
อคติ ๔
มีโยมที่เคารพนับถือกันได้ถวายคำแนะนำว่า..ขออย่าให้แสดงทัศนะใดๆ เกี่ยวกับการชุมนุมประท้วง เพราะเป็นเรื่องของการเมือง จะทำให้คนที่มีเวลาน้อยไม่เข้าใจ และจะทำให้ไม่ดำรงอยู่ในความยุติธรรม จะพลอยเสียศรัทธาไปเปล่าๆ... ซึ่งก็รับฟังด้วยดี และอนุโมทนาในความปรารถน
เรื่องความยุติธรรมนั้นจะต้องเกิดจากกระบวนทัศน์หลายประการคือ อตีตังสญาณ มีญาณระลึกถึงอดีตทั้งของตนและคนอื่น ในที่นี้คือมีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ทั้งภายในประเทศและประวัติศาสตร์โลก
ปัจจุบัน นังสญาณ มีญาณรู้ปัจจุบันคือ ได้ติดตามสถานการณ์ปัจจุบันอย่างละเอียด ลึกซึ้ง ถูกต้อง
อนาคตสญาณ มีญาณรู้อนาคตว่าจะเกิดสิ่งนั้นสิ่งนี้ต่อบุคคล บ้านเมือง โลก ก็คือการนำเอาประวัติศาสตร์ บวกเหตุการณ์ปัจจุบัน แล้วนำผลรวมมาพิจารณา เกิดเป็นพยากรณ์ และให้เป็น เอกังสพยากรณ์ ทำนายนิ้วเดียวแบบโกณฑัญญะทำนายมหาปุริสลักษณะของสิทธัตถะกุมาร อคติ ต้องมีใจปราศจากอคติ อันเป็นโมหจิต ถ้ามีอคติแล้วพูด เขียนก็จะเข้าลักษณะ ตาบอดคลำช้าง
คำว่า อคติ แปลว่า ฐานะอันไม่พึงถึง, ทางความประพฤติที่ผิด, ความไม่เที่ยงธรรม, ความลำเอียง ในทางพุทธศาสนามี ๔ ข้อ ที่เรียกว่า อคติ ๔ ประกอบด้วย
๑.ฉันทาคติ แปลว่า ลำเอียงเพราะรัก ๒.โทสาคติ แปลว่า ลำเอียงเพราะเกลียด ๓.โมหาคติ แปลว่า ลำเอียงเพราะเขลาหรือเพราะความโง่หลงงมงาย ไม่พิจารณาให้ถ่องแท้ว่า อย่างไรถูกอย่างไรผิด อย่างไรควรอย่างไรไม่ควร และ ๔.ภยาคติ แปลว่า ลำเอียงเพราะกลัวหรือเพราะเกรงใจ
การสำรวจกระบวนทัศน์ในตนเอง เพื่อนำเสนอความคิดเห็นต่อสังคม ผ่านสื่อต่างๆ นั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่ง และต้องตั้งอยู่ในจังหวะจะโคน ต้องดูตาม้าตาเรือ ซึ่งก็ได้แก่สัปปุริสธรรม สัมฤทธิผล จะเกิดขึ้นแก่สังคมอันก่อให้เกิดสติปัญญา อันเป็นสัมมาทิฏฐิ
แต่ถ้าปราศจากกระบวนทัศน์ และสัปปุริสธรรมความสูญเปล่าอันเป็นความล้มเหลวก็จะเกิดขึ้นแก่ตัวผู้แสดงวิสัยทัศน์ ถึงแม้จะพูด เขียนผ่านสื่อได้ทุกวัน ก็ไร้ประโยชน์
จึงขอยืนยันต่อผู้ปรารถนาดีทุกท่านว่า จะไม่ทำอย่างนั้นเด็ดขาด
"พระราชวิจิตรปฏิภาณ (เจ้าคุณพิพิธ)"