ไลฟ์สไตล์

เลียบสาละวินสายน้ำแห่งชีวิต

เลียบสาละวินสายน้ำแห่งชีวิต

28 มี.ค. 2553

ช่วงปีที่ผ่านมา ผมมีโอกาสล่องแม่น้ำสาละวินที่นอกจากสายน้ำจะทำหน้าที่หลั่งไหลหล่อเลี้ยงสรรพสิ่งมีชีวิตต่างๆ แล้ว ยังทำหน้าที่อีกอย่างหนึ่งคือแบ่งเขตแดนระหว่าง 2 ประเทศ ไทยกับพม่า

 “สาละวิน” เป็นเพียงชื่อที่คุ้นหูจากที่เคยเรียนภูมิศาสตร์สมัยเด็ก และภาพที่คุ้นตาจากภาพยนตร์เรื่อง “สาละวิน” ไม่คิดเลยว่า “สาละวิน” จะกลายมาเป็นทางผ่านของชีวิตและเป็นอีกความทรงจำ

 รุ่งอรุณของวันที่ 1 มกราคม 2553 เสียงไก่ขันดังแว่วมาทั้งที่ฟ้ายังไม่สว่าง เสียงผู้คนในหมู่บ้านเริ่มเคลื่อนไหวทำกิจกรรมประจำวัน  บ้างก็ตื่นมาตำข้าว บ้างก็ผิงไฟ อากาศหนาวเย็นของวันปีใหม่ ไม่ได้ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนที่นี่เปลี่ยนไป

 บรรยากาศยามเช้าช่างสดใส แต่ความหนาวเย็นที่อยู่รายรอบ ต้องพึ่งพาความอบอุ่นจากเปลวไฟที่ก่อขึ้น หมู่บ้านเล็กๆ ในหุบเขาทางตะวันตกของภาคเหนือแห่งนี้ ปีหนึ่งจะมีแขกผู้มาเยือนสักกี่คน แต่นั่นไม่ใช่สิ่งสำคัญของคนที่นี่ ถึงแม้จะไม่มีใครมา พวกเขาก็ยังคงดำเนินชีวิตอย่างปกติสุข

 ย้อนเวลากลับไปเมื่อปลายปี 2552 ผมได้ติดต่อคุณครูท่านหนึ่งที่ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อโดยสารรถไปเยี่ยมโรงเรียน  แต่โชคดีกว่านั้น เมื่อมีโอกาสพบกลุ่มผู้มีจิตอาสาจากชลบุรีที่ได้เดินทางไปยังแม่สะเรียงติดต่อหลายปี  นับได้ว่าเป็นความบังเอิญที่การไปในครั้งนี้กลายเป็นการทำกิจกรรมบริจาคสิ่งของให้เด็กตามโรงเรียนตะเข็บชายแดนรวม 4 แห่งด้วยกัน

 เราเดินทางกันตั้งแต่คืนของวันที่ 29 ธันวาคม 2552 ไปถึงแม่สะเรียงก็เที่ยงแล้ว จึงเดินทางไปยังโรงเรียนบ้านห้วยปลากั้ง อยู่ห่างจากตัว อ.แม่สะเรียง ราว 40 กม. เพื่อมอบจักรยาน อุปกรณ์กีฬา อุปกรณ์การศึกษาต่าง ๆ รวม 2 คันรถ เวลาที่มีอย่างจำกัด หลังจากชมการแสดงของเด็กๆ ที่นั่นแล้ว เราก็มุ่งหน้าไปยังแม่สามแลบ อันเป็นจุดที่เราจะลงเรือ

         แต่เราไปไม่ทัน เพราะมืดเสียก่อน จึงต้องเปลี่ยนแผนเดินทางโดยรถยนต์ เราออกเดินทางจากแม่สะเรียงเวลาประมาณ 6 โมงเย็น ไปถึงบ้านท่าตาฝั่ง 3 ทุ่ม  เราพักค้างคืนกันที่นั่นด้วยความเหนื่อยล้า

 เช้าของวันสิ้นปี เราไปมอบของให้เด็กโรงเรียนบ้านท่าตาฝั่ง พร้อมกับชมการแสดงของเด็กๆ  หลังจากนั้นก็ร่ำลากัน เพื่อที่จะไปยังหมู่บ้าน “จอซิเดอ”

 หมู่บาน จอซิเดอ เป็นหมู่บ้านกะเหรี่ยง การเดินทางไปต้องใช้เรือวิ่งทวนน้ำขึ้นไปตามแม่น้ำสาละวิน รวมเวลาเดินทางประมาณ 2-3 ชั่วโมง จึงไปถึงปากทางเข้าหมู่บ้าน “จอซิเดอ” ชาวบ้านมาต้อนรับตรงชายฝั่ง เพื่อช่วยขนของบริจาคที่บรรทุกมาเต็มลำเรือ ต่างก็ช่วยขน ช่วยแบกหามกันไป ส่วนทีมงานของเราก็เอาสัมภาระขึ้นหลังช้าง ซึ่งมี 3 เชือก โดยพวกเราต้องเดินเข้าไปอีก 2 ชั่วโมง

 ทางเข้าสู่หมู่บ้านนั้นก็คือ การเดินลัดเลาะตามลำธารและริมเขาไปเรื่อยๆ ต้องเดินลุยข้ามน้ำกลับไปกลับมาตามทางเดินที่ชาวบ้านใช้สัญจร  ผมไปถึงที่หมายก่อนตอนบ่าย 4 โมง จึงนั่งรถมอเตอร์ไซค์ของครูองอาจ เพื่อไปโรงเรียนจอซิเดอเหนือ ซึ่งอยู่ห่างออกไปอีกราว 10 กม. ต้องลงน้ำบุกป่า เพียงแต่เปลี่ยนจากเดินมาเป็นรถ ทำให้อดแปลกใจไม่ได้ว่า เขาขับรถบนทางแบบนี้ได้อย่างไร

 โรงเรียนจอซิเดอเหนือยังสร้างไม่เสร็จ อาคารไม้ยกพื้นสูง ชาวบ้านและผู้ใจบุญช่วยกันสมทบทุนร่วมกันสร้างขึ้นมา ยังคงขาดทุนทรัพย์อีกจำนวนหนึ่ง สำหรับสร้างต่อให้เสร็จ มีเวลาอยู่ที่นั่นไม่นาน ก็ต้องนั่งรถกลับจอซิเดอใต้ เพราะใกล้ค่ำแล้ว

 ค่ำคืนของวันสิ้นปี เราช่วยกันหุงหาอาหาร ด้วยสะเบียงที่เตรียมมา และพืชผักสวนครัวของโรงเรียนที่พออาศัยเป็นอาหารได้ ไม่ว่าจะเป็นคะน้า ผักกาด มะเขือยาว ก็น้ำมาปรุงอาหารมื้อเย็นรับประทานกันอย่างเอร็ดอร่อย

 แต่ผมยังคงเตร็ดเตร่อยู่ที่สนามโรงเรียน เพื่อถ่ายภาพและชมพระจันทร์วันเพ็ญที่เริ่มลอยสูงเด่นเลยยอดเขาขึ้นมา ส่องแสงสว่างไสวไปทั่วป่าเขา แทนแสงไฟนีออนได้เป็นอย่างดี

         เสียงธารน้ำไหลดังสะท้อนเข้ามาถึงบริเวณที่พัก เสียงหรีดหริ่งเรไร เสียงนก เสียงแห่งภูเขาลำเนาป่า คอยขับกล่อมให้หลับใหลไปในราตรีกาล อันเป็นคืนข้ามปี ไม่มีแสงสีและเสียงดนตรีในการเฉลิมฉลอง ไม่มีใครมานั่งนับเวลาถอยหลัง (Count Down) บนลานกว้างของโรงเรียนจอซิเดอใต้ แม้ควรจะเป็นที่ “นับดาว” (Count ดาว) บนท้องฟ้า ที่เร่งเปล่งแสงทอแข่งกับพระจันทร์ จะมากน้อยก็ถือว่าได้ทำหน้าที่ของหมู่ดาวเหล่านั้นแล้ว

ช่วงเวลาเดียวกันของปฏิทินแห่งโลกมนุษย์ แต่ช่างแตกต่างกันทั้งความหมาย ความรู้สึก วิถีและความเป็นไป

ชีวิตอีกฟากฝั่งหนึ่ง หากจะมีชีวิตอยู่ด้วยความเรียบง่าย และมั่นคงกับการมีชีวิตอยู่ ซึ่งจะดำรงไปอย่างมีคุณค่า

หากว่า วันเวลาที่ทำให้เราตื่นฟื้นขึ้นมาสู่วันปีใหม่อีกครั้ง หลากหลายชีวิตต่างยังคงดิ้นรนเพื่อตัวเอง เพื่อความอยู่รอด แล้วคืนข้ามปี ที่ต่างเฉลิมฉลอง หรือได้รับความบันเทิงอย่างมากมายนั้น จะส่งผลให้ชีวิตมนุษย์รุ่งโรจน์ก็หาได้มั่นหมายให้เป็นเช่นนั้นไม่

เพราะคืนข้ามปีที่จอซิเดอใต้แห่งนี้ นอกจากไม่ได้ใช้พลังงานใดๆ ให้สูญเปล่าแล้ว ยังได้กำลังที่อุ้มชูพลังแห่งการดำเนินชีวิต ความเข้าใจชีวิตที่เป็นธรรมชาติเกินกว่าจะบรรยาย

ความสุขมีอยู่ที่ใจแล้ว แต่ที่เราเรียกร้องหรือแสวงหานั้น แน่ใจหรือว่ามันคือความสุขที่แท้จริง

www.oknation.net/blog/kintaro