษา ไม่ได้ทำงานด้านการศึกษาเพียงระดับอุดมศึกษาเท่านั้น ยังทำโรงเรียนนานาชาติ Wellington International College Bangkok ซึ่งเข้าสู่ปีที่ 5 ปีแล้ว ด้วย Background ที่มีประสบการณ์ มีส่วนร่วมในการเปิดโรงเรียนนานาชาติมาก่อนตั้งแต่ 10 กว่าปีที่แล้ว แต่ตอนนี้มาทำโรงเรียนนานาชาติด้วยตัวเอง ควบคู่ไปกับการบริหารมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

 

คุณแม่ที่เปิดกว้าง

นอกจากทำงาน เวลาที่เหลือจะอยู่บ้านเป็นคุณแม่ วันเสาร์-อาทิตย์ นอนพักผ่อน ออกกําลังกาย แค่นี้ก็ไม่มีเวลาแล้ว

 

ทั้งนี้ กับบทบาทของแม่ ต้องบอกว่าเป็นคุณแม่ที่ทำงาน เวลาที่มีให้กับลูกแบบที่อยู่กับเขาตั้งแต่ตื่นนอน นั่งกับเขาทั้งวันจนถึงเย็น โอกาสแบบนี้มีน้อยมาก ยกเว้นช่วงเสาร์-อาทิตย์ หรือวันหยุด

 

ด้วยความที่เราทำงานกับการศึกษา จึงเห็นว่าเด็กแต่ละคนต่างกัน เก่งไม่เหมือนกัน มีศักยภาพที่แตกต่างกัน จึงพอเห็นภาพว่าลูกเราเป็นแบบไหน และจะไปทางไหน ซึ่งลูก 2 คนของเรายังไม่เหมือนกันเลย การเลือกโรงเรียนหรือเลือกหลักสูตรไม่จำเป็นต้องเหมือนกันก็ได้

 

“เป็นแม่ที่ค่อนข้างเปิด ให้ลูกเขาเลือกด้วยตัวเอง ซึ่งอนาคตไม่ได้คาดหวังว่าลูกต้องมาทางภาคการศึกษา หรือลูกต้องเรียนได้เกรด 4.00 ไม่ได้มีความคาดหวังอย่างนั้น แต่เป้าหมายจริง ๆ ก็เหมือนแม่ทุกคน คืออยากให้ลูกประสบความสำเร็จ ในมิติไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักธุรกิจหรือไม่ต้องมาประสบความสำเร็จ มีความร่ำรวย ไม่ใช่มิตินั้นเสมอไป แต่ขอให้เขามีความสุขกับชีวิต มี contribution ที่ดีกับสังคม จริง ๆ อยากเห็นเป้าหมายของลูกทั้งสองคนเป็นแบบนั้น ก็ใช้ feeling ใช้ประสบการณ์ที่ได้ใกล้ชิดเด็กมาเยอะนำมาปรับใช้ดูแลลูกหรือวางนโยบายให้ลูกเดิน”

ดร.แพรว ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ นักบริหารการศึกษา ผู้พาม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ฝ่าคลื่นลมก้าวสู่ปีที่ 55

 

อนาคตอุดมศึกษาของไทย?

ปัจจุบันพบว่าภาคธุรกิจมีความหลากหลายมากขึ้น การจัดการการศึกษาจะค่อย ๆ เห็นว่า มีความ personalize มากขึ้น เราจะเลือกเรียนในสิ่งที่เราต้องการได้มากขึ้น ในอนาคตอาจจะไม่จำเป็นต้องเลือกสาขา หรือต้องเรียน 4 ปีก็ได้ อาจจะเรียนข้ามสาขาเป็น module ได้ โดยที่มันจะเกิดการรับรองวุฒิแบบที่ไม่ใช่แบบปริญญาก็เป็นไปได้ อันนี้ก็ปรากฏอยู่แล้วว่าหลาย ๆ คนก็บอกปริญญาไม่มีความสำคัญ

 

มหาวิทยาลัยทุกที่จะต้องปรับตัว สิ่งที่พยายามมาก ๆ คือทำอย่างไรที่ภาคการศึกษากับภาคธุรกิจ หรือ ภาคอุตสาหกรรม เชื่อมต่อกันให้ได้ อันนี้มันก็ไม่ใช่หน้าที่เราคนเดียวแล้ว กระทรวงอุดมศึกษาฯ ต้องเป็นสะพานเชื่อมให้ได้มากที่สุด เป็นวิธีเดียวเลยที่จะทำให้สถาบันการศึกษาผลิตคนตรงกับสิ่งที่ภาคธุรกิจต้องการ ด้วยการปรับตัวและพัฒนาตัวเอง ไม่ว่าจะทำหลักสูตรเป็นแบบว่า module เพื่อให้ personalize มากที่สุด หรือจะทำให้มัน flexible มากที่สุด ให้เขาเข้าไปสู่ภาคการทำงานได้มากที่สุด ทั้งหมดนี้ก็คือจะทำอย่างไรให้ภาคการศึกษากับภาคอุตสาหกรรม หรือ ภาคธุรกิจสามารถเชื่อมโยงกันได้

ดร.แพรว ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ นักบริหารการศึกษา ผู้พาม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ฝ่าคลื่นลมก้าวสู่ปีที่ 55

 

เรียนที่ไหนก็เหมือนกัน จริงไหม?

จริง ๆ แล้วจะบอกว่า หลักสูตรที่มีคุณภาพในหลาย ๆ สถาบันมันอาจแตกต่างกันไม่มาก แต่วิธีการ deliver หลักสูตรของแต่มหาวิทยาลัยไม่เหมือนกัน ประสบการณ์ที่แต่ละสถาบันให้กับนักศึกษาก็ไม่เหมือนกัน การเรียนที่ไหนก็เหมือนกัน จึงเป็นเรื่องไม่จริง

 

หลักสูตรของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมได้ค่อนข้างดี มีการรีวิวหลักสูตรบ่อยมาก และปรับ detail ในหลักสูตรตลอดเวลาเพื่อให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลง ไม่เพียงเท่านั้น นักศึกษาที่เข้ามาอยู่ในรั้ว DPU ไม่ว่าจะ 4 ปีหรือ 2 ปี ได้รับเสียงตอบรับเป็นเสียงเดียวกันว่า อาจารย์ดูแลดีมาก เวลาเรารับนักศึกษาเข้ามา เรามักพูดว่ารับเข้ามาสู่อ้อมกอด โดย concept คือการดูแลนักศึกษาสู่อ้อมกอดจริง ๆ อาจารย์มีความเป็นกันเองกับเด็กมาก ๆ และพยายามดูแลทุกมิติของนักศึกษา นอกเหนือจากเรื่องวิชาการ

 

“คือดูแลตั้งแต่ชีวิตความเป็นอยู่ของนักศึกษา นอกจากการเรียน มิติด้านสังคม หรือแม้กระทั่งมิติอื่น ๆ ทางบ้านด้วยก็เหมือนกัน มีการดูแลรอบด้าน ค่อนข้างมั่นใจว่าเด็กที่อยู่กับเรามีความอบอุ่น มีความผูกพันกับอาจารย์มาก คิดว่ามิตินี้น่าจะมีมากกว่ามหาวิทยาลัยอื่น ๆ เท่าที่สัมผัสแล้วก็ลงไปคุยกับนักศึกษา”