"ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน" ไม่แสดงอาการ อันตราย สังเกต สัญญาณเตือน
ทำความรู้จัก "ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน" โรคร้าย ที่ไม่มี สัญญาณเตือน เสี่ยง อันตรายถึงชีวิต มีอาการแบบนี้รีบพบแพทย์ทันที
ประเทศไทยมีประชาชนเสียชีวิตจากโรคหัวใจเฉลี่ยปีละ 54,000 คน หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน โรคหัวใจเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 รองจากโรคมะเร็งและอุบัติเหตุ "ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน" คือ ภาวะที่หัวใจทำงานเต้นผิดปกติ จนกระทั่งไม่มีการบีบตัวหรือหยุดเต้นโดยทันที และไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า ทำให้ไม่มีการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงร่างกายส่วนต่าง ๆ เกิดการทำงานผิดปกติที่อวัยวะต่าง ๆ ที่เห็นได้ชัดคือการทำงานของสมอง ซึ่งเมื่อไม่มีเลือดเลี้ยงทำให้หมดสติ
สาเหตุของ "ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน"
เกิดจากหัวใจเต้นผิดปกติ ในภาวะปกติหัวใจจะผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อกระตุ้นให้หัวใจบีบตัวอย่างเป็นจังหวะ ซึ่งจะส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย แต่เมื่อเกิดหัวใจเต้นผิดปกติ กระแสไฟฟ้าที่ส่งออกจากหัวใจจะเร็วขึ้น และไม่เป็นจังหวะจนทำให้หัวใจไม่บีบตัวและเลือดไม่สามารถไปเลี้ยงร่างกายได้ ผู้ป่วยจะหมดสติในไม่กี่วินาทีและเสียชีวิตในไม่กี่นาที แต่อาจจะช่วยให้ปลอดภัยได้โดยการช็อตด้วยกระแสไฟฟ้า
ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการเกิด "ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน"
ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันมักจะเกิดในคนที่ดูปกติและไม่ทราบว่าเป็นโรคหัวใจมาก่อน แต่โดยความเป็นจริงแล้วเขาเหล่านั้นมักจะมีโรคหัวใจแฝงอยู่โดยที่ไม่รู้ตัว ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ คือ
- หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบ ซึ่งพบในผู้ป่วยโรคเบาหวาน, ความดันโลหิตสูง, ไขมันในเลือดสูง และสูบบุหรี่
- กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง
- ความผิดปกติในทางเดินกระแสไฟฟ้าของหัวใจ เช่น Congenital long QT syndrome (LQTS)
- ความผิดปกติที่กล้ามดนื้อหัวใจ เช่น Hypertrophic Cardiomyopathy
- ความผิดปกติที่หลอดเลือดโคโรนารีที่เลี้ยงหัวใจ (Abnormalities of coronary arteries)
วิธีการป้องกันการเกิด "ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน"
- กินอาหารสุขภาพ เช่นผัก, ผลไม้, พืชเมล็ดถั่ว, ปลา
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เช่นเดินเร็วประมาณ 30 นาทีให้ได้เกือบทุกๆวัน
- ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม
- ไม่สูบบุหรี่
- ดูแลรักษาโรคประจำตัว โดยเฉพาะ เบาหวาน, ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง
หากพบผู้หมดสติจาก "ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน" ควรทำอย่างไร
ให้ทำการเรียก หรือเขย่าตัวผู้หมดสติว่ายังมีการตอบสนองหรือไม่ ถ้าไม่มีการตอบสนอง ให้สังเกตว่าผู้ป่วยมีอาการกระตุกหรือชักเกร็งหรือไม่ หรือหายใจเฮือก หรือหยุดหายใจ และ ถ้ามีให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ป่วยมี "ภาวะหัวใจหยุดเต้นฉับพลัน" หลังจากนั้น ให้รีบโทรศัพท์แจ้งโรงพยาบาลทันที และเริ่มการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานประกอบด้วยการนวดหัวใจ แค่การนวดหัวใจเพียงอย่างเดียวโดยไม่จำเป็นต้องเป่าปากร่วมด้วย ก็ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยได้แล้ว
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลพญาไทย
เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Youtube - https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057
เช็กรายชื่อศิลปินเข้าชิง "คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565" ใครคือ 6 Candidate กับ 8 สาขา Popular Vote https://www.komchadluek.net/entertainment/524524