เยือนแดน สมรภูมิรบ ชิงแผ่นดิน กรุงศรีอยุธยา จุดเปลี่ยนบนหน้า ประวัติศาสตร์
ท่องเที่ยวเชิงความรู้ ชมพื้นที่ อดีตสมรภูมิ ศึกชิงอำนาจ สมัยตอน กรุงศรีอยุธยา วัดเจ้าย่า - วัดแร้ง ลัดเลาะแนวไม้ ดูจุด เสียบหัวประจาน ขุนวรวงศาธิราช และ แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์
หากมองแบบผิวเผิน หลายคนคงเห็นเพียงแม่น้ำ หรือ คลองเล็ก ๆ แต่หากมองแบบการศึกษา จะทราบว่า ปากคลองที่แทบจะไม่เป็นคลองนั้น คือ ปากคลองสระบัว เส้นทางที่ลึกเข้าไปราว 3กม. คือสถานที่ตั้งของ วัดเจ้าย่า - วัดแร้ง จุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์ กรุงศรีอยุธยา และเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินสู่เพนียดหลวงของพระมหากษัตริย์สมัย อยุธยา
วัดเจ้าย่า - วัดแร้ง พื้นที่ ที่ว่ากันว่าเป็น จุดดักฆ่า “ขุนวรวงศาธิราชกับแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์”
ขุนวรวงศาธิราช และ แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ คือชื่อบุคคลในประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยา ที่มีเรื่องราวและสีสันมากมาย ทั้งการเป็นชู้รัก ที่มีในพงศาวดาร การฆ่าพระยอดฟ้า เยาวกษัตริย์ การพยายามฟื้นฟูอำนาจ ราชวงศ์อู่ทอง
อย่างไรก็ดี เรื่องราวใน ประวัติศาสตร์ นั้น ก็ยังมีความเห็นเป็น2ฝ่ายกันมาตลอดในการที่จะนับ ขุนวรวงศาธิราช เป็นกษัตริย์ตามลำดับการครองราชย์สมบัติ
และมีบันทึกของ เยเรมิส ฟอน ฟลีต นักผจญภัยชาวฮอลันดา ที่ได้เขียนเกี่ยวกับเห็นการณ์ครั้งนี้ไว้ว่า การขึ้นรั้งแผ่นดินของ ขุนวรวงศาธิราช นั้น สร้างความไม่พอใจต่อพระราชวงศ์สุพรรณภูมิและข้าราชการ จนนำมาสู่การลอบสังหารล้างชีวิตกัน
สำหรับพื้นที่ที่เชื่อและมีการสันนิษฐานจากหลักฐานนั้น ระบุพิกัดพื้นที่สังหารครั้งนั้นว่า เป็นบริเวณ วัดเจ้าย่า และเสียบหัวประจานกันที่ วัดแร้ง โดย วัดเจ้าย่า นั้น อยู่ริมถนนในตำบลคลองสระบัว เป็น โบราณสถาน ที่ได้รับการอนุรักษ์ โดยมีข้อมูลระบุว่า น่าจะมีการสร้างในช่วง อยุธยา ตอนต้น
เดินไปด้านหลังพระเจดีย์ ก็เจอ คลองสระบัว แม้ในทุกวันนี้จะมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก แต่เชื่อว่าในเวลานั้น คงจะกว้างขวางพอสมควร และด้านข้างวัด มีพื้นที่ที่คาดการณ์ว่า น่าจะเป็น คลองบางปลาหมอ ที่ซุ่มโป่งของ ขุนพิเรนทรเทพ
แต่ที่ต้องหากัน คือ วัดแร้ง
หลังจากถ่ายรูป เดินสำรวจ วัดเจ้าย่า จนเรียบร้อยแล้ว ผมเดินมาที่มอเตอร์ไซต์คู่ใจ เตรียมไปต่อที่ วัดแร้ง จุดเอาหัว ขุนวรวงศาธิราช กับ แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ เสียบประจาน เปิดดูแผนที่ในกูเกิล เรียกว่าใกล้มาก รู้พิกัดเรียบร้อย เดินทางทันที เสียงจากเนวิเกเตอร์บอกให้เลี้ยวซ้าย ผมเห็นเพียงทางหญ้ารกๆ ข้างบ้านเก่าๆหลังหนึ่ง ก็ชักลังเลว่าใช่หรือเปล่า
เมื่อจอดรถเรียบร้อย จะเดินสำรวจ น้องหมาหลายตัววิ่งเห่าขู่ แต่ก็มากระดิกหางแสดงท่าทางเป็นมิตร ระหว่างเล่นกับน้องหมา ก็เห็นคุณย่าท่านหนึ่งนั่งอยู่บนชานบ้าน ผมจึงตะโกนถามขึ้นไปว่า วัดแร้งอยู่ตรงไหน คุณย่าท่านนั้นตอบมาว่า นี่ล่ะ วัดแร้ง บ้านย่าคือวัดแร้ง!
ผมรีบมองไปรอบๆ เนินดินที่เข้าใจว่า เป็นการถมที่ดินขึ้นมา เมื่อสังเกตดีๆ จึงเห็นว่าในเนื้อดินนั้นมีเศษอิฐเก่าปะปนอยู่ คุณย่าเดินออกมาด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม ก่อนจะบอกว่าบ้านท่านนั้นอยู่ในพื้นที่ที่เดิมเป็น วัดแร้ง และมีศาล แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ อยู่ด้านใน ต้องเดินเข้าไปข้างบ้านหลังถัดไป
บ้านหลังถัดไปที่ว่า มีการปรับปรุงเป็นร้านกาแฟสวย ซึ่งถ้าไม่รู้จากคุณย่าท่านนี้ ผมก็คงยังวนหาต่อไปอย่างงุนงง เพราะในแผนที่กับตรงที่ผมยืนใกล้กันมาก ผมเดินผ่านตัวร้าน เข้าไปตามทางลงไป เดินตรงเข้าไปในร่มไม้เหล่านั้น จนมาถึงหน้าป้ายของกรมศิลปากร ที่ระบุชัดเจนและแน่นอนว่า ที่นี่ คือ วัดแร้ง อย่างไม่ต้องสงสัย หันขวาจากป้าย ผมเห็นฐานของสิ่งก่อสร้าง ที่ดูแล้วผสมกันในแต่ละยุค เข้าใจว่าคงมีคนเข้ามาบูรณะแบบชาวบ้านๆ เพราะเป็นพื้นที่ผ่านการเทปูน
ด้านบนนั้น มีศาลไม้หลังเล็กๆพร้อมชุดไทยแขวนอยู่ ถึงไม่มีป้ายติดไว้ ก็เดาได้ไม่ยากว่า นี่คือศาลของ แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ และมีป้ายเล็กๆหน้าพระพุทธรูปองค์ไม่ใหญ่ว่า วัดแร้ง
บรรยากาศตรงนั้น ผมเหมือนหลุดเข้าไปในที่หนึ่ง รอบตัวมีแต่ความสงบ สงัด และถ้ามากลางคืนคงต้องใช้คำว่า วังเวงได้เลย ผมเดินสำรวจไปตามเรื่อง และจินตนาการถึงฉากการต่อสู้ในบริเวณนี้ ซึ่งถือว่า เป็นจุดเปลี่ยนของอำนาจในอยุธยาก็ว่าได้
ที่ว่าเป็นจุดเปลี่ยนนั้น เพราะเป็นการช่วงชิงอำนาจกัน ระหว่างฝ่ายขุนวรวงศาธิราช กับ ขุนนางหัวเมืองเหนือ ตรงนี้ หากใครศึกษาพงศาวดารดีๆ จะพบว่า จุดสำคัญหรือจุดเปลี่ยนทางการเมืองของ ขุนวรวงศาธิราช ไม่น่าจะใช่เพราะเรื่องการชิงราชสมบัติ เพราะถ้าวิเคราะห์กันให้ดี ไม่ว่าจะการฆ่าพระยอดฟ้าก็ดี การฆ่าสมุหกลาโหมก็ดี ไม่มีใครใน อยุธยา เข้ามาต่อต้าน ทำให้มองได้ว่า ฐานอำนาจ ขุนวรวงศาธิราช กับ แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ นั้น แข็งแรง มั่นคง อย่างมาก
แต่จุดเปลี่ยนนั้น อยู่ที่ว่ามีข้อมูล7หัวเมืองเหนือกระด้างกระเดื่อง และ ขุนวรวงศาธิราช อยากจะเปลี่ยนเอาคนตัวเองไปครองแทน ตรงจุดนี้ จะเป็นไปได้หรือไม่ว่า การที่ขุนนางหัวเมืองเหนือเข้ามาเกี่ยวข้องกับ อยุธยา ในส่วนการเปลี่ยนแปลงของพระมหากษัตริย์ เป็นเรื่องของการต้องการรักษาอำนาจของพวกตน และใช้ข้ออ้างความไม่ชอบธรรมในการขึ้นครอง อยุธยา มาเป็นจุดในการก่อการ
และจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้มีอีกความเปลี่ยนแปลงสำคัญเกิดขึ้น นั่นก็คือการที่หัวเมืองเหนือเข้ามามีบทบาทในราชสำนักมากขึ้น โดยผ่าน ขุนพิเรนทรเทพ ที่ได้รับสถาปนาเป็น พระมหาธรรมราชา และก็อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นรอยร้าวฉานระหว่าง อยุธยา และ พิษณุโลก เพราะเป็นที่ทราบกันดีในช่วงเวลานั้นว่า หากมีใครที่ครอง พิษณุโลก ก็มีแนวโน้มที่จะได้ขึ้นครองราชย์ที่อยุธยา แต่พระมหาจักรพรรดิ แต่งตั้งพระราชโอรส ให้ขึ้นรั้งตำแหน่งใหม่ ที่มีชื่อตำแหน่งว่า พระราเมศวร ขึ้นมา
และการเข้ามาของหัวเมืองเหนือ คือจุดจบของราชวงศ์อู่ทอง และจุดเริ่มต้นของการล่มสลายแห่ง ราชวงศ์สุพรรณภูมิ ไปพร้อมๆกัน
ติดตามข่าวสาร คมชัดลึก อื่นๆ ได้ที่
Website - www.komchadluek.net
Facebook - https://www.facebook.com/komchadluek
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057
Instagram - https://www.instagram.com/komchadluek_online/
Twitter - https://twitter.com/Kom_chad_luek
Youtube - https://www.youtube.com/user/KOMCHADLUEK/
Tiktok - https://www.tiktok.com/@komchadluekonline
เช็กรายชื่อศิลปินเข้าชิง "คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565" ใครคือ 6 Candidate กับ 8 สาขา Popular Vote ได้ที่นี่ https://awards.komchadluek.net/#