
ตามรอยพี่เหล็งฮู้...ไปซูฮก"งักฮุย"
"เหล็งฮู้ชง" เป็นประเอกหนัง(สือ)กำลังภายในที่ผมชอบมากที่สุด
ผมรู้จัก "เหล็งฮู้ชง" ตั้งแต่ยังใช้ชื่อหนังสือว่า"ผู้กล้าหาญคะนอง" ก่อนที่"กิมย้ง" จะนำมาเรียบเรียงใหม่และเมื่อแปลเป็นภาษาไทย ชื่อเรื่องก็กลายเป็น "กระบี่เย้ยยุทธจักร" และเมื่อถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์จอแก้วหรือจอเงิน ชื่อเรื่องก็จะถูกรู้จักในชื่อ "เดชคัมภีร์เทวดา"
"เหล็งฮู้ชง" เป็นศิษย์คนโตของ "งักปุกคุ้ง" เจ้าสำนักฮั้วซัว(หัวซาน) เจ้าของสมญานาม"กระบี่วิญญูชน" และภาพที่เท่าคนในบู๊ลิ้มรู้จักก็คืองักปักคุ้งเป็น "วิญญูชน" ก่อนจะกลายเป็น "วิญญูชนจอมปลอม" ในบั้นปลาย
ขณะที่เหล็งฮู้ชงคือคนเสเพลคบคนโดยไม่สนใจ "ประวัติ" หากแต่ใส่ใจใน"นิสัย" จนถูกขับออกจากพรรค!!!
"กิมย้ง" สร้างชื่อขึ้นมาจากหนังสือกำลังภายในเรื่อง"มังกรหยก"
ใน"กระบี่เย้ยยุทธจักร"กิมย้ง" ซึ่งมีชื่อจริงว่า "จาเหลียงหยง" ซึ่งเป็นชาวเมืองไห่หนิงมณฑลเจ๋อเจียง ทางภาคใต้ของจีน เขาได้เขียนไว้ในเรื่องนี้ตอนหนึ่งถึงความเป็น "วิญญูชนจอมปลอม" ของ "งักปุกคุ้ง" เมื่อครั้งนำศิษย์ประจำสำนักลงจากภูเขาหัวซาน เพื่อเดินทางไปยังบ้านของ "ลิ้มเพ้งจือ" ทายาทตระกูลใหญ่ที่มี"คัมภีร์วิชาบู๊" ที่เขาหมายครอบครองด้วยการยก"งักเล้งซัง" บุตรีให้เป็นคู่หมั้นลิ้มเพ้งจือ
การเดินทางไปครั้งนั้น...เหล็งฮู้ชงบาดเจ็บจากการถูกทำร้าย จึงร่วมทางในสภาพเหมือนคนพิการและเป็นหมาหัวเน่า
ขณะเดินทาง"งักปุกคุ้ง" เล่าให้ศิษย์ประจำสำนักฟังด้วยความภาคภูมิใจว่าเขาสืบเชื้อสายมาจาก "งักฮุย" จึงนำศิษย์ทั้งสำนักไปกราบไหว้ที่ฝังศพของงักฮุยซึ่งอยู่ริมทะเลสาบซีหู พร้อมคุยโวว่าคนตระกูลงักต้องเป็นแบบงักฮุย
เป็นเรื่อง"หยิ่งผยองมาก" ที่วิญญูชนจอมปลอมหาญกล้านำตัวเองไปเป็นคนสืบตระกูลมาจาก "งักฮุย" ทั้งที่มีเพียงอย่างเดียวที่คนทั้งสองเหมือนกันนั่นคือแซ่งัก...ขณะที่"นิสัย" ต่างกันราวฟ้ากันดิน
งักฮุยเป็นใคร...ผมจึงเขียนว่างักปุกคุ้งไม่คู่ควรกับการแอบอ้างนั้น!!!
คำตอบก็คือ"งักฮุย"เป็นวีรบุรุษผู้รักชาติผู้กอบกู้ราชวงศ์ซ่งที่ล่มสลาย และครองใจทั้งชาวบ้านและทหารในกองทัพ เพราะข้อปฏิบัติของเขาก็คือ "แม้ต้องหนาวตายก็ห้ามเบียดเบียนบ้านชาวบ้านแม้ต้องอดตายก็จะไม่ปฏิบัติตัวเยี่ยงโจร" และเคยลงโทษททหารที่ไปนำเชือกปอจากชาวบ้านมามัดท่อนฟืนและกองทัพของงักฮุยครองใจชาวบ้านเพราะถือมั่นในคำสั่งว่าให้ยืดแนวทาง "ซื่อสัตย์" และ "ซื่อตรง"
ก่อนจะออกจากบ้านไปรับใช้ชาติมารดาของงักฮุยได้สลักอักษรจีน 4 ตัวไว้ที่กลางแผ่นหลังของบุตรชายนั่นคือ "จิ้นจงเป้ากั๋ว" หรือ "รู้รักภักดีพลีชีพเพื่อชาติ" น่าเสียดายที่งักฮุยต้องมาจบชีวิตเพราะฮ่องเต้ไม่เอาไหนที่เชื่อคำกล่าวหาของ "เฉินฮุ่ย" ขุนนางกังฉินที่ใส่ร้ายจนถูกฮ่องเต้สั่งประหารชีวิตแต่สุดท้าย ชาวบ้านก็ได้นำศพของงักฮุยไปฝังไว้ที่ริมทะเลสาบซีหู เมืองหังโจว
ส่วน2 ผัวเมียตระกูลฉิน...บั้นปลายก็คือการถูกสาบแช่งโดยนำแป้งสองชิ้นมาบีบติดกันแล้วทอดรับประทานเพื่อระบายความแค้นโดยเปรียบเอาว่าแป้งชิ้นหนึ่งคือฉินฮุ่ย ส่วนอีกชิ้นหนึ่งก็คือ ภรรยาแซ่หวัง และแป้งที่ว่านั้นก็เป็นที่รู้จักกันทั่วเอเชียในชื่อ "ปาท่องโก๋" หรือ"อิ้วจาก๊วย"
ในศาลเจ้างักฮุยก็มีรูปปั้น 2 คนผัวเมียไว้ให้นักท่องเที่ยวถ่มน้ำลายใส่
ส่วนที่ศาลเจ้างักฮุยริมทะเลสาบซีหูบนรูปปั้นสูงตระหง่านของงักฮุย จะเห็นลายมือของงักฮุยตวัดพู่กันอย่างมีพลังเป็นตัวอักษร 4 ตัวแปลเป็นภาษาไทยว่า "เอาแผ่นดินของข้าคืนมา"
ผมไปหังโจว...ตามรอบเหล็งอู้ชงย่อมไม่พลาดที่จะคารวะงักฮุย
คารวะด้วยความนับถือที่ท่านยอมรับการลงโทษจากฮ่องเต้ทั้งที่ตัวเองไม่ผิดแต่ก็ไม่ขัดขืนเพื่อให้ฮ่องเต้เป็นที่เคารพของราษฎรต่อไป โดยงักฮุยเสียชีวิตในวัยหนุ่มและได้แต่รำพันเมื่อถูกฮ่องเต้ที่หลงคำพูดของฉินฮุ่ย ด้วยการออกคำสั่งให้งักฮุยยกทัพกลับทั้งที่เหลือเพียง 20 กิโลเมตรก็จะยึดเมืองหลวงคืนโดยงักฮุยถอนใจพร้อมรำพันกับตัวเองและเหล่าทหารข้างกายว่า "ความพากเพียร10 ปีต้องกลายเป็นเพียงเถ้าธุลีในพริบตา"
ยังดีที่วันนี้งักฮุยได้รับการกราบไหว้บูชาจากคนจีนทั่วโลกที่ไปหังโจว
ผมเชื่อว่าหลายคนคงคุ้นชื่อ "งักฮุย" และอาจจะเคยได้ยินเรื่องราวของวีรบุรุษท่านนี้รวมทั้งหลายคนคงเคยไปเที่ยวหังโจวและเมื่อไปที่นั่นก็คงมีโอกาสเข้าไปคารวะและซูฮกน้ำใจของท่านเหมือนผม ส่วนจะมีกี่คนที่ถ่มน้ำลายใส่ 2 ผัวเมียแซ่ฉินหรือไม่นั้นผมไม่ทราบแต่ผมไม่ได้ถ่มน้ำลายใส่ เพราะคนทั้งสองไม่มีค่าพอที่ผมจะต้องเสียน้ำลาย
ผมเชื่อว่าใครก็ตามที่ได้รับรู้เรื่องราวและเห็นภาพภายในศาลเจ้าทั้งภาพการต้อนรับทหารจากชาวบ้าน หรือภาพที่มารดางักฮุยสลักคำสอนกลางหลังบุตรชาย จะรู้สึกเหมือนกันว่า "คนรักชาติ" จะได้รับการคารวะไม่ว่าจะอยู่หรือตาย ขณะที่คนทรยศแผ่นดิน ก็จะถูกถ่มน้ำลายใส่...แม้จะตายไปแล้ว..
"รู้รักภักดีพลีชีพเพื่อชาติ" และ"เอาแผ่นดินของข้าคืนมา" ผมไม่รู้คนไทยวันนี้นึกถึงมากแค่ไหน