ไลฟ์สไตล์

ทำความรู้จัก การกินแบบ "Ketogenic" ต้องกินยังไง ลดน้ำหนักได้ดีจริงไหม

ทำความรู้จัก การกินแบบ "Ketogenic" ต้องกินยังไง ลดน้ำหนักได้ดีจริงไหม

04 ต.ค. 2565

ทำความรู้จัก การกินแบบ "Ketogenic" หรือ "Ketogenic Diet" คือการกินที่เน้นไขมันสูง รองมาด้วยโปรตีน โดยลดคาร์โบไฮเดรตให้เหลือในปริมาณที่น้อยมากๆ ลดการบริโภคน้ำตาลให้น้อย

ปัจจุบันนี้กระแสการลดน้ำหนักเปลี่ยนไปเรื่อยๆทุกปีไม่ต่างกับเทรนด์แฟชั่น แนวทางการบริโภคเพื่อลดน้ำหนักในปัจจุบันก็มีหลายวิธี โดยส่วนใหญ่จะเน้นการกินอาหารจำพวกผัก ปลา และเลี่ยงการบริโภคไขมัน ลดคาร์โบไฮเดรต แต่ก็มีวิธีการลดน้ำหนักอีกแบบที่เรียกว่า "Ketogenic" ที่สวนกระแส ยกให้ “ไขมัน” เป็นตัวเอกในทุกมื้ออาหาร ที่ยิ่งกินไขมันเท่าไร น้ำหนักก็ยิ่งลด วันนี้ คมชัดลึกออนไลน์ จะพามาดูกันครับ

 

"Ketogenic" ไดเอต คืออะไร

การกินอาหารแบบคีโตเจนิก ไดเอต "Ketogenic Diet" คือการกินที่เน้นไขมันสูง รองมาด้วยโปรตีน โดยลดคาร์โบไฮเดรตให้เหลือในปริมาณที่น้อยมากๆ ลดการบริโภคน้ำตาลให้น้อย แต่ให้แทนที่ด้วยไขมันทั้งจากพืชและสัตว์แทน

 

 

กิน "Ketogenic" เน้นไขมันแล้วจะช่วยลดน้ำหนักได้จริงหรือ ?

 คำตอบคือเมื่อเราลดปริมาณการกินคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลลงอย่างมาก ร่างกายของเราจากเดิมที่เคยนำกลูโคสในเลือดที่มาจากอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต น้ำตาล มาใช้เป็นพลังงาน ร่างกายจำต้องหาแหล่งพลังงานอื่นมาแทนที่ นั่นคือมาจากไขมันนั่นเอง กระบวนการนี้ก่อให้เกิดสภาวะการเผาผลาญที่เรียกว่า คีโตสิส (Ketosis) ทำให้เกิดสารที่เรียกว่า คีโตน (Ketone) ในตับ

 

โดยหลังจากเริ่มการกินแบบ  "Ketogenic" ไปหลายวันหรือหลายสัปดาห์ ร่างกายและสมองอาจรู้สึกอ่อนล้า เหนื่อยง่าย มีกลิ่นปาก แต่จะค่อยๆ ปรับจนสามารถนำไขมันและคีโตนมาใช้เป็นพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพแทนที่คาร์โบไฮเดรตนั่นเอง หรือเรียกง่ายๆ คือการเปลี่ยนร่างกายให้กลายเป็นเครื่องจักรกลเผาผลาญไขมันให้เป็นพลังงานในตัวเองนั่นเอง

ต้องกิน "Ketogenic" อย่างไร ?

 สิ่งสำคัญที่ควรรู้คือการจำกัดปริมาณคาร์โบไฮเดรตให้ต่ำมากๆ โดยกินไขมันและน้ำมัน แต่ต้องเป็นไขมันที่มาจากธรรมชาติ ทั้งพืชและสัตว์ โดยพยายามกินไขมันต่างชนิดควบคู่กันไป เช่น ไขมันจากเนื้อสัตว์ เนื้อติดมัน ไขมันจากพืช เนย ชีส น้ำมันหมู น้ำมันมะพร้าว น้ำมันมะกอก อาหารจำพวกถั่ว เป็นต้น

 

นอกจากนี้ สามารถเลือกกินเนื้อสัตว์และไข่ได้ แต่ในปริมาณที่เหมาะสม เน้นการกินผัก โดยเฉพาะจำพวกผักใบเขียว สามารถรับประทานอาหารที่ทำจากนม (แต่ควรเลี่ยงดื่มนม) โดยเน้นจำพวกที่ไม่พร่องมันเนย ของกินเล่นเลือกเป็นการกินถั่วและธัญพืชอย่างแมคคาเดเมีย หรืออัลมอนด์ ที่ทั้งมันและอร่อยจะดีมาก

 

การกิน "Ketogenic" เป็นแนวทางการกินที่มีความเฉพาะเจาะจง ลดสารอาหารบางประเภท และไม่หลากหลาย ซึ่งหากไม่ใส่ใจให้ดีก็อาจเกิดผลข้างเคียงได้หลายอย่าง เช่น

 

  • ไข้คีโต (Keto Flu) : เมื่อร่างกายเกิดภาวะคีโตซิส อาจทำให้รู้สึกเหมือนเป็นไข้ ไม่สบายตัว ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน หรืออ่อนเพลีย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วอาการเหล่านี้จะค่อยๆ หายไปเอง หากรู้สึกเป็นนานกว่า 2 สัปดาห์ แนะนำให้พบแพทย์
  • การขาดสารอาหาร : การกินคีโตต้องลดปริมาณอาหารบางประเภท จึงอาจทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารสำคัญบางชนิดไม่เพียงพอ เช่น กากใย วิตามิน เป็นต้น อาจเกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมา
  • ท้องผูก ขาดน้ำและแร่ธาตุ : ร่างกายจะขับสารคีโตนบอดี้ส์ออกทางปัสสาวะ ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำเพิ่มขึ้น ซึ่งเสี่ยงต่อการขาดน้ำและแร่ธาตุ และการรับประทานคาร์โบไฮเดรตปริมาณต่ำมากทำให้ร่างกายได้รับกากใยไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดอาการท้องผูก
  • กระหายน้ำบ่อย : เป็นอาการที่พบบ่อย เกิดจากการที่ร่างกายขับน้ำ ทำให้ผู้ที่กินอาหารแบบคีโตรู้สึกกระหายน้ำ จึงต้องคอยจิบน้ำเสมอๆ 
  • อาการสมองล้า : อาการสมองล้า ความจำสั้นและไม่ค่อยมีสมาธิ แต่พบได้ไม่บ่อย
  • ผิวมันเป็นสิว : การกินไขมันบางชนิดมากๆ ทำให้เกิดการอักเสบที่ผิวหนัง อาจก่อให้เกิดสิวได้
  • โยโย่เอฟเฟคเมื่อหยุดกินคีโต การกินคีโตสามารถทำให้น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ทั้งยังไม่รู้สึก “โหย” เหมือนกับการลดน้ำหนักแบบอื่นๆ แต่เมื่อหยุดกินคีโตแล้วกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม หรือรับประทานอาหารที่ไม่ใช่การกินคีโตเต็มรูปแบบ น้ำหนักตัวก็อาจกลับขึ้นมาอย่างเดิม อย่างที่เรียกว่า “โยโย่เอฟเฟค”