ไลฟ์สไตล์

ชมความงาม ภาพจิตรกรรมฝาผนัง พระอุโบสถ วัดราชาธิวาสฯ

ชมความงาม ภาพจิตรกรรมฝาผนัง พระอุโบสถ วัดราชาธิวาสฯ

15 ก.ย. 2565

เที่ยมชมความงาม ใน พระอาราม วัดราชาธิวาสฯ ภาพจิตกรรมฝาผนัง พระเวสสันดรชาดก ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

วัดราชาธิวาสวรวิหาร เป็นพระอารามริมแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่แถวย่าน มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เป็น วัด ที่ประทับของ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ เมื่อครั้งทรงผนวช  รวมทั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงประทับจำพรรษา เมื่อทรงผนวชเป็นพระภิกษุแล้ว ก่อนที่ภายหลังจะเสด็จไปจำพรรษา ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ในพระนคร 
ในวัดราชาธิวาสฯนั้น  มีศิลปะโบราณที่น่าสนใจอยู่น้อย และศิลปะที่เป็นชิ้นเอก ชิ้นสำคัญ นั้น อยู่ที่ศูนย์กลางของวัด ก็คือ พระอุโบสถ ซึ่งภายในนั้น มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ที่ใช้เทคนิกจากต่างประเทศ ในการสรรสร้างขึ้นมา อย่างวิจิตรงดงาม 

พระอุโบสถ วัดราชาธิวาสฯ
วัดราชาธิวาสฯ ได้รับการปฏิสังขรณ์มาอย่างต่อเนื่อง จากความเป็นวัดโบราณ มาสู่วัดฝ่ายอรัญวาสี ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ทรงร่วมกับ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท และด้วยความเป็น วัดของพระสายวัดป่า ทำให้วัดทรุดโทรมลง ตามกาลเวลา เนื่องจาก ได้มีการสะสมทรัพย์ไว้ในวัด จนมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงได้ทำการปฏิสังขรณ์ใหญ่ โปรดให้รื้อซ่อมใหญ่ทั้งอารามแล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ทรงออกแบบพระอุโบสถใหม่ โดยให้รักษาผนังเดิมไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานสำคัญของฝ่ายธรรมยุต 
 

ด้านในพระอุโบสถ ได้รับการสรรสร้าง ภาพวาดจิตกรรมฝาผนัง ด้วยเรื่องราวชาดก ของ พระเวสสันดร ทั้ง 13 กัณฑ์ ซึ่ง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเป็นผู้ร่างภาพ และ ศ.ซี.ริโกลี (C.Rigoli) จิตรกรชาวอิตาเลียน

จิตรกรรมฝาผนัง พระอุโบสถ วัดราชาธิวาสฯ

ซึ่งเป็นคนเดียวกับที่เขียนภาพบนเพดานโดมในพระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นผู้เขียนด้วยการใช้สีปูนเปียก (Fresco) ซึ่งในปัจจุบัน ภาพจิตรกรรมนี้ ได้รับการบูรณะเสร็จสมบูรณ์  ทำให้ภาพมีความสวยงาม เข้มชัดในรายละเอียดสี ซึ่งภาพจิตรกรรมของพระอุโบสถวัดราชาฯ นั้น มีความแตกต่างจากภาพจิตรกรรมตามวัดอื่น ๆ โดยภาพนั้น มีมิติ มุมมอง รายละเอียดต่าง ๆ กล้ามเนื้อ สิ่งของ แม้แต่สีหน้าของภาพ มีความชัดเจน รูปร่างหน้าตาของภาพวาด มีความละม้ายไปทางชาวต่างชาติ ซึ่งถือเป็นความโดดเด่นของภาพชุดนี้ 

จิตรกรรมฝาผนัง พระอุโบสถ วัดราชาธิวาสฯ

ขณะที่ส่วนอื่นๆ ในพระอุโบสถ นั้น ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยที่พุทธบัลลังก์ ประดิษฐาน พระประธาน นามพระพุทธสัมพรรณี โดยประดิษฐานอยู่ในซุ้มคูหา ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะตะวันออกกับตะวันตกได้อย่างลงตัว

ซุ้มพระประธาน พระอุโบสถ วัดราชาธิวาสฯ

ซุ้มคูหานี้ได้ออกแบบเป็น "พระราชลัญกรประยุกต์" ในรัชกาลที่ 1-5 โดยที่ยอดบนสุดแทนรัชกาลที่ 1 เป็นรูปมหาอุณาโลม ซึ่งคำว่าอุมีลักษณะเป็นม้วนกลม คล้ายลักษณะความหมายของพระนามเดิมว่า "ด้วง"  ถัดลงมาเป็นรูปครุฑจับนาค แทนรัชกาลที่ 2 เนื่องจากพระนามเดิมคือ "ฉิม" ซึ่งตามความหมายของวรรณคดีไทยเป็นที่อยู่ของพญาครุฑ อีกด้านเป็นรูปมหาปราสาท แทนรัชกาลที่ 3 เพราะพระนามเดิมคือ "ทับ" ซึ่งหมายถึงที่อยู่หรือเรือน
 

ถัดลงมาอีกเป็นรูปพระมหาพิชัยมงกุฎ แทนรัชกาลที่ 4 ตามพระนามเดิมคือ "เจ้าฟ้ามงกุฎ" ส่วนอีกด้านเป็นรูปพระพิฆเนศ ถือพระจุลมงกุฎหรือพระเกี้ยว ซึ่งเป็นรูปที่มีความหมายคล้ายพระนามเดิมของรัชกาลที่ 5 นั่นเอง

จิตรกรรมฝาผนัง พระอุโบสถ วัดราชาธิวาสฯ
ส่วนบริเวณฐานชุกชี นั้น ได้มีการประดิษฐานพระบรมราชสรีรางคารสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวสาอัยยิกาเจ้า ส่วนพระสัมพุทธวัฒโนภาส พระประธานองค์เดิมนั้นรัชกาลที่ 6 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานพระบรมราชสรีรางคารสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 5 ไว้

พระประธาน ใน พระอุโบสถ วัดราชาธิวาสฯ  

เบื้องบนพระประธานเป็นภาพพระพุทธเจ้าอยู่เหนือเมฆกำลังตอบปัญหาของพระสารีบุตรและพระอินทร์ ที่ใกล้พระประธานมีรูปศากยกษัตริย์พระประยูรญาติมาเฝ้าอยู่ด้านหลัง

หากสนใจที่จะเข้าชมความงามของ ภาพวาดจิตรกรรมฝาผนัง ในพระอุโบสถ สามารถเข้ากราบสักการะ ได้ ช่วงเช้า 08.00 -10.30 และช่วงบ่าย 13.30 -16.30