
เบรกไฟฟ้า หรือว่าหนูลองยา
จากข่าวการเรียกคืนรถยนต์หลากรุ่นของโตโยต้าจำนวนมหาศาลที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบเบรกที่ใช้ระบบไฟฟ้าเป็นตัวช่วยควบคุม มาจนถึงขณะนี้ก็ยังสรุปสาเหตุที่ชัดเจนไม่ได้ว่าปัญหาที่แท้จริงนั้นเกิดจากอะไร แต่โตโยต้าก็ได้แก้ไขปัญหานั้นจนเสียงบ่นเสียงตำหนิลดน้อยลงไปจนแทบ
จนเมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท เจนเนอรัลมอเตอร์ กระจายข่าวออกไปทั่วโลกว่า บริษัทฯ ได้พัฒนาระบบเบรกแบบใหม่ที่เรียกว่า Brake override โดยโฆษณาสรรพคุณว่ามีประสิทธิภาพใน การห้ามล้อหรือหยุดรถ ได้ดีกว่าระบบเบรกในปัจจุบัน โดยเฉพาะเมื่อคนขับเหยียบเบรกและคันเร่งพร้อมๆ กัน ก็ทำให้เกิดข้อกังขาขึ้นมาว่า มีสักกี่คนและในสถานการณ์ใดบ้าง ที่คนใช้รถต้องเลือกวิธี การเหยียบทั้งเบรกและคันเร่งไป พร้อมๆ กันเพื่อความปลอดภัย
เบรกไฟฟ้าหรือภาษาทางสื่อต่างประเทศถูกเรียกว่า Brake-By-Wire ที่จริงแล้วไม่ใช่เป็นของใหม่สำหรับวันนี้ Brake-By-Wire หรือ เบรกไฟฟ้า นั้นเมอร์เซเดส-เบนซ์ถือว่าเป็นผู้ให้กำเนิดเป็นเจ้าแรกในโลกตั้งแต่ปี 2001
โดยที่เบนซ์เรียกระบบเบรกไฟฟ้าของเขาว่า Sensotronic โดยติดตั้งเป็นครั้งแรกให้แก่ ซูเปอร์สปอร์ตหรูรุ่น SL500 ที่ออกจำหน่ายในเดือนตุลาคมปี 2001 แล้วตามด้วยในเก๋งซีดานในรุ่น E-Class ในปี 2002
เบรกไฟฟ้าของเบนซ์เป็นระบบเบรกที่ใช้ควบคุมสั่งงานด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ในรถยนต์เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยมีระบบน้ำมันเป็นตัวช่วยในกรณีฉุกเฉินเมื่อระบบไฟฟ้ามีปัญหา เบนซ์ดูจะมั่นใจในคุณภาพและเทคโนโลยีที่โดดเด่นของตนเอง เพราะยอดขายของรถทั้งสองโมเดลนั้นเป็นไปอย่างยอดเยี่ยม แต่ Brake-By-Wire หรือ Sensotronic ของเบนซ์ก็มีปัญหาจนต้องถูกเรียกคืนเป็นจำนวนมากถึง 680,800 คัน
และในจำนวนนั้นเป็นยอดรถที่จำหน่ายในอเมริกา 140,000 คัน เบนซ์เรียกคืนเข้ามาปรับปรุงแก้ไข เพิ่มเติมหม้อลมเบรกแบบดั้งเดิมเข้าไป
ระบบเบรกไฟฟ้าของเบนซ์นั้นเป็นแบบที่ ไม่ต้องใช้หม้อลม ช่วยเบรกเหมือนกับระบบเบรกแบบน้ำมันทั่วไป เบนซ์จะมีอุปกรณ์ที่เรียกว่า ชุดควบคุมแรงดันน้ำมันเบรกที่ถูกควบคุมด้วยไฟฟ้าเข้ามาแทนที่หม้อลมเพิ่มแรงดันด้วยแรงกดแป้นเบรก ชุดควบคุมแรงดันของลมนี้จะเป็นถังลมที่ใช้ก๊าซไนโตรเจนที่ถูกสร้างให้มีแรงดันคงที่ (10 บาร์) ตลอดเวลา
เมื่อเหยียบเบรก ระบบไฟฟ้าจะเป็นตัวสั่งงานให้ชุดควบคุมแรงดันนี้ทำงานส่งน้ำมันเบรกแรงดันสูงไปตามระบบเพื่อให้รถหยุดตามที่ต้องการ แต่ในกรณีฉุกเฉินเมื่อชุดควบคุมแรงดันไม่ทำงานด้วยสาเหตุใดก็ตาม ระบบเบรกแบบปกติก็ยังทำงานได้อยู่เพียงแต่ว่าเมื่อไม่มีหม้อลมช่วยเพิ่มแรงดันคนขับต้องเพิ่มแรงเหยียบที่แป้นเบรกมากขึ้นและระยะหยุดรถจะเพิ่มยาวขึ้น และนั่นคืออันตรายสำหรับผู้ขับและผู้โดยสาร
ปัญหาการเรียกคืนรถจำนวน 680,000 คัน เพื่อแก้ไขปัญหาเบรกไฟฟ้านี้ เบนซ์เปิดเผยแต่เพียงว่า ปัญหานี้เจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิคของเบนซ์สามารถแก้ไขได้ในเวลาไม่เกินกว่าหนึ่งชั่วโมง เมื่อถูกถามว่าแก้ไขอย่างไร คำตอบก็คือก็แค่เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลในตัวควบคุม (reprogramming the control module with new software) เพียงเท่านั้น โดยไม่พูดถึงการใส่หม้อลมเบรกเข้าไปในระบบ
และปัญหาระบบเบรกไฟฟ้าก็ยังมีต่อเนื่องจนกลายมาเป็นข่าวใหญ่โตต่อเนื่องกันข้ามปีกับผลิตภัณฑ์ของโตโยต้า และโตโยต้าก็ให้คำตอบคล้ายกันกับที่เบนซ์ให้คำตอบ โดยไม่มีใครรู้เลยว่าสาเหตุที่แท้จริงนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร และอะไร การแก้ไขปัญหาทั้งหมดนั้นเป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างสิ้นเชิงหรือไม่ หรือเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้จบโดยที่สาเหตุที่แท้จริงนั้นไม่มีใคร (คนใช้รถรู้) และไม่มีใคร (ผู้ผลิต) ให้คำรับรองว่าปัญหาเบรกไม่อยู่จากที่ระบบเบรกไฟฟ้า นั้นจะเกิดขึ้นอีกมากน้อยเท่าไรและเมื่อใด รวมทั้งคำมั่นสัญญาของจีเอ็มในระบบ Brake override ที่จะถูกผลิตและติดตั้งให้แก่รถหลายรุ่นในอนาคตอันใกล้ นอกจากพูดแต่เพียงว่า ของฉันต้องดีกว่า
สุดท้ายแล้วคำตอบจึงมาอยู่ที่ผู้ใช้รถเอง ว่าระบบเบรกแบบใดของใครคือระบบเบรกที่ดีที่สุด โดยที่ต้องใช้ชีวิตและความปลอดภัยของผู้ขับเป็นตัวทดสอบนอกห้องทดสอบ ซึ่งก็ไม่ต่างจากหนูลองยาของผู้ผลิตสักเท่าใดนัก